สวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าอยู่ไหน หลังไม่พบในร่างคำแถลงนโยบายฯ

ภาคประชาชน ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอให้สร้างความเสมอภาคด้วยเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตั้งแต่ 6 เดือนใกล้บ้าน พร้อมบรรจุไว้ในคำแถลงนโยบายรัฐบาล ‘สุทิน คลังแสง’ ยอมรับ หลายนโยบายยังตกหล่นรับปากจะนำเสนอต่อพรรค

วันนี้ (7 ก.ย. 2566) ที่พรรคเพื่อไทย ตัวแทน คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า 342 องค์กรทั่วประเทศ เข้ายื่นหนังสือถึง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ขอให้มีนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ในวันที่ 11 กันยายน นี้ โดยมี สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นตัวแทนรับหนังสือ

สุนี ไชยรส

สุนี ไชยรส ตัวแทนคณะทำงานฯ และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ตามเนื้อหาในเอกสารร่างคําแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ต่อสภาฯ ที่ปรากฏผ่านสื่อต่าง ๆ ทำให้คณะทำงานฯ รู้สึกไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากในถ้อยแถลงนโยบายด้านการสร้างโอกาส และความเสมอภาคทางสังคม ไม่ได้บรรจุเรื่องสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า และศูนย์บริการเด็กเล็กตั้งแต่ 6 เดือนใกล้บ้าน ทั้งที่เป็นประเด็นที่คณะทำงานฯ เสนอไว้ตั้งแต่ในช่วงหาเสียงการเลือกตั้ง และหลายพรรคในฝั่งรัฐบาลก็ได้เข้าร่วมและรับปากจะนำไปขับเคลื่อนต่อ

สำหรับรายละเอียดนโยบายที่คณะทำงานฯ เสนอไว้ และระบุอยู่ในหนังสือที่ยื่นถึงนายกฯ รัฐมนตรี มี 5 ข้อ คือ

  1. ให้เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กเล็กถ้วนหน้าทุกคนบนพื้นแผ่นดินไทย ตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์จนถึง 6 ปี คนละ 3,000 บาท/เดือน
  2. ขยายสิทธิลาคลอดเป็น 180 วัน เพิ่มระยะให้แม่และพ่อได้เลี้ยงดูลูกอย่างใกล้ชิด และเชื่อมต่อไปศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้รับเด็กเล็กตั้งแต่ 6 เดือน
  3. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก รับเด็กเล็กตั้งแต่ 6 เดือน รับช่วงต่อจากพ่อแม่ที่ลามาเลี้ยงดูลูกได้ 180 วัน มีความหลากหลายสอดคล้องกับวิถีชีวิตของพ่อแม่หรือผู้ปกครองที่ทำงาน
  4. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีจำนวนมากพอ กระจายตัวใกล้บ้าน ใกล้ที่ทำงาน หลากหลายรูปแบบ และมีคุณภาพ เพื่อให้เด็กทุกคนเข้าถึง เพื่อได้รับการดูแลพัฒนาในด้านโภชนาการ การเรียนรู้อย่างสมไว เป็นต้น รับเด็กเล็กตั้งแต่ 6 เดือน รับช่วงต่อจากพ่อแม่ที่ลามาเลี้ยงดูลูกได้ 180 วัน ยืดหยุ่นเวลาเปิด-ปิด สอดคล้องกับวิถีชีวิตของพ่อแม่หรือผู้ปกครองที่ทำงาน
  5. รัฐบาลและหน่วยงานที่จัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ให้การสนับสนุนงบประมาณ และบุคลากร โดยเฉพาะศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่ยังไม่สามารถขึ้นทะเบียน ให้สามารถดำเนินการได้ตามมาตรฐาน เช่น ศูนย์เด็กเล็กที่บริหารจัดการเองโดยชุมชน เป็นต้น

โดยขอให้รัฐบาลในการบริหารของ เศรษฐา ทวีสิน ได้นำข้อเสนอของคณะทำงานฯ ไปพิจารณา และมีนโยบายเพื่อดูแลเด็กเล็กทุกคนอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ตามการรับรองของรัฐธรรมนูญปี 2560 และอนุสัญญาสิทธิเด็ก ที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้หลายฉบับ เพื่อเป็นการคุ้มครองทางสังคมต่อเด็กทุกคนในสังคมไทย

“เราซีเรียสมากที่ในเนื้อหาไม่มีนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กแม้แต่ข้อเดียว เพราะเราคาดหวังว่ารัฐบาลใหม่จะช่วยเติมเต็มสิ่งที่ตกหล่นมาอย่างยาวนานซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ของประเทศได้ แค่เฉพาะการให้เงินเด็กเล็กถ้วนหน้า จำนวนกว่า 4.3 ล้านคน ถูกทิ้งไว้ข้างหลังกว่า 2 ล้านคน โดยอ้างว่าให้เฉพาะเด็กจน ทั้งที่พิสูจน์แล้วว่า ผ่านมา 8 ปี มีเด็กจนตกหล่นเข้าไม่ถึงเงินอุดหนุนเด็กเล็กที่ให้เดือนละ 600 บาท ถึง 30 % ซึ่งเงินอุดหนุนที่ให้เด็กเล็กจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการบริโภค หมุนเวียนไปหาผู้ผลิต ผู้ให้บริการหลากหลาย ทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยสะพัดไม่แพ้การใช้เงินในเรื่องอื่น ๆ”

สุนี ไชยรส

ภายหลังรับหนังสือ สุทิน คลังแสง กล่าวว่า ตนเองและทางพรรครับทราบถึงปัญหามาโดยตลอด ซึ่งวิธีคิดที่ผ่านมา รัฐบาลอาจจะใช้ระบบคัดกรองความยากจน เช่นเดียวกับแนวคิดตัดเบี้ยยังชีพผูู้สูงอายุที่มีฐานะ ก่อนหน้านี้ ซึ่งพบว่าวิธีคิดในลักษณะประคับประคองไม่มีประสิทธิภาพ มีคนจนตัวจริงตกหล่นจำนวนมาก พร้อมรับปากว่าจะเข้าไปผลักดันกับทางพรรค เพราะยังมีอีกหลายนโยบายที่เห็นตรงกันว่ายังตกหล่นอยู่

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active