‘We Fair’ ร่วมกับ ‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ แถลง “การบ้านรัฐสวัสดิการ ในรัฐบาลเศรษฐา” เร่งรัฐบาลทบทวนสวัสดิการประชาชน เสนอ พม. เปลี่ยนเบี้ยยังชีพเป็นบำนาญประชาชน ผู้ประสานงาน We Fair ย้ำ ต้องเป็นระบบถ้วนหน้า ไม่ต้องพิสูจน์ความจน
วันนี้ (12 ต.ค. 2566) ที่โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) ร่วมกับสภาองค์กรของผู้บริโภคแถลงข่าว “การบ้านรัฐสวัสดิการ ในรัฐบาลเศรษฐา”
นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้ประสานงาน We Fair กล่าวว่า แนวนโยบายของรัฐบาลเป็นเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี อันเป็นที่มาของความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ความเปราะบางของสังคมไทย ในขณะที่นโยบายรัฐสวัสดิการ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตสังคม การสร้างหลักประกันรายได้และการสร้างประชาธิปไตยฐานรากไม่ถูกให้ความสำคัญ นโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต มีความคลุมเครือ ซึ่งโครงการนี้และโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล ต้องไม่เป็นข้ออ้างในการปรับลดงบประมาณสวัสดิการประชาชน เนื่องจากงบประมาณสวัสดิการสังคมสำหรับประชาชน 67 ล้านคน มีเพียง 449,964 ล้านบาท หรือ 14% จากงบประมาณทั้งหมด ขณะที่งบประมาณข้าราชการและครอบครัว 5 ล้านคน มี 489,470 ล้านบาท คิดเป็น 15%
“สวัสดิการสังคมไทยต้องเป็นระบบถ้วนหน้า ไม่ต้องพิสูจน์ความจน ในกรณีเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คณะกรรมการผู้สูงอายุ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง ต้องยืนยันในเรื่องนี้ โดยกระทรวงมหาดไทยต้องยกเลิกและปรับระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 โดยกำหนดว่า ให้ข้าราชการเลือกรับสิทธิเบี้ยยังชีพหรือบำนาญข้าราชการ ส่วนคนที่ได้รับเงินบำนาญจากการเสียชีวิตของบุตรหลานที่เป็นข้าราชการให้ได้รับเบี้ยยังชีพด้วย ท้ายนี้ รัฐบาลต้องปรับเพิ่มงบประมาณสวัสดิการประชาชน โดยการปฏิรูประบบภาษีและงบประมาณ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยรื้อระบบสงเคราะห์ออกจากรัฐธรรมนูญ และสร้างระบบถ้วนหน้า สร้างประชาธิปไตย”
นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์
ด้าน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค ให้ความเห็นว่า การจัดบำนาญถ้วนหน้าให้กับผู้สูงอายุ 12 ล้านคน ที่ 3,000 บาทต่อเดือน จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน จากงานวิจัยที่สภาผู้บริโภคสนับสนุนดำเนินการ พบว่า หากรัฐบาลจัดสรรงบประมาณรายจ่ายจำนวน 435,600 ล้านบาทต่อปีในรูปเงินบำนาญประชาชน รายละ 3,000 บาทต่อเดือน จะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ภายในระยะเวลา 5 ปี เป็นจำนวน 692,168.40 ล้านบาท ทำให้มี GDP เพิ่มขึ้น เท่ากับ 6.48% ของ GDP รัฐบาลจึงควรสนับสนุนงบประมาณพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งการสร้างหลักประกันรายได้ให้กับผู้สูงอายุ จะช่วยลดการส่งต่อความยากจนจากรุ่นสู่รุ่น ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างยั่งยืน รวมถึงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนได้ด้วย
สภาองค์กรของผู้บริโภคมีข้อเสนอ ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยกระดับการเปลี่ยนเบี้ยยังชีพให้เป็นระบบบำนาญประชาชน โดยเร่งดำเนินการปรับปรุงพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ให้สอดคล้องกับหลักประกันรายได้ที่เพียงพอกับเส้นความยากจนของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือค่าใช้จ่ายพื้นฐานขั้นต่ำในการดำรงชีพต่อเดือน และผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุนบำนาญแห่งชาติขึ้น เพื่อนำงบประมาณจากการปฏิรูปภาษี มาจัดสรรเป็นสวัสดิการให้กับประชาชน
สมชาย กระจ่างแสง มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ให้ความเห็นว่า รัฐบาลควรทบทวนอย่างเป็นระบบว่าสวัสดิการที่ให้กับประชาชนมีอะไรบ้างที่มีความซ้ำซ้อน หรือใช้งบประมาณไม่คุ้มค่า ก็ควรจัดสรรใหม่ เช่น เรื่องผลกระทบต่อเศรษฐกิจของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต หากมาจ่ายเป็นบำนาญผู้สูงอายุถ้วนหน้าอย่างสม่ำเสมอจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและชุมชนมากกว่าการใช้เงิน 560,000 ล้านบาท ภายใน 6 เดือน เป็นต้น
นอกจากนี้ สิ่งที่ประชาชนต้องการคือ การแก้รัฐธรรมนูญให้บรรจุเรื่องรัฐสวัสดิการให้ชัดเจน รัฐบาลควรออกกฎหมายที่เกี่ยวกับรัฐสวัสดิการ เช่น เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า ร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ ที่ให้คนอายุ 60 ปีขึ้นไปทุกคนได้รับสิทธิ และอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับพรบ.ชุดนี้ โดยการร่วมลงลายมือชื่อสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้