เริ่มใช้สิทธิ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ วันแรก คนแห่ใช้แล้วกว่า 1.9 ล้านคน

ผู้ที่ผ่านการลงทะเบียนกว่า 12 ล้านคน ใช้สิทธิ์วันแรก มูลค่ารวมกว่า 519 ล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้วงเงินซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ด้านนักวิชาการชี้ นอกจากมาตรการลดภาระค่าครองชีพ หวังพรรคการเมืองคิดต่อช่วยเหลือ​กลุ่มคนเปราะบางระยะยาว

วันนี้ (1 เม.ย.66) ​พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าการเริ่มใช้สิทธิภายใต้โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2566 ผ่านบัตรประจำตัวประชาชนในวันแรก สำหรับผู้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 ที่ยืนยันตัวตนสำเร็จภายในวันที่ 26 มีนาคม 2566 จำนวนทั้งสิ้น 12,565,862 ราย เป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งมูลค่าการใช้สิทธิ์ในวันแรก ณ เวลา 12.00 น. มีจำนวนกว่า 519.52 ล้านบาท จากผู้ใช้สิทธิ์ จำนวนกว่า 1.9 ล้านราย  โดยส่วนใหญ่จะเป็นการใช้สิทธิ์ในวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นจากร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น 

สำหรับผู้ผ่านเกณฑ์ที่ยืนยันตัวตนสำเร็จจะสามารถใช้สิทธิ์สวัสดิการ ผ่านบัตรประจำตัวประชาชนได้ ดังนี้ วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษาและวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรม จากร้านธงฟ้าฯ และร้านอื่น ๆ ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด จำนวน 300 บาทต่อคนต่อเดือน, วงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าตามที่กระทรวงพลังงานกำหนด จำนวน 80 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน, วงเงินรวมค่าเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะ จำนวน 750 บาทต่อคนต่อเดือน โดยสามารถใช้โดยสารได้กับระบบขนส่ง 8 ประเภท ได้แก่ (1) รถองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) (2) รถบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) (3) รถไฟฟ้า บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (Bangkok Mass Transit System : BTS) รถไฟฟ้า มหานคร (Metropolitan Rapid Transit : MRT) และบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (4) รถไฟ (5)รถเอกชนร่วม ขสมก. รถเอกชนและส่วนราชการกรุงเทพมหานคร (6)รถเอกชนร่วม บขส. และรถเอกชน (7)รถสองแถวรับจ้าง และ (8)เรือโดยสารสาธารณะ โดยไม่จำกัดวงเงินตามประเภทรถ

มาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้า อุดหนุนค่าไฟฟ้าจำนวน 315 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน กรณีที่ใช้ไฟฟ้า เกินวงเงินที่กำหนด ผู้มีบัตรฯ ที่ได้รับสิทธิ์จะเป็นผู้รับภาระค่าไฟฟ้าทั้งหมด, มาตรการบรรเทาภาระค่าน้ำประปาอุดหนุนค่าน้ำประปาจำนวน 100 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน กรณีที่ใช้น้ำประปาเกิน 100 บาท แต่ไม่เกิน 315 บาท ผู้มีบัตรฯ ที่ได้รับสิทธิ์ยังคงได้รับการสนับสนุนในวงเงิน 100 บาท และจะต้องชำระส่วนที่เกิน 100 บาทด้วยตนเอง แต่หากผู้มีบัตรฯ ที่ได้รับสิทธิ์มีการใช้น้ำประปาเกิน 315 บาท ผู้มีบัตรฯ ที่ได้รับสิทธิ์จะเป็นผู้รับภาระค่าน้ำประปาทั้งหมด

ส่วนผู้ผ่านเกณฑ์ท่ียังไม่ได้ดำเนินการยืนยันตัวตนและผู้ผ่านเกณฑ์ ที่ยังยืนยันตัวตนไม่สำเร็จภายในวันที่ 26 มีนาคม 2566 รวมจำนวนทั้งสิ้น 2,030,967 ราย ยังคงสามารถยืนยันตัวตน ได้ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ การเกษตรได้ตามวันเวลาที่หน่วยงานกำหนด

สำหรับผู้ที่ผ่านการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ หากพิจารณาจากคุณสมบัติเงื่อนไขที่ผ่านเกณฑ์ตามนิยามของกระทรวงการคลัง ซึ่งเรียกว่า กลุ่มคนเปราะบาง ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีไม่เกิน 1 แสนบาทรวมถึงมีเกณฑ์การพิจารณาทั้ง ทรัพย์สิน เงินฝาก สินเชื่อ ฯลฯ  

รศ.กนกวรรณ มะโนรมย์ คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี ซึ่งติดตามและศึกษาการแก้ไขปัญหาคนจน เห็นว่า มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการที่สามารถช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของกลุ่มคนเปราะบางได้จริง และไม่ปฏิเสธว่าคนกลุ่มนี้มีความจำเป็นที่ต้องได้รับการช่วยเหลือที่เป็นตัวเงิน 

แต่จากงานวิจัยที่ได้ศึกษากรณีคนจนข้ามรุ่น ในโครงการ  ”ความยากจนข้ามรุ่นในสังคมไทยภายใต้ความท้าทายเชิงโครงสร้าง” พบว่าคนจน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ มีปัญหาการแบกรับภาระที่เกินตัว เข้าไม่ถึงทรัพยากร ต้นทุนที่มากกว่ารุ่นพ่อแม่ เช่น เทคโนโลยี มีการศึกษา อาชีพ รายได้ปานกลาง คนรุ่นใหม่จึงเป็นกลุ่มคนเประบางตามนิยามของบัตรสวัสดิการ และเป็นช่วงวัยที่น่ากังวลจึงเสนอให้พรรคการเมืองมีนโยบายในการช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ ที่นอกเหนือจากเงิน เป็นนโยบายที่จะยั่งยืนในการเลื่อนสถานะ

“แจกก็ตอบสนองชีวิตประจำวันได้บางส่วนไม่ปฏิเสธ ช่วยได้ในแง่การลดค่าครองชีพ แก้ปัญหาได้บางส่วน แต่ระยะยาว ควรสร้างนโยบายอื่น ๆ เช่น นโยบายที่ดิน ตามหาคนที่มีปัญหาไร้ที่ดิน ปัญหาการเข้าถึงการศึกษาเช่น  อยากเรียนต่อต้องเดินทางข้ามจังหวัดไม่ไป ไม่ได้เรียน  มันควรจะมีระบบการรองรับครัวเรือนยากจนในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอุดหนุนรูปแบบการศึกษาให้มากขึ้น อาชีพ หลักสูตรการอบรวม เปิดโอกาสให้เขา ตอบโจทย์ในชีวิตที่เขาต้องการ มีสิทธิ์ที่จะเลือกโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” 

รศ.กนกวรรณ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active