นักวิจัย ชี้ โครงสร้างสังคม เหนี่ยวรั้งแก้ ‘จนข้ามรุ่น’

แนะนโยบายพรรคการเมือง พุ่งเป้าตัดวงจรคนจนข้ามรุ่น เลิกใช้นโยบายเลี้ยงไข้ไม่ยั่งยืน ด้าน หน่วยงานรัฐ ขออย่าอคติ เชื่อทำงานมาถูกทาง ตั้งต้นแก้จนแบบพุ่งเป้าด้วยฐานข้อมูล TPMAP นักวิชาการ ติงเป้าเคลื่อนตลอด อย่ายึดติดความรู้สำเร็จรูป 

วันนี้ (17 มี.ค.66) เวทีสาธารณะ “ความจนข้ามรุ่นในสังคมไทย และข้อท้าทายเชิงนโยบาย” เปิดเผยการศึกษาโครงการวิจัย “ความจนข้ามรุ่นในสังคมไทย ภายใต้ความท้าทายเชิงโครงสร้าง” ปีที่ 1 ระยะเวลาในการศึกษา 1 ปี จาก 5 พื้นที่ 5 นักวิชาการ ได้แก่ประเด็น ที่ดิน เหมืองแร่ ภัยพิบัติ และวาทกรรมการเกษตร 

รศ.กนกวรรณ มะโนรมย์ หัวหน้าคณะโครงการวิจยัคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวถึงที่มาของการเริ่มต้นศึกษาโครงการวิจัยชิ้นนี้ ว่า เป็นการต่อยอดงานวิจัยจากที่นักวิชาการแต่ละท่าน ได้ทำงานต่อเนื่องที่เกี่ยวข้องกับความยากจน ประกอบกับที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่13 ได้นิยามความยากจนข้ามรุ่น ไว้ในแผนฯ อย่างชัดเจน ซึ่งมีอยู่ราว 6 แสนครอบครัว ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจึงต่อยอดศึกษาหาความเข้าใจและอธิบายกับดักการส่งต่อความยากจนข้ามรุ่นที่ดำรงอยู่เนื่องจากสาเหตุอะไร เบื้องต้นงานวิจัยที่ค้นพบในปีแรก สามารถสะท้อนลักษณะของความจนที่ถูกสร้างขึ้นมาจากเงื่อนไข นโยบายทางสังคมภายใต้ระบบทุนนิยม ที่ทุกคนอยากใช้ทรัพยากร แต่เข้าไม่ถึง กลายเป็นกับดักความยากจนถูกส่งต่อจากรุ่นพ่อแม่สู่รุ่นลูก  

“ปรากฎการณ์ความจนที่คงอยู่ เราไม่เคยสืบต่อว่าอะไรที่ทำให้คนจนยังอยู่ ลูกหลานมองหาโอกาสยากในการข้ามความจนข้ามรุ่น ตามนิยามของรัฐ และดำรงอยู่ภายใต้โครงสร้างสังคม ทั้งกฎหมาย นโยบาย กฎระเบียบของสังคม งานวิจัยพบว่า ความยากจนเป็นโครงสร้างใหญ่ ที่เหนี่ยวรั้ง ถ่วง ไม่สามารถหลุดได้ ถูกกดทับกระทำ ทางออกต้องแก้ถึงรากถึงโคน ตัดวงจรข้ามรุ่น”

รศ.กนกวรรณ มะโนรมย์ หัวหน้าคณะโครงการวิจัย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

สำหรับโครงการนี้ ศึกษาต่อเนื่อง 3 ปี ซึ่งปีนี้เป็นปีแรก ศึกษาครอบคลุมหลายช่วงวัยใน 5 พื้นที่ 5 เรื่อง ได้แก่ ภาวะความยากจนข้ามรุ่นของผู้หญิงในพื้นที่ชุมชนประมงขนาดเล็กในบริบทสถานการณ์ ภัยพิบัติจังหวัดปัตตานีประเทศไทยรอคอยข้ามรุ่น: มานุษยวิทยาว่าด้วยเวลาที่รอคอยของคนยากจนกับนโยบายการศึกษาของไทยภูผายอดด้วน: “กับดัก”ความยากจนจากการต่อสู้กับทุนอันยาวนาน ของกลุ่มคัดค้านเหมืองแร่หินดงมะไฟ, “เกษตรกร” วาทกรรรมความจนและการเปลี่ยนผ่านความหมายมองจากนโยบายรัฐ , ความยากจนในแผ่นดินสีแดง: สองทศวรรษแห่งการพรากสิทธิ์ในที่ดินกับโอกาสที่สูญเสีย สู่ความยากจนข้ามรุ่นในอำนาจเจริญ 

นอกจากการอธิบายความยากจนข้ามรุ่นในงานวิชาการแล้ว เป้าหมายของการศึกษาครั้งนี้ยังต้องการข้อเสนอในเชิงนโยบาย โดยรศ.กนกวรรณ บอกว่า ที่ผ่านมาทุกพรรคการเมืองให้ความสำคัญกับความยากจนโดยทั่วไป ไม่ได้ให้ความชัดเจนกับการแก้ไขปัญหาความจนข้ามรุ่น นโยบายทุกพรรคการเมือง ไม่ได้ตัดวงจรของความยากจน การตั้งมาตรฐานขั้นต่ำเกินไป เช่น เส้นความยากจนที่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน ทำให้ความยากจนและความจนข้ามรุ่นอยู่อย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันนโยบายพรรคการเมืองได้อำพรางความยากจนไว้อย่างเดิม เนื่องจากไม่ได้เน้นความรุนแรง เช่น การอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้, การเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี, การไม่มีบัตรประชาชน, การมีสถานะไม่ได้ลงทะเบียนโครงการสนับสนุนของรัฐ หรือกลุ่มคนที่เห็นต่างจากรัฐเป็นต้น นอกจากนี้นโยบายสร้างกับดักความยากจนผ่านหน้าการพัฒนา เช่น การสร้างเขื่อนเศรษฐกิจในกรอบ BCG, เขตเศรษฐกิจพิเศษ, นโยบายเหมืองแร่กลางผืนป่า ทำให้คนจนที่ไม่มีศักยภาพถูกผลักให้ตกหลุมพราง หรือ กำจัดนวัตกรรมการพัฒนา

