สสรท. ส่ง 7 ผู้ประกันตน ลงสมัครรับเลือกตั้ง บอร์ดประกันสังคม

ชูยกระดับสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนเท่าเทียมกันทุกมาตรา อุ้มกลุ่มแรงงานนอกระบบ เสนอค่าชดเชยแรงงานหญิงหลังคลอด 3 เดือน ผุด ‘ธนาคารแรงงาน’ ปล่อยเงินกู้ผู้ประกันตนดอกเบี้ยต่ำ เล็งคำนวณจ่ายเงินสมทบใหม่ ทบทวนแผนลงทุนฯ

วันนี้ (25​ ต.​ค.​ 2566)​ ที่กระทรวงแรงงาน กลุ่มสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย(สสรท.) ส่งสมาชิกในเครือข่ายเข้าร่วมสมัครรับเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการประกันสังคม จำนวน 7 คนในฝั่งของผู้ประกันตน โดย สาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า​ เป็นครั้งแรกที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจะได้เลือก บอร์ดประกันสังคม ทั้งนี้ พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 มาตรา 8 ให้มีคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) จากฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตน ฝ่ายละ 7 คน มาจากการเลือกตั้ง 

แต่ที่ผ่านมา มีคำสั่ง คสช. ให้คณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษาที่แต่งตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2558 อยู่ในตำแหน่งไปก่อน ระหว่างการร่างระเบียบหลักเกณฑ์การเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ ยังไม่เคยได้ใช้จริง แต่วันที่ 24 ธ.ค.นี้ จะเป็นครั้งแรกที่ผู้ประกันตนและนายจ้าง จะมีสิทธิเลือกผู้แทน เข้าเป็นบอร์ดประกันสังคม ซึ่งก่อนใช้สิทธิต้องมีการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคมก่อน และการลงทะเบียนจะสิ้นสุดในเดือน ต.ค.นี้ แล้ว 

สาวิทย์ บอกว่า การที่เครือข่ายส่งตัวแทนฝั่งผู้ประกันตนเข้ารับการเลือกตั้งเป็นบอร์ดประกันสังคมครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อยกระดับสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนทั้งมาตรา 33, 39 และ 40 ให้เท่ากัน โดยเฉพาะ แรงงานนอกระบบ ซึ่งมีแนวโน้มมากขึ้น แต่มักถูกมองว่าไม่มีนายจ้างคุ้มครอง ทำให้ที่ผ่านมาขาดสิทธิประโยนช์ที่ด้อยกว่า นอกจากนี้ยังคาดหวัง ว่าการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมที่จะมีตัวแทนจากผู้ประกันตนเข้าไปจะช่วยยกเครื่องคำนวนเงินสมทบใหม่ ดูแลการชดเชยการว่างงาน และสวัสดิการด้านสุขภาพ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าด้อยกว่า บัตรทอง รักษาได้ทุกโรค แต่ฝั่งลูกประกันสังคมรักษาไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบเอง และอยากให้ผู้ประกันตนสามารถไปใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้ทุกโรงพยาบาล เช่นกัน

ยกระดับสิทธิประโยชน์แรงงานนอกระบบ 

ด้าน สุนทรี เซ่งกิ่ง กรรมการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ​ ในฐานะแรงงานนอกระบบ และเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นบอร์ดผู้ประกันตนหมายเลข 10 กล่าวว่า ต้องการให้สิทธิประโยชน์ของทุกมาตรา เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยเฉพาะ มาตรา 40 เป็นข้อเสนอขององค์กรแรงงานนอกระบบตลอดมา คือการคุ้มครองหญิงแรงงานนอกระบบหลังคลอด ระหว่างที่ให้นมลูกจะทำอย่างไรไม่ต้องให้ต้องรีบกลับไปทำงาน  จึงควรได้รับค่าชดเชยไม่ต้องทำงาน อย่างน้อย 3 เดือน แต่ยังมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ 

อีกเรื่องที่สำคัญก็คือการประกันการว่างงานสำหรับแรงงานนอกระบบโดยเห็นจุดอ่อนจากการระบาดของโควิด-19 ว่าแรงงานนอกระบบกระทบอย่างมาก เราไม่ได้อยากได้เงินเยียวยา 5,000 บาท แต่อยากให้พัฒนาสิทธิประโยชน์การว่างาน ซึ่งเรายอมรับว่านี่อาจต้องมีการคำนวณตัวเลขเงินสมทบใหม่ 

สุนทรี กล่าวอีกว่า อีกกลุ่มหนึ่งถึงแม้ว่าเราจะเรียกเขาว่าแรงงานนอกระบบ แต่เขามีนายจ้างนั้นคือลูกจ้างทำงานบ้าน ก็ควรจะได้สิทธิตามประกันสังคมมาตรา 33 ดังนั้นทั้งมาตรา 33 39 และ 40 จะต้องทบทวนสิทธิประโยชน์ รวมถึงมาตรฐานการดูแลสุขภาพจากภาครัฐที่เป็นมาตรฐานเดียว หากผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ ก็ควรจะได้สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นแต่พื้นฐานต้องเท่าเทียมกันและมีคุณภาพ 

“อีกเรื่องสำคัญ เวลาที่เราบอกว่าอยากจะปฏิรูปประกันสังคมให้เป็นอิสระมีประสิทธิภาพโปร่งใสและตรวจสอบได้ การดูเรื่องเงินในกองทุน อยากจะให้เปิดเผย และมีตัดสินใจที่มาจากผู้ประกันตน ว่าประกันสังคมจะนำเงินของเราไปลงทุนตรงไหน และต้องมีการรายงานว่าผลการประกอบการเป็นอย่างไร เพราะที่ผ่านมาเงินกองทุนประกันสังคม ไปลงทุนและมีการขาดทุนอย่างมาก สาเหตุสำคัญเพราะบอร์ดยังไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง” 

สุนทรี กล่าว 

ธนาคารแรงงาน ปล่อยเงินกู้ผู้ประกันตน ดอกเบี้ยเป็นธรรม  

ด้าน อรอนงค์ นิธิภาคย์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร​ สถาบันเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ​ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นบอร์ดผู้ประกันตนหมายเลข 23 กล่าวว่า การลงทุนของกองทุนประกันสังคมส่วนใหญ่ จะเป็นทางอ้อมคือไปซื้อหุ้นกู้ ซึ่งต้องทำผ่านธุรกิจเป็นหลัก แต่ถ้าตนได้เข้าไปเป็นบอร์ดประกันสังคม จะเลือกการลงทุนทางตรงกับผู้ประกันตน โดยเฉพาะเรื่องของธนาคารแรงงาน เพื่อให้ผู้ประกันตน สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้โดยตรง

“เงินกองทุนประกันสังคมนี้มาจากผู้ประกันตน แต่ทุกวันนี้การลงทุนต้องไปดำเนินทางธุรกิด ถึงจะได้ดอกผล แต่ถ้าเราสามารถเอาเงินของผู้ประกันตน ซึ่งเป็นเจ้าของเงินเองไปสร้างการลงทุนให้กับผู้ประกันตนโดยตรงเหมือนอย่างหลายประเทศจะเป็นประโยชน์กว่า”​ 

อรอนงค์ กล่าว

อรอนงค์​ กล่าวอีกว่า ปกติประกันสังคมจะมีเงินสดเก็บไว้อยู่แล้ว แต่ละปีผู้ประกันตนก็สมทบเงินมาอีก ตอนนี้ก็มีอยู่กว่า 2 ล้านล้านบาท เราน่าจะกันเงินจำนวน 3 หมื่นล้านบาท ไปฝากที่ธนาคารออมสิน และกำหนดเงื่อนไขธนาคารออมสินปล่อยกู้โดยตรงให้กับผู้ประกันตน เพื่อให้ผู้ประกันตนสามารถที่จะปลดหนี้นอกระบบ ทุกวันนี้หนี้ครัวเรือน เป็น 90% ต่อจีดีพี อันนี้ยังไม่รวมรวมหนี้นอกระบบถ้าเราแปลงหนี้นอกระบบเป็นหนี้ในระบบ โดยเงินของผู้ประกันตนเอง มันก็จะลดภาระของผู้ประกันตนไปมาก

ที่ผ่านมาผู้ประกันตนไปกู้สินเชื่อฟิกโก้นาโนไฟแนนซ์ จำนำโฉนด จำนำรถ กับบริษัทเงินกู้ซึ่งคิดดอกเบี้ยมากถึง 30% ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ต้องจ่ายดอกจำนวนมาก แต่หากผู้ประกันตนสามารถกู้เงินของผู้ประกันตนที่จ่ายสมทบได้เอง ในดอกเบี้ยที่เป็นธรรมน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active