“หมอประเวศ” แนะ แจกงานดีกว่าแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท

เครือข่ายภาคประชาชน นักวิชาการ สภาผู้บริโภค เสนอรัฐแปลงเงินดิจิทัลวอลเล็ต เป็นสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้า – เงินบำนาญผู้สูงอายุ เพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชน แก้ความจนได้จริง

วันนี้ (23 ต.ค. 2566) หลังจากรัฐบาลเศรษฐาได้ประกาศใช้งบประมาณมากถึง 560,000 ล้านบาท เดินหน้านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตแจกเงินจำนวน 10,000 บาทให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ นั้น

ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เขียนบทความ ให้ข้อคิดรัฐบาล หัวข้อ “แจกงานดีกว่าแจกเงิน สร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่คือจุดคานงัดประเทศไทย” โดยระบุดังนี้ 

นักเศรษฐศาสตร์ค้านกันตรึม ในนโยบายแจกเงินคนละ 10,000 บาท เป็นเงิน 5 แสนกว่าล้านบาท กลัวคนไทยจะเป็นหนี้หัวโต แต่แก้ปัญหาประเทศไม่ได้จริง ที่แก้ปัญหาได้จริง คือ สร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่

เมื่อทุกคนมีงานทำ มีรายได้ หลุดหนี้ มีเงินออม ก็หายจน อยู่ดีมีสุข มีอำนาจซื้อมากเศรษฐกิจมหภาคก็จะเติบโตและมั่นคง เพราะอยู่บนฐานที่แข็งแรงของเราเองไม่ใช่พึ่งตลาดโลกเป็นหลักซึ่งพลิกผันและวิกฤตง่าย รัฐบาลก็จะเก็บภาษีได้มาก โภคทรัพย์จากเต็มท้องพระคลัง

การสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ก็ไม่ยากถ้าเป็นนโยบายของรัฐบาล โดยระดมกำลังของทุกฝ่ายระดมเทคนิคและวิธีการทั้งหมดที่จะสร้างงาน ระดมการจัดการทั้งหมด

นายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้นำทิศทางนโยบาย ให้ทุกองคาพยพของประเทศมีความมุ่งมั่นร่วมกัน คนไทยไม่เคยมีความมุ่งมั่นร่วมกันไปคนละทิศคนละทาง ประเทศจึงติดอยู่ในวิกฤตการณ์เรื้อรัง เมื่อใดคนไทยมีความมุ่งมั่นร่วมกัน จะเกิดพลังประดุจแสงเลเซอร์ทะลุทะลวงอุปสรรคไปสู่ความสำเร็จ

นายกรัฐมนตรีจึงไม่ควรบริหารจิปาถะ ซึ่งจะหมดแรงและไม่สำเร็จ แต่ต้องมีวิสัยทัศน์ว่าอะไรเป็นจุดคานงัดประเทศไทย และเป็นผู้นำที่สื่อสารให้คนไทยทั้งประเทศมีความมุ่งมั่นร่วมกันที่จุดคานงัดนั้น จุดคานงัดประเทศไทย คือ การสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ หายจนถ้วนหน้า ลดความเหลื่อมล้ำ ทุกคนมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น รวมทั้งรัฐบาลด้วยไม่มีความเสี่ยงต่อการเป็นหนี้หัวโตและความล้มเหลวเหมือนการแจกเงินแจกงานดีกว่าแจกเงิน

ภาค ปชช. จี้รัฐเปลี่ยนเงินดิจิทัลวอลเล็ต เป็นสวัสดิการเด็กและผู้สูงอายุ

ขณะที่เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา สภาผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีสาธารณะ “การบ้านรัฐสวัสดิการในรัฐบาลเศรษฐา”  

รศ.ชัยรัตน์ เอี่ยมกุลวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าแนวคิดเรื่องสวัสดิการของรัฐบาลชุดปัจจุบัน หรือแม้กระทั่งสมัยที่เป็นรัฐบาลไทยรักไทยไม่เคยมีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องรัฐสวัสดิการ ทั้งเรื่องการให้สวัสดิการผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้า การสนับสนุนเงินให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปีที่ยากจนและต้องการเงินช่วยเหลือจากรัฐ ทั้งที่จัดสรรเงินการช่วยเหลือเด็กและผู้สูงอายุเป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากคนกลุ่มดังกล่าวถือเป็นกลุ่มเปราะบางหรือค่อนข้างที่จะมีรายได้ต่ำซึ่งต้องการความช่วยเหลือจากรัฐ

ควรพิจารณาปรับการใช้งบประมาณ 560,000 ล้านบาท นำไปแจกให้กับเด็กและผู้สูงอายุ เพราะกลุ่มผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปีมีรายได้และการออมกว่าต่ำค่าเฉลี่ยของคนในประเทศ ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณ 450,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 1 ปี และคาดว่าเศรษฐกิจจะมีการเติบโตมากกว่าการแจก 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเลต

ด้าน นิติรัฐ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการเครือข่าย We Fair กล่าวว่า ดิจิทัลวอลเลตมักถูกเชื่อมโยงกับแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่เจตจำนงค์ของดิจิทัลวอลเลตนั้นไม่ใช่การแก้ความเหลื่อมล้ำ แต่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเท่านั้น เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำไปได้บ้าง แต่ก็ไม่มากเท่านโยบายที่จะมุ่งเน้นการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างแท้จริง