“นโยบายที่ผ่านมาเลี้ยงไข้ประชาชน เป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้นไม่ยั่งยืน เช่น การใช้งบประมาณจำนวนมากไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น, บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, บัตรสวัสดิการประชารัฐ, โครงการคนละครึ่ง, เราเที่ยวด้วยกัน, นโยบายที่ผ่านมาใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล ถึง 4 ทิศทาง เช่น งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ และผลกระทบโควิด-19 ถูกนำไปใช้สร้างถนนปลูกป่าโครงการเกษตรขนาดใหญ่” 

จี้พรรคการเมือง จัดนโยบายแก้จนข้ามรุ่นครบวงจร

รศ.กนกวรรณ ยังบอกถึง ข้อเสนอเบื้องต้นจากทีมนักวิจัยฯ คือ นโยบายของพรรคการเมือง ต้องไม่ละเลยคนจนข้ามรุ่น เพราะคนกลุ่มนี้มักถูกละเลยจากนโยบายรัฐ นับตั้งแต่แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 พรรคการเมืองต้องมีนโยบายที่แก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่นแบบครบวงจรรอบด้าน ทั้งมิติเชิงลึกและกว้างออกแบบนโยบายสอดคล้องกับพื้นที่และกรณีเฉพาะ  

“ด้านการศึกษาต้องมีนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพ่อแม่ Gen Y ควบคู่กับการพัฒนาเด็กการศึกษาภาคบังคับฟรีถึงมัธยมศึกษาและช่วยการพัฒนาเศรษฐกิจครัวเรือนไปพร้อมๆกันเพื่อลดตับวงจรปัญหาความจนข้ามรุ่น”

ขณะที่ ด้านการเกษตร เน้นนโยบายที่ให้ความสำคัญกับครัวเรือนเกษตรไร้ที่ดินหรือมีที่ดินขนาดเล็กทำให้คนกลุ่มนี้ไม่เข้าเกณฑ์การช่วยเหลือหรือการเข้าถึงโครงการพัฒนาด้านการเกษตรของรัฐเช่นโคกระบือโคกหนองนาโซล่าฟาร์มการใช้ประโยชน์จากที่ดินสาธารณะ และการบูรณาการนโยบายร่วมกันเช่นเกษตรการศึกษาและสวัสดิการสังคม 

‘คนจนเรื้อรัง’ เมื่อรุ่นพ่อแม่ยังไม่หยุดจน

สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยเพื่อการพัฒนาอย่างทั่วถึง TDRI กล่าวว่า เรื่องเล่าผ่านงานวิจัยหลายชิ้น หากเทียบกับเมื่อ 30 ปีก่อน ยุคนั้นจะมีเรื่องราวอีกแบบหนึ่ง คือคนจนและหายจน​ แต่ตอนหลัง​ เห็นว่าลำบาก เวลาผ่านไปก็ไม่ได้ดีขึ้น ลูกหลานยังคงยากจน ที่เป็นเช่นนั้น เพราะเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างการพัฒนา ในระยะแรกอาจจะประสบความสำเร็จ แต่ตอนหลังโครงสร้างทางสังคมทางเศรษฐกิจก็มีการปรับเปลี่ยนไป

“นโยบายตามไม่ทัน ตอนนี้อาจจะต้องใช้นโยบายลักษณะรายบุคคลหรือมุ่งเป้า ไปดูทีละครอบครัว แต่ต้องทำงานแบบบูรณาการหลายหน่วยงาน แน่นอนคงต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า คนจนคงไม่หมดไปอย่างรวดเร็ว และปัจจุบันก็อาจจะไม่ใช่คนจนข้ามรุ่น แต่เป็นคนจนเรื้อรัง คือพ่อแม่ในยุคนี้ที่ยังไม่หยุดจน

ผอ.วิจัยเพื่อการพัฒนาอย่างทั่วถึง TDRI อธิบายเพิ่มเติมว่า การเป็นคนจนเรื้อรัง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายที่ทำให้คนจนลงจากเคสกรณีศึกษาต่างๆ และก็มีบางนโยบายที่เหมือนดีแต่ละเลยคนบางกลุ่ม  ข้อเสนอของ ดร.สมชาย เห็นด้วยกับการวางแผนแก้ปัญหารายครอบครัว หรือ Case Manager ซึ่งกลไกของรัฐอาจทำได้ไม่ดีนัก ต้องอาศัยการมีส่วนของชุมชน ซึ่งมีความรู้จักใกล้ชิด 

แต่ รศ.กนกวรรณ มองว่า การแก้ปัญหาแบบพุ่งเป้าคนจนโดยใช้โมเดลจีน รัฐบาลนี้ให้ทุนกับมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค มีการทำข้อมูลออกมา ตอบได้ว่าคนจนอยู่ที่ไหน เพื่อให้แก้ปัญหาเป็นรายครัวเรือน แต่ความจนไม่ได้แก้ไขได้ง่าย ๆ ต้องมีทรัพยากรที่ลงไปให้เพียงพอ เช่น