บุก 3 กระทรวง ค้านหลักเกณฑ์ตัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

ตัวแทนประชาชน 53 เครือข่าย เรียกร้องกระทรวงที่เกี่ยวข้องยกเลิกหลักเกณฑ์ใหม่ เหตุ ปรับลดสิทธิถ้วนหน้าเป็นสงเคราะห์ หากไม่เร่งยกเลิก เตรียมฟ้องศาลปกครอง

วันนี้ (17 ส.ค. 2566) ตัวแทนภาคประชาชน 53 เครือข่าย ในนามเครือข่ายประชาชนปกป้องสวัสดิการประชาชน นำโดยเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม หรือ Wefair, เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ และเครือข่ายสลัม 4 ภาค นัดรวมตัวที่หน้ากระทรวงการคลัง ตั้งแต่ 10.00 น. เพื่อคัดค้านการตัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

โดยมีการร่อนข้อเรียกร้องและแถลงการณ์ ที่พับเป็นจรวดกระดาษ ร่อนเข้าไปยังกระทรวงการคลัง เนื่องจากมีการปิดประตูรั้ว วางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงไม่สามารถที่จะยื่นข้อเรียกร้องและข้อเสนอต่อการคัดค้านการตัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อกระทรวงการคลังได้  จากนั้นร่วมกันอ่านแถลงการณ์ร่วมเครือข่ายประชาชน “ปกป้องสวัสดิการประชาชน คัดค้านการตัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ”

สาระสำคัญของแถลงการณ์ระบุว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว รัฐบาล ‘ประยุทธ์’ ยังคงรักษาการณ์ในช่วงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ กระทรวงมหาดไทย ได้ออกหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2566 โดยเพิ่มคุณสมบัติ การเป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ เป็นเงื่อนไขในการรับเบี้ยยังชีพ

ทั้งที่ทศวรรษกว่า นับตั้งแต่ปี 2552 สวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ถูกปรับจากระบบสงเคราะห์คนยากไร้อนาถา มาเป็นสิทธิสวัสดิการระบบถ้วนหน้า จนเมื่อเข้าสู่การรัฐประหาร 2557 การบริหารประเทศภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา การดำเนินนโยบายด้านสวัสดิการสังคม ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการคลัง และกระทรวงมหาดไทย เป็นสิ่งที่เครือข่ายมองว่า กลับเป็นการลิดรอนสิทธิสวัสดิการของประชาชน ด้วยการให้พิสูจน์ความยากจน

ทั้งที่ยิ่งสังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น รัฐควรต้องออกโรงมาปกป้องดูแลทรัพยากรมนุษย์ จึงขอร่วมกันคัดค้านการตัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยมีข้อเรียกร้องร่วมกัน คือ 

1) กระทรวงมหาดไทย ให้ยกเลิกระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 แล้วกลับไปใช้ระเบียบเดิม ซึ่งคงสิทธิถ้วนหน้า โดยไม่ต้องพิสูจน์ความยากจน และตัดสิทธิการรับสวัสดิการซ้ำซ้อนไว้แล้ว  

2) คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ต้องออกมาปกป้องสิทธิของผู้สูงอายุทุกคน ด้วยการไม่สนองตอบต่อหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566

3) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต้องมีบทบาทสำคัญในการยกระดับการเปลี่ยนเบี้ยยังชีพให้เป็นระบบบำนาญถ้วนหน้า ด้วยการออกเป็นกฎหมายรองรับ ไม่ใช่ใช้หลักนโยบายการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามมติคณะรัฐมนตรี

4) กระทรวงการคลัง ทำหน้าที่ในการศึกษาตัดงบรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ เข้ารัฐ เพื่อเพิ่มรายได้มาเติมเต็มการจัดสวัสดิการให้กับประชาชนแบบถ้วนหน้า เช่น การศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง ภาษีลาภลอย เป็นต้น

5) รัฐบาลใหม่ ต้องผลักดันให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีเรื่องรัฐสวัสดิการเป็นสิทธิแบบถ้วนหน้าบรรจุในกฎหมายให้ชัดเจน

โดยการเคลื่อนไหววันนี้ มีกลุ่มผู้สูงอายุมาร่วมเรียกร้องจำนวนมาก ‘สว่าง รักษากูล’ หญิงวัย 83 ปี จากชุมชน 14 ไร่ เขตประเวศ กทม. เห็นว่า ไม่ควรมาตัดสิทธิตรงนี้ ตอนนี้ได้รับเบี้ยยังชีพ 800 บาท ก็แทบไม่พอต่อการดำรงชีวิตในวัยชรา ดังนั้น ควรเพิ่มเป็น 3,000 บาท และเป็นสิทธิแบบถ้วนหน้า

“ถึงยายไม่ถูกตัด ตอนนี้ได้อยู่ได้ 800 เท่าเดิม ก็ไม่เพียงพอ คนอายุมากอย่างยายไม่มีอาชีพ สามีมาตายจาก ลูกหลานเขาก็หากินของเขา ยากจนเหมือนกัน ไหนจะค่ากิน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าที่อยู่อีก อยากให้เพิ่มเป็นถ้วนหน้า 3,000 บาทต่อเดือน 

สว่าง รักษากูล

ด้าน นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์  เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม หรือ Wefair ยกตัวอย่างเปรียบเทียบถึงสวัสดิการที่ใช้หลักเกณฑ์อ้างความจน จึงได้รับเงิน คือเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กเล็ก แต่งานวิจัยพบว่า การให้เกณฑ์จ่ายให้เฉพาะคนจน ปรากฏคนจนเข้าไม่ได้รับถึง 30 % ดังนั้น สิ่งที่ทำให้คนทุกคนเข้าถึงระบบสวัสดิการได้ดีที่สุดคือระบบถ้วนหน้า

“เพราะฉะนั้นตรงนี้จึงชัดเจน และสิ่งที่เป็นระบบสวัสดิการถ้วนหน้าคือบัตรทอง การเข้าถึงบัตรทองถ้วนหน้าทำให้คนยากจนที่จะเข้าถึงระบบสวัสดิการมันลดลงอย่างมาก อันนี้เป็นการเข้าถึงของคนทุกคนในประเทศ เป็นระบบถ้วนหน้าเพื่อทุกคนจริง ๆ ดังนั้น เงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและสวัสดิการอื่น ๆ ต้องเป็นแบบถ้วนหน้า

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์

เช่นเดียวกับ นิมิตร์ เทียนอุดม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ บอกว่า สิ่งสำคัญตอนนี้คือรัฐบาลต้องยกเลิกหลักเกณฑ์ดังกล่าวทันที เพราะหากจะไปปรับแก้ภายหลังทำได้ยาก และจะเป็นการลดทอนสิทธิประชาชนถอยหลังลงไปกว่าเดิม กลายเป็นระบบสงเคราะห์ 

“ตั้งแต่ปี 2554 ได้เกิดการเปลี่ยนให้ผู้สูงอายุรับเบี้ยยังชีพแบบถ้วนหน้า และให้มาตลอด เกิดขึ้นเพราะเรียกร้องกันมานาน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ คนที่เคยได้ ก็ยังได้เท่าเดิม แต่คนที่กำลังจะอายุ 60 ปี จากนี้ต้องพิสูจน์ก่อน ว่าไม่มีรายได้ หรือมีน้อยไม่พอจริง ๆ ถึงจะได้ แล้วหลักเกณฑ์ที่ว่าจะเป็นปัญหาในทางปฏิบัติแน่ ๆ เพราะเจ้าหน้าที่เขาก็ต้องทำตามหลักเกณฑ์นี้ จะมาปรับเปลี่ยนเพราะมีปัญหาในภายหลังก็ยาก ดังนั้น ต้องยกเลิกแล้วมาสร้างสวัสดิการถ้วนหน้าที่เป็นสวัสดิการที่เข้าถึงได้ทั่วถึงอย่างแท้จริง และเพียงพอต่อการยังชีพ ซึ่งเราเสนอ 3,000 บาท  ตามเส้นความยากจน กระทรวงการคลังจะอ้างไม่ได้ เพราะงบประมาณในส่วนอื่น ๆ สามารถบริหารปรับลดมาสนับสนุนส่วนสำคัญส่วนนี้ได้“ 

นิมิตร์ เทียนอุดม

นิมิตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การออกระเบียบในช่วงสุญญากาศ โดยรัฐบาลรักษาการ ถูกมองหรือตั้งข้อสังเกตเป็นการวางยาทางการเมืองรัฐบาลสมัยหน้าหรือไม่ ตนมองอาจเป็นไปได้ แต่ไม่ว่ารัฐบาลไหน จะเก่าใหม่ใครจะเข้ามา ควรยึดประโยชน์ประชาชน ไม่ใช่ทำร้ายประชาชน 

“ที่ผ่านมารัฐบาลที่สืบทอดจาก คสช. ไม่มีเจตจำนงที่จะสร้างรัฐสวัสดิการให้กับประชาชนอยู่แล้ว เพราะเรื่องแบบนี้เราเสนอ แต่ถึงปัดตกมาตลอด ตั้งแต่สิงหาคมปีที่แล้ว ซึ่งมติ ครม. ตั้งแต่สิงหาคมปีที่แล้ว ให้ 3 กระทรวงไปตกลง ทำอย่างไรกับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ รัฐมนตรี พม. แต่ไหนแต่ไรไม่เคยมีเจตจำนงในเรื่องนี้ มหาดไทยก็รับลูกมาว่าถ้าอย่างนั้นจะทำอย่างไร ระเบียบนี้จึงออกมา เพราะฉะนั้น จะมองว่าลักไก่ก็ได้ มองว่าพวกเขาไม่มีเจตจำนงเรื่องนี้ให้ประชาชนแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว ส่วนมองว่าเป็นการเมือง วางยารัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารหรือไม่ ก็อาจเป็นได้ แต่อยากให้ทุกพรรคทุกฝ่ายนึกถึงผลประโยชน์ประชาชน“ 

นิมิตร์ เทียนอุดม

จากนั้นกลุ่มเครือข่ายได้เคลื่อนขบวนไปยื่นหนังสือที่กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ออกระเบียบ เพื่อขอให้ยกเลิกหลักเกณฑ์ดังกล่าว ก่อนเคลื่อนไปที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะที่ดูแลผู้สูงอายุโดยตรง เพื่อให้มีความชัดเจนในการคัดค้านเรื่องนี้ 

ปลัด พม. ยัน เคียงข้างผู้สูงอายุ ขอให้มั่นใจ

ด้าน อนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยืนยันจะเคียงข้างผู้สูงอายุซึ่งอาจจะไม่ลงรายละเอียดลึก เพราะทราบว่าประชาชนไปที่กระทรวงมหาดไทยแล้ว แต่สิ่งที่ พม. รับผิดชอบในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ก็ให้มั่นใจว่า กระทรวง พม. จะไม่ทำให้ประชาชน ผู้สูงอายุผิดหวังแน่นอน  

“เราไม่มีอำนาจในระเบียบ เพราะเป็นระเบียบระดับกระทรวง คนลงนามเป็นรัฐมนตรี เพราะฉะนั้น พม. อยู่ในคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ผมยืนยันไม่ทำให้ผิดหวังแน่นอน“

ด้าน จำนงค์ หนูพันธ์ ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า จะติดตามความคืบหน้าจากทั้ง 3 กระทรวง รวมทั้งคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ที่มี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่าจะมีความชัดเจนต่อการไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้ตามข้อเรียกร้องประชาชนหรือไม่ ซึ่งหากไม่มีการยกเลิกหลักเกณฑ์ดังกล่าว จะเดินหน้าในการฟ้องศาลปกครองอย่างแน่นอน

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