การให้บำนาญผู้สูงอายุ 3,000 บาท ใช้งบประมาณอย่างมาก 300,000 – 400,000 ล้านบาทต่อปี และจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทุกเดือน เดือนละประมาณ 30,000 ล้านบาททันที นอกจากนี้ยังส่งผลให้แรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นลูกหลานซึ่งต้องดูแลผู้สูงอายุไม่ต้องทำงานล่วงเวลา หากสมมติว่าได้ค่าแรงชั่วโมงละ 100 บาท จะมีเวลาอยู่กับบุตรหลาน หรือคนในครอบครัวมากขึ้นอย่างน้อย 30 ชั่วโมง นี่คือการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างแท้จริง

ถ้ามีเงิน 560,000 ล้านบาทตั้งเป็นหลัก เราจะได้สวัสดิการถ้วนหน้า 3 อย่างทันทีได้แก่1. เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุประมาณ 11 ล้านคน 2. เงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้า 4.2 ล้านคน 3. สวัสดิการเงินอุดหนุนผู้พิการ และเมื่อมีการเกิด เด็กที่เกิดมาจะได้ 3,000 บาทถ้วนหน้าตอนนี้อัตราการเกิดของคนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 500,000 คน ซึ่งต่ำกว่าอัตราการตายของประชากร เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับสามกลุ่มประชากรนี้อย่างถ้วนหน้าทันทีด้วยงบประมาณ 560,000 ล้านบาท ซึ่งนิติรัฐชี้ว่า ในระยะเริ่มต้นอาจจะปรับเป็นการจ่ายถ้วนหน้าในปีแรก 1,000 บาทต่อเดือนในทุกกลุ่ม ซึ่งจะทำให้รัฐมีเงินเหลืออีก 12,000 ล้าน ซึ่งอาจนำไปเพิ่มในส่วนงบประมาณรายหัวให้กับผู้รับสิทธิบัตรทองได้ด้วย

ส่วน เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward พรรคก้าวไกล กล่าวว่าประเด็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ควรต้องหารือกับรัฐบาล เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีนี้อาจจะดูเหมือนว่าทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจดีขึ้นจริง แต่ในความเป็นจริงวิธีการใช้เงินของประชาชนหากได้เงิน 10,000 บาทที่ต้องใช้ให้หมดภายในหกเดือน เมื่อเทียบกับการที่ผู้สูงอายุได้เบี้ยยังชีพ 3,000 บาททุกเดือนนั้ จะพบว่าวิธีการใช้เงิน และการวางแผนใช้เงินก็จะต่างกัน หากประชาชนทั่วไปได้รับเงินในระยะสั้นคราวเดียว อาจจะนำไปใช้ในลักษณะที่เป็นการซื้อสินค้าที่ไม่ใช่การลงทุน แต่เป็นการไปใช้ซื้อสินค้าที่อาจจะไม่ใช่สินค้าจำเป็น

ด้าน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคสนับสนุนเรื่องบำนาญถ้วนหน้าและคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากเรื่องหนึ่งที่ถูกระบุอยู่ในสิทธิผู้บริโภคสากล และเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่สำคัญคือสิทธิในการเข้าถึงการบริการที่จำเป็นในการดำรงชีวิต อย่างไรก็ตาม สิทธิดังกล่าวยังไม่ได้ถูกบรรจุเป็นสิทธิผู้บริโภคของไทย ซึ่งปัจจุบันสภาผู้บริโภคกำลังหารือกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคให้รวมถึงสิทธิที่ผู้บริโภคควรจะได้รับความจำเป็นขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็่นเรื่องที่อยู่อาศัยหรือเรื่องสวัสดิการขั้นพื้นฐาน

ปัจจุบันงบประมาณแผ่นดินอยู่ที่ประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท หากจัดสรรให้ผู้สูงอายุ 12 ล้านคน คนละ 3,000 บาทก็จะใช้งบประมาณ 400,000 ล้านบาทซึ่งรัฐบาลควรจัดสรรมาให้ประมาณ 10% ของงบประมาณแผ่นดินของทุกปีสำหรับการสร้างหลักประกันด้านรายได้ของผู้สูงอายุ

“เราก็ตั้งคำถามว่าถ้าจริง ๆ ทุกคนมีหลักประกันด้านรายได้ของตัวเองโดยเฉพาะผู้สูงอายุคนละ 3,000 บาทสูงกว่า 2,804 บาทซึ่งเป็นเส้นความยากจน ก็น่าจะเรียกว่าเซฟตี้เนตของครอบครัว อย่างน้อยเมื่อลูกตกงานกลับไปอยู่กับพ่อแม่ได้ สร้างความมั่นคงทางรายได้ แทนที่เราจะต้องมีโครงการพิเศษหรือการใช้เงินพิเศษทุกครั้งที่เกิดปัญอย่างกรณีโควิด 19 ซึ่งเราควรจะทลายคำถามว่าแล้วเราจะเอาเงินมาจากไหน บางคนก็บอกว่าอันนี้เป็นหน้าที่เราที่จะคิดไหมว่าเงินมาจากไหน คุณเป็นรัฐบาล คุณจะต้องคิดในเรื่องเหล่านี้ เพราะการสร้างหลักประกันให้คนเป็นเรื่องสำคัญ”

สารี อ๋องสมหวัง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active