ที่ปรึกษารองนายกฯ อนุทิน ย้ำให้ความสำคัญ พร้อมหนุนส่วนที่ขาด ฝั่ง “ก้าวไกล” ยันสู้ไม่ถอย หลังแนวทางแก้ปัญหาเด็กรหัส G ในชั้น กมธ.วิสามัญ ถูกปัดตก! ขณะที่เครือข่ายฯ ติงเงินแสนล้าน เพื่อสวัสดิการเด็กถ้วนหน้าให้ไม่ได้ แต่เตรียมแจกเงินดิจิทัล
สวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ถูกขับเคลื่อนมาตั้งแต่ช่วงการเลือกตั้ง 66 หลายภาคส่วนเห็นตรงควรผลักดันให้เกิดขึ้นจริง แต่ยังไม่เกิดขึ้นจริง ล่าสุดวันนี้ (22 ต.ค.66) ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โครงการขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า เพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน จัดเวทีการพูดคุย โดยมีตัวแทนนักวิชาการ, สำนักการศึกษา, ตัวแทนกระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, พรรคการเมืองจากรัฐบาล และฝ่ายค้าน ร่วมรับฟังโดยมีประเด็นสำคัญคือ การสร้างสวัสดิการที่ครอบคลุมให้กับเด็กเล็ก 0-6 ขวบ ไม่ทิ้งเด็กไร้สัญชาติ, เด็กพิการ, กลุ่มเด็กเปราะบางทุกกลุ่มในสังคม ฯลฯ เพราะเป็นรากฐานสำคัญของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และที่ผ่านมาแม้แต่สิทธิด้านการศึกษา ที่น่าจะเป็นพื้นฐานสำคัญก็ยังไม่ครอบคลุมกับเด็กทุกคนอย่างถ้วนหน้า
สวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า งบฯ “แสนล้าน” อุดช่องว่างเหลื่อมล้ำ
สุนี ไชยรส ประธานคณะทำงานเด็กเล็กถ้วนหน้าฯ ระบุเครือข่ายเด็กกว่า 400 องค์กรเห็นตรงกันว่า สวัสดิการเด็กเล็กต้อง “ถ้วนหน้า” โดยมีข้อเสนอ 2 ข้อสำคัญ คือ สวัสดิการถ้วนหน้า 0-6 ปี ตั้งแต่ในครรภ์ โดยขอให้เริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค. 64 แต่รัฐบาลเก่ายังไม่ทำ รัฐบาลใหม่ยังไม่พูดถึง ขาดเพียง 14,000 ล้านบาท ก็จะช่วยเด็กไทยได้ถ้วนหน้า 4 ล้านคน เพราะปัจจุบัน กระทรวง พม.อุดหนุนได้เพียง 2 ล้านคน
ขณะที่ งานวิจัย TDRI พบว่า เด็กจนตกหล่น ร้อยละ 30 รวมกับ ปัญหาเด็กเกิดน้อยในประเทศไทยไม่ถึง 5 แสนคน ก็ยิ่งต้องหันมาให้ความสำคัญกับการมีสวัสดิการดูแลเด็กเล็กที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นกำลังแรงงานที่สำคัญของประเทศ
“หากสวัสดิการถ้วนหน้าที่ขอไว้ 3,000 บาทต่อคน จากเด็กไทย 4 ล้านคน จะต้องใช้งบประมาณจากรัฐบาลมากกว่า 1 แสนล้านบาท แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลทุกชุดมักจะมองว่าการให้เงินเด็กไม่เร่งด่วน ส่วนใหญ่รัฐบาลทุกชุดจะบอกว่าไม่มีเงิน แต่อยากจะตั้งคำถามว่าให้เงินดิจิทัลแต่ไม่ให้เด็กถ้วนหน้า“
สุนี ไชยรส
กระจายอำนาจ เพิ่มศักยภาพพื้นที่ แก้ปัญหา “เด็กตกหล่น”
ผศ.พิสิษฏ์ นาสี คณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ระบุว่า ส่วนสำคัญที่ทำให้เด็กหลายคนตกหล่น เพราะสภาพปัญหาในพื้นที่ เช่น ในพื้นที่ภาคเหนือเป็นที่ราบสูง เต็มไปด้วยชุมชนห่างไกล แรงงานข้ามชาติ และกลุ่มชาติพันธุ์ ฯลฯ จากหลายเหตุผล เช่น
- ไม่รู้ข้อมูล เพราะพื้นที่ห่างไกล
- เข้าถึง ภาษาทางราชการลำบาก
- เข้าถึงสื่อได้ยาก หรือ หากรู้ข่าวสาร แต่การเดินทางมาลงทะเบียน ยังมีความยากลำบาก ไกล และใช้เวลามาก
- พ่อ-แม่ อาจจะไม่เข้าใจว่า “สวัสดิการเด็ก” มีความสำคัญ
ผศ.พิสิษฏ์ จึงเสนอให้เพิ่มศักยภาพในพื้นที่ด้วยการกระจายอำนาจ เพื่อให้ อบต. และท้องถิ่น สามารถลงมาดูเรื่องนี้ได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยยกตัวอย่างปัญหาระดับพื้นที่ อบต.แม่วิน จ.เชียงใหม่ ที่ไร้งบประมาณเด็กเล็กทำให้เด็กตกหล่น ไม่ได้รับสิทธิ 88 คน อีกด้านหนึ่งคือการแก้ปัญหาเด็กรหัส G พร้อมเสนอให้เพิ่มรถรับส่งอำนวยความสะดวกการลงทะเบียนรับสิทธิ์ และควรมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กรองรับเด็กกลุ่มที่ยังไม่มีบัตรประชาชน สิ่งที่ต้องทำเร่งด่วน คือ การมีระบบส่งต่อที่ชัดเจนให้เด็กกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบค่าหัว และสิทธิการศึกษา
เด็กไทย 2 ล้านคน เด็กไร้สัญชาติ 1 ล้านคน ตกหล่นสวัสดิการ
สอดคล้องกับความเห็นของ อริยะ เพชรสาคร ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการมูลนิธิแพลน (Internationnal Thailand) ระบุว่า เด็กไร้สัญชาติ ไร้สิทธิ มีมากถึง 9 แสน-1 ล้านคน คำว่าถ้วนหน้า อาจจะดูไกล จึงเสนอให้เด็กทุกคนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียน สามารถรับสิทธิตั้งแต่ตั้งในครรภ์จะเข้าสู่การได้รับการดูแลสวัสดิการของเด็กมาตั้งแต่เริ่มต้น ขณะที่เด็กไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ไม่สามารถรับสิทธิสวัสดิการ ก็ควรเร่งดำเนินการขึ้นทะเบียน จึงอยากฝากให้กระทรวงศึกษาธิการ เร่งทำให้เด็กกลุ่มได้รับสิทธิขึ้นพื้นฐานด้านการศึกษา
“เด็กไทยยังตกหล่นสวัสดิการ 2 ล้านคน จาก 4.4 ล้านคน ขณะที่เด็กไร้สัญชาติกลุ่มนี้มีอยู่ราว 9 แสน – 1 ล้านคน จะทำอย่างไรให้เข้าสู่ระบบสวัสดิการได้ ? ฝากถึงกระทรวงศึกษาธิการ อย่างน้อยให้กำหนด รหัส G ผูกกับเขตพื้นที่ และให้ รหัส G ไปถึง กรมการปกครอง ไม่ตกหล่น อย่างน้อยให้มีสิทธิรับการศึกษาอย่างเท่าเทียม”
อริยะ เพชรสาคร
ผศ.สุบัน พรเวียง หัวหน้าศูนย์วิจัยลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อสร้างโอกาสทางสังคม คณะศึกษาศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงการดูแลเด็กเล็ก ที่ต้องครอบคลุมทั้งเด็กด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกล ชนบท และในเมือง เพราะต้องไม่ลืมว่า ชุมชนเมืองเต็มไปด้วยสถานประกอบการ, แคมป์คนงานที่มาอยู่อย่างถูกต้องและไม่ถูกต้อง การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำจึงต้องไม่ลืมว่าเด็กในเมืองก็เป็นคนอีกกลุ่มที่ไม่สามารถละเลยปัญหาได้
ศธ. เตรียมผลักดันเด็กรหัส G – “ก้าวไกล” ยันไม่ถอยแม้กฎหมายถูกปัดตก
ปาริชาติ พรหมสุวรรณ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แจงว่า ศธ. เริ่มต้นดูแลเด็กเล็กอายุ 3 ปีขึ้นไป ภายใต้ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ย้ำทุกคนต้องได้รับการศึกษา สิ่งที่มอบให้ได้ คือ G โค้ด หรือ รหัส G ให้นำเข้าสู่กระทรวงศึกษาธิการ เป็นช่องทางให้เด็กได้สิทธิเรียนหนังสือ โดยย้ำว่าเตรียมขับเคลื่อนร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และเตรียมประชุมกันปลายเดือนตุลาคมนี้
ขณะที่ พุธิตา ชัยอนันต์ สส.เชียงใหม่ เขต 4 พรรคก้าวไกล ระบุว่า ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกล นำเสนอกฎหมายเข้าสภาฯ แล้ว 2 ฉบับ ทั้งกรณีการเพิ่มสิทธิวันลาคลอด และจัดห้องให้นมบุตร ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและครอบครัว สนับสนุนงบประมาณที่ขาดการดูแล แก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ให้มีห้องให้นมเด็ก และห้องปั้มนม ขณะที่กรณีการผลักดันเด็กรหัส G ผ่านการพิจารณาตั้งคณะกรรมการวิสามัญแล้ว แต่ที่ประชุมสภาฯ ปัดตก ยืนยันจะเดินหน้าสู้อย่างเต็มที่ เพื่อสิทธิสวัสดิการเด็กถ้วนหน้า
ด้าน ศุภชัย ใจสมุทร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (อนุทิน ชาญวีรกูล) บอกว่า รองนายกฯ อนุทิน ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และมอบหมายให้ลงมารับฟังข้อมูล เพราะการทำงานในระดับกระทรวงมีหน้าที่ทำนโยบาย และเติมเงินในส่วนที่ขาด การได้รู้สภาพปัญหาจะทำให้นำไปพูดหารือได้ชัดเจนยิ่งขึ้น อีกทั้งรองนายกฯ อนุทิน ยังนั่ง ประธานคณะกรรมการปฐมวัยแห่งชาติ จึงต้องผลักดัน และหารือประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน
โดยเครือข่ายเด็กเท่ากัน ย้ำ เตรียมเปิดเวทีใหญ่ ตอกย้ำทวงถามความสำคัญเรื่องนี้อีกครั้งในวันที่ 16 พ.ย.66 ทั่วทุกภาคของประเทศไทย