ชูยกระดับสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนเท่าเทียมกันทุกมาตรา อุ้มกลุ่มแรงงานนอกระบบ เสนอค่าชดเชยแรงงานหญิงหลังคลอด 3 เดือน ผุด ‘ธนาคารแรงงาน’ ปล่อยเงินกู้ผู้ประกันตนดอกเบี้ยต่ำ เล็งคำนวณจ่ายเงินสมทบใหม่ ทบทวนแผนลงทุนฯ
วันนี้ (25 ต.ค. 2566) ที่กระทรวงแรงงาน กลุ่มสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย(สสรท.) ส่งสมาชิกในเครือข่ายเข้าร่วมสมัครรับเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการประกันสังคม จำนวน 7 คนในฝั่งของผู้ประกันตน โดย สาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจะได้เลือก บอร์ดประกันสังคม ทั้งนี้ พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 มาตรา 8 ให้มีคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) จากฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตน ฝ่ายละ 7 คน มาจากการเลือกตั้ง
แต่ที่ผ่านมา มีคำสั่ง คสช. ให้คณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษาที่แต่งตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2558 อยู่ในตำแหน่งไปก่อน ระหว่างการร่างระเบียบหลักเกณฑ์การเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ ยังไม่เคยได้ใช้จริง แต่วันที่ 24 ธ.ค.นี้ จะเป็นครั้งแรกที่ผู้ประกันตนและนายจ้าง จะมีสิทธิเลือกผู้แทน เข้าเป็นบอร์ดประกันสังคม ซึ่งก่อนใช้สิทธิต้องมีการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคมก่อน และการลงทะเบียนจะสิ้นสุดในเดือน ต.ค.นี้ แล้ว
สาวิทย์ บอกว่า การที่เครือข่ายส่งตัวแทนฝั่งผู้ประกันตนเข้ารับการเลือกตั้งเป็นบอร์ดประกันสังคมครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อยกระดับสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนทั้งมาตรา 33, 39 และ 40 ให้เท่ากัน โดยเฉพาะ แรงงานนอกระบบ ซึ่งมีแนวโน้มมากขึ้น แต่มักถูกมองว่าไม่มีนายจ้างคุ้มครอง ทำให้ที่ผ่านมาขาดสิทธิประโยนช์ที่ด้อยกว่า นอกจากนี้ยังคาดหวัง ว่าการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมที่จะมีตัวแทนจากผู้ประกันตนเข้าไปจะช่วยยกเครื่องคำนวนเงินสมทบใหม่ ดูแลการชดเชยการว่างงาน และสวัสดิการด้านสุขภาพ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าด้อยกว่า บัตรทอง รักษาได้ทุกโรค แต่ฝั่งลูกประกันสังคมรักษาไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบเอง และอยากให้ผู้ประกันตนสามารถไปใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้ทุกโรงพยาบาล เช่นกัน
ยกระดับสิทธิประโยชน์แรงงานนอกระบบ
ด้าน สุนทรี เซ่งกิ่ง กรรมการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ในฐานะแรงงานนอกระบบ และเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นบอร์ดผู้ประกันตนหมายเลข 10 กล่าวว่า ต้องการให้สิทธิประโยชน์ของทุกมาตรา เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยเฉพาะ มาตรา 40 เป็นข้อเสนอขององค์กรแรงงานนอกระบบตลอดมา คือการคุ้มครองหญิงแรงงานนอกระบบหลังคลอด ระหว่างที่ให้นมลูกจะทำอย่างไรไม่ต้องให้ต้องรีบกลับไปทำงาน จึงควรได้รับค่าชดเชยไม่ต้องทำงาน อย่างน้อย 3 เดือน แต่ยังมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ
อีกเรื่องที่สำคัญก็คือการประกันการว่างงานสำหรับแรงงานนอกระบบโดยเห็นจุดอ่อนจากการระบาดของโควิด-19 ว่าแรงงานนอกระบบกระทบอย่างมาก เราไม่ได้อยากได้เงินเยียวยา 5,000 บาท แต่อยากให้พัฒนาสิทธิประโยชน์การว่างาน ซึ่งเรายอมรับว่านี่อาจต้องมีการคำนวณตัวเลขเงินสมทบใหม่
สุนทรี กล่าวอีกว่า อีกกลุ่มหนึ่งถึงแม้ว่าเราจะเรียกเขาว่าแรงงานนอกระบบ แต่เขามีนายจ้างนั้นคือลูกจ้างทำงานบ้าน ก็ควรจะได้สิทธิตามประกันสังคมมาตรา 33 ดังนั้นทั้งมาตรา 33 39 และ 40 จะต้องทบทวนสิทธิประโยชน์ รวมถึงมาตรฐานการดูแลสุขภาพจากภาครัฐที่เป็นมาตรฐานเดียว หากผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ ก็ควรจะได้สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นแต่พื้นฐานต้องเท่าเทียมกันและมีคุณภาพ
“อีกเรื่องสำคัญ เวลาที่เราบอกว่าอยากจะปฏิรูปประกันสังคมให้เป็นอิสระมีประสิทธิภาพโปร่งใสและตรวจสอบได้ การดูเรื่องเงินในกองทุน อยากจะให้เปิดเผย และมีตัดสินใจที่มาจากผู้ประกันตน ว่าประกันสังคมจะนำเงินของเราไปลงทุนตรงไหน และต้องมีการรายงานว่าผลการประกอบการเป็นอย่างไร เพราะที่ผ่านมาเงินกองทุนประกันสังคม ไปลงทุนและมีการขาดทุนอย่างมาก สาเหตุสำคัญเพราะบอร์ดยังไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง”
สุนทรี กล่าว
ธนาคารแรงงาน ปล่อยเงินกู้ผู้ประกันตน ดอกเบี้ยเป็นธรรม
ด้าน อรอนงค์ นิธิภาคย์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร สถาบันเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นบอร์ดผู้ประกันตนหมายเลข 23 กล่าวว่า การลงทุนของกองทุนประกันสังคมส่วนใหญ่ จะเป็นทางอ้อมคือไปซื้อหุ้นกู้ ซึ่งต้องทำผ่านธุรกิจเป็นหลัก แต่ถ้าตนได้เข้าไปเป็นบอร์ดประกันสังคม จะเลือกการลงทุนทางตรงกับผู้ประกันตน โดยเฉพาะเรื่องของธนาคารแรงงาน เพื่อให้ผู้ประกันตน สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้โดยตรง
“เงินกองทุนประกันสังคมนี้มาจากผู้ประกันตน แต่ทุกวันนี้การลงทุนต้องไปดำเนินทางธุรกิด ถึงจะได้ดอกผล แต่ถ้าเราสามารถเอาเงินของผู้ประกันตน ซึ่งเป็นเจ้าของเงินเองไปสร้างการลงทุนให้กับผู้ประกันตนโดยตรงเหมือนอย่างหลายประเทศจะเป็นประโยชน์กว่า”
อรอนงค์ กล่าว
อรอนงค์ กล่าวอีกว่า ปกติประกันสังคมจะมีเงินสดเก็บไว้อยู่แล้ว แต่ละปีผู้ประกันตนก็สมทบเงินมาอีก ตอนนี้ก็มีอยู่กว่า 2 ล้านล้านบาท เราน่าจะกันเงินจำนวน 3 หมื่นล้านบาท ไปฝากที่ธนาคารออมสิน และกำหนดเงื่อนไขธนาคารออมสินปล่อยกู้โดยตรงให้กับผู้ประกันตน เพื่อให้ผู้ประกันตนสามารถที่จะปลดหนี้นอกระบบ ทุกวันนี้หนี้ครัวเรือน เป็น 90% ต่อจีดีพี อันนี้ยังไม่รวมรวมหนี้นอกระบบถ้าเราแปลงหนี้นอกระบบเป็นหนี้ในระบบ โดยเงินของผู้ประกันตนเอง มันก็จะลดภาระของผู้ประกันตนไปมาก
ที่ผ่านมาผู้ประกันตนไปกู้สินเชื่อฟิกโก้นาโนไฟแนนซ์ จำนำโฉนด จำนำรถ กับบริษัทเงินกู้ซึ่งคิดดอกเบี้ยมากถึง 30% ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ต้องจ่ายดอกจำนวนมาก แต่หากผู้ประกันตนสามารถกู้เงินของผู้ประกันตนที่จ่ายสมทบได้เอง ในดอกเบี้ยที่เป็นธรรมน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า