คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ออกแถลงการณ์ทวงสัญญาพรรคการเมือง และรัฐบาลชุดใหม่ จัดสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า 0-6 ปี ต้องได้เดือนละ 3,000 บาท
วันนี้ (21 มี.ค. 66) คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า 342 องค์กรทั่วประเทศ แถลงการณ์หลังการยุบสภาผู้แทนฯ วันที่ 20 มีนาคม 2566 โดยระบุถึงสถานการณ์ปัญหาสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าจากรัฐบาลชุดเดิม และข้อเสนอที่คณะทำงานฯ ขับเคลื่อนต่อเนื่องต่อพรรคการเมืองต่าง ๆ มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 เพื่อให้รัฐบาลชุดใหม่ และทุกพรรคการเมืองพัฒนานโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ดังนี้
“ให้เด็กเล็กได้รับสวัสดิการและการคุ้มครองทางสังคมจากรัฐตามพันธกรณีระหว่างประเทศและรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กเล็กตั้งแต่ในครรภ์- 6 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดในการวางรากฐานเพื่อเจริญเติบโตอย่างแข็งแกร่งทั้งทางร่างกายและสมองของเด็กทุกคนยังส่งผลสำคัญต่อการทำงานมีรายได้ของพ่อแม่ และปู่ย่าตายายที่ต้องเลี้ยงหลาน ซึ่งปัจจุบันเกิดครอบครัวแหว่งกลางจำนวนมาก”
รัฐต้องสร้างระบบสวัสดิการสังคมและพัฒนาไปสู่รัฐสวัสดิการในอนาคต ที่ต้องลดความเหลื่อมล้ำ ให้ก้าวผ่านความยากจนข้ามรุ่น และหยุดวิกฤตด้วยการสร้างอนาคตให้เด็กเล็กทุกคนบนแผ่นดินไทย ตั้งแต่ครรภ์มารดาถึง 6 ปี ให้สามารถเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ มีพัฒนาการทางร่างกายและสติปัญญาเพื่อเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ และสวัสดิการถ้วนหน้าคือสิทธิเด็ก ไม่ใช่การสงเคราะห์ความยากจน
สถานการณ์จากรัฐบาลชุดเดิม
1) โครงสร้างประชากร “เด็กเกิดน้อยลงในสังคมผู้สูงอายุ” ปี 2562 มีเด็ก 0-6 ปี 4.65 ล้านคน ปี 2564 มีเพียง 4.28 ล้านคน ขณะที่เด็กเกิดใหม่ร้อยละ 6.48 มีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน แม่ที่ตั้งครรภ์ร้อยละ 40 ไม่ได้ทำงานทำให้ขาดรายได้ในการนำมาดูแลครรภ์อย่างเหมาะสม และพบว่าเด็กร้อยละ 60 อยู่ในครัวเรือนที่รายได้ไม่พอเพียงสำหรับการเลี้ยงดูเด็กให้เรียนจบปริญญาตรี ยิ่งสถานการณ์โควิด-19 ซ้ำเติมโครงสร้างรายได้เดิมที่มีความเหลื่อมล้ำให้ยิ่งหนักหน่วง การดูแลเด็กเล็กให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดจึงเป็นหน้าที่สำคัญ ของรัฐ และเพื่อเป็นหลักประกันจูงใจให้มีบุตรมากขึ้น
2) แม้ว่าระบบสวัสดิการสังคมของไทยยังต้องพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปสู่รัฐสวัสดิการที่สมบูรณ์ขึ้น แต่อย่างน้อยที่สุดมีการผลักดันยาวนานจนเป็นที่ยอมรับในหลักการ “สวัสดิการถ้วนหน้า” เช่น เบี้ยผู้สูงอายุ คนพิการ เรียนฟรี 12 ปี บริการสุขภาพถ้วนหน้า โดยไม่ต้องมาตรวจสอบถึงความรวยความจน แต่รัฐบาลกลับเลือกปฏิบัติต่อเด็กเล็ก โดยต้องตรวจสอบความจนและมีผู้รับรองสองคน (“ตีตราคนจน” ) จึงเป็นช่องโหว่ที่ไม่จัดสวัสดิการให้เด็กเล็กถ้วนหน้าอยู่กลุ่มเดียวทั้งที่จำเป็นอย่างยิ่ง
3) การผลักดันของภาคประชาสังคมจนรัฐบาลให้เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดมาตั้งแต่พ.ศ. 2559 และในปัจจุบันให้เงินอุดหนุนเด็กอายุ 0 – 6 ปีรายละ 600 บาทต่อเดือน แต่กำหนดเฉพาะครอบครัวยากจนรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี ทั้งที่คณะกรรมการส่งเสริมเด็กและเยาวชนแห่งชาติ(กดยช) ที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีหลายกระทรวงและผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการ มีมติให้รัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 0-6 ปี เดือนละ 600 บาท ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 แต่รัฐบาลไม่จัดงบประมาณ ทำให้ปัจจุบันจะมีเด็กเล็กได้รับเงินอุดหนุน 600 บาทเพียง 2.2 ล้านคน จาก 4.28 ล้านคน ขณะที่จากการศึกษาของ TDRI พบว่ามีเด็กเล็กตกหล่นไม่ได้รับเงินอุดหนุนร้อยละ 30 ของครัวเรือนที่เข้าข่ายมีสิทธิรับเงินอุดหนุน ซึ่งการให้แบบถ้วนหน้าเท่านั้นจึงจะสามารถขจัดการตกหล่นได้
4) ผลการศึกษาของวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับมูลนิธิเอเชีย พบว่า เด็กเล็ก 0-6 ปี มากกว่า 4.2 ล้านคน มีโอกาสได้เข้าเรียนรู้ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาลที่รัฐสนับสนุน ครู อาหารกลางวัน นม เพียง 2.4 ล้านคน อีกทั้งมีข้อจำกัดที่รับเด็กส่วนใหญ่ 2 ขวบครึ่ง เวลาเปิดปิดเป็นเวลาราชการ จึงเป็นอุปสรรคต่อครอบครัวที่พ่อแม่ต้องทำงาน พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือครอบครัวแหว่งกลาง ที่ต้องให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงดูหลาน เด็กเล็กจำนวนมากขาดโอกาสที่จะได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ ขาดโอกาสได้รับการพัฒนา ดูแล และเรียนรู้ ในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยที่รัฐสนับสนุนมากกว่า 2 ล้านคน
ข้อเสนอปัจจุบันสำหรับรัฐบาลชุดใหม่
1. สวัสดิการเด็กเล็กต้องถ้วนหน้า เด็กเล็กทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยได้รับสวัสดิการ/การคุ้มครองทางสังคมตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์ – อายุ 6 ปี ระหว่างแม่ที่ตั้งครรภ์จะได้รับการดูแลสุขภาพทั้งแม่และเด็ก พ่อแม่ได้รับสิทธิการลามาเลี้ยงดูลูกอย่างน้อย 180 วัน และต้องได้รับเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าจากรัฐคนละ 3,000 บาทต่อเดือน เป็นค่าใช้จ่ายจําเป็นขั้นพื้นฐานในการเลี้ยงดู ตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์ – อายุ 6 ปี
2. รัฐสนับสนุน ส่งเสริมศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก/สถานรับเลี้ยงเด็ก/โรงเรียนอนุบาล ให้สามารถรับเด็กเล็กตั้งแต่ 6 เดือน เพื่อพ่อแม่สามารถไปทำงานได้ โดยมีความหลากหลายรูปแบบ และเวลาปิดเปิดต้องสอดคล้องกับวิถีการทำงานของพ่อแม่หรือผู้ปกครอง โดยสนับสนุนการกระจายอำนาจอย่างจริงจัง
ผลตอบรับของพรรคการเมือง
เมื่อใกล้จะมีการเลือกตั้ง คณะทำงานขับเคลื่อนสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า 342 องค์กรทั่วประเทศ ได้เข้าพบหารือตามข้อเสนอต่อผู้บริหารพรรคการเมือง 15 พรรคในช่วงพฤศจิกายน 2565 และคณะทำงานฯจัดเวทีฟังเสียงภาคประชาสังคม ฟังพรรคการเมือง 3 ครั้ง ที่กรุงเทพฯ 21 พฤศจิกายน 2565 (10พรรค) เวทีที่ภาคใต้ อ.หาดใหญ่ 31 มกราคม 2566 (10 พรรค) และเวทีภาคเหนือที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 25กุมภาพันธ์ 2566 (11 พรรค) นอกจากนี้ คณะทำงานฯได้เข้าร่วมนำเสนอนโยบายนี้ในเวทีองค์กรผู้หญิง”การเมืองดี ต้องมีสตรีร่วมร่าง” วันที่ 14 มีนาคม 2566 และเวทีเจาะลึกทั่วไทยของสื่อ ในวันที่20 มีนาคม 2566 จึงขอเสนอสรุปนโยบายของพรรคการเมือง 15 พรรคจากเวทีต่างๆ (ข้อมูล ณ วันที่ 20 มีนาคม 2566)
“หวังอย่างยิ่งว่า แต่ละพรรคการเมืองจะพัฒนานโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า อันเป็นพื้นฐานอนาคตของเด็ก และส่งผลต่อทุกช่วงวัย ทุกกลุ่มอาชีพให้ดียิ่งๆขึ้นก่อนวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจากประชาชน”