แขวะหลายพรรคเคยตอบรับ แต่ตอนนี้กลับหายเงียบ ไม่ผลักดันต่อ แนะ 4 เสาหลักสร้างสวัสดิการสูงวัยยั่งยืน ขณะที่ กมธ.สวัสดิการสังคม ชี้ ควรแก้ระเบียบงบฯ กลาง ปฏิรูปภาษี ลดความซ้ำซ้อนสวัสดิการ
วันนี้ (9 เม.ย.67) คณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร จัดสัมมนาเรื่อง ”สวัสดิการผู้สูงอายุสู่อนาคตที่ยั่งยืน” ณ อาคารโรงพยาบาลและศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ชี้ว่า ไทยเป็นประเทศที่ติดอับดับต้น ๆ ที่ชาวต่างชาติอยากมาพักผ่อนหลังเกษียณ แต่คนไทยเองกลับไม่มีโอกาสทำแบบนั้นได้ เพราะไม่มีเงินออม เนื่องจากโครงสร้างของประเทศไม่เอื้ออำนวย การดูแลประชาชนจึงต้องทำทุกช่วงวัย และรัฐควรลงทุนกับคนให้มากกว่านี้ ไม่ใช่ลงทุนแต่กับตึก สนามบิน หรือสิ่งก่อสร้าง ในขณะที่รัฐสวัสดิการผู้สูงอายุ ไม่ได้หมายถึงผู้สูงวัยเท่านั้น แต่แปลว่าสวัสดิการของทุกคน เพราะเงินที่ให้ผู้สูงอายุ จะช่วยลดภาระคนวัยทำงาน พร้อมแนะว่า จะดูแลผู้สูงอายุในประเทศได้ ต้องมี 4 เสาหลัก ได้แก่
- เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 3,000 บาท ซึ่งเพียงพอกับค่าใช้จ่ายปัจจุบัน
- มีศูนย์ชราบาลทั่วประเทศ ให้ผู้สูงอายุมาอยู่อาศัย ทำงาน และเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วทั่วโลก
- มี Universal Design หรือ การออกแบบเมืองสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเด็ก ชรา ป่วย หรือพิการ ต้องสามารรถเดินทางในเมืองได้ด้วยตัวคนเดียว และนี่จะเป็นโอกาสกระตุ้นเศรษฐกิจให้ประทศด้วย
- รัฐและเอกชนต้องให้โอกาส และมีการจ้างงานผู้สูงอายุ
เสาหลักเหล่านี้ เปรียบเสมือนขาเก้าอี้ ตอนนี้เรากำลังผลักดันให้มีเก้าอี้ขาแรกแล้ว คือ เบี้ยผู้สูงอายุ ซึ่งเปรียบเสมือนการติดกระดุมเม็ดแรก แต่จะมั่นคงได้ ต้องมีครบทั้ง 4 ขา หากทำได้ สวัสดิการผู้สูงอายุ จะยั่งยืนในอนาคตแน่นอน พร้อมย้ำว่า เบี้ยผู้สูงอายุ 3,000 บาทถ้วนหน้า สามารถเป็นไปได้จริง
“ปัจจุบันเบี้ยผู้สูงอายุ ไม่ควรอยู่ที่ 600 บาท/เดือน หรือ 20 บาทต่อวัน หรือกินไข่ต้มวันละมื้อ ก่อนหน้านี้ทุกพรรคการเมืองเห็นด้วยกันหมดว่าเบี้ยผู้สูงอายุควรอยู่ที่ 3,000 บาท แต่วันนี้แทบจะไม่เห็นว่ารัฐบาลหรือพรรคการเมืองจะพูดเรื่องนี้ต่อ เห็นเพียงแค่คณะกรรมาธิการฯ สภาผู้แทนราษฎร ที่เคลื่อนไหวเพื่อผู้สูงอายุ”
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า สวัสดิการผู้สูงอายุในไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลงมา 13 ปีแล้ว ปัจจุบันการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นแบบขั้นบันได คือ อายุ 60-69 ปี ได้เบี้ยยังชีพ 600 บาท/เดือน อายุ 70-79 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพ 700 บาท/เดือน อายุ 80-89 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพ 900 บาท/เดือน และผู้อายุ 90 ปี ขึ้นไป ได้รับเบี้ยยังชีพ 1,000 บาท/ เดือน ซึ่งไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน
และเมื่อพิจารณาตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้วพบว่า ระบบคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุไม่ได้เป็นภาระงบประมาณ แต่เป็นการลงทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยงสังคมจากวิกฤตความยากจนของผู้สูงวัย และกระตุ้นรายจ่ายครัวเรือนด้วย ฉะนั้น คณะกรรมการจึงพิจารณาการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุใหม่ คือ
- ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จ่ายบำนาญผู้สูงอายุ จำนวน 1,000 บาท
- ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 จ่ายบำนาญผู้สูงอายุ จำนวน 2,000 บาท
- ปีงบประมาณ พ.ศ. 2570 จ่ายบำนาญผู้สูงอายุ จำนวน 3,000 บาท
วรรณวิภา ไม้สน รองประธานคณะกรรมาธิการฯ คนที่สอง มีข้อสังเกตว่า ในระยะสั้น ควรมีการแก้ไขระเบียบการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบฯ กลาง เนื่องจากมีความซ้ำซ้อน ซึ่งรายได้ส่วนนี้จะนำมาจัดสรรเป็นงบฯ บำนาญพื้นฐานได้ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ในระยะกลาง ควรพิจารณาเรื่องสวัสดิการผู้สูงอายุที่มีความซ้ำซ้อนอยู่เพื่อที่จะใช้งบประมาณในการให้บำนาญอย่างเต็มประสิทธิภาพ และส่งเสริมการออมจากภาษีของประชาชนซึ่งเป็นสิ่งที่ในต่างประเทศมีมานานแล้ว และในระยะยาว ต้องมีการปฏิรูปภาษี รัฐต้องคิดเรื่องการหางบประมาณมาใช้เป็นบำนาญพื้นฐานอย่างจริงจัง และอาจมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่ กอบกุล กวั่งซ้วน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เห็นด้วยว่า ผู้สูงอายุควรมีรายได้เพิ่ม พร้อมระบุว่า ตอนนี้ทาง พม. กำลังรวบรวมข้อมูลว่า ผู้สูงอายุในไทยได้รับสวัสดิการอะไรบ้างอยู่ทั้งที่เป็นตัวเงินและสิทธิต่าง ๆ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การลดราคาค่าโดยสารสาธารณะ ฯลฯ เพราะมีหลายรูปแบบและซ้ำซ้อนอยู่มาก สิ่งที่คิดว่าเร่งด่วนที่สุด คือการเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนโดยไม่ต้องรอให้ถึงวัยเกษียณ โดยเฉพาะเรื่องทางการเงินและเรื่องสุขภาพ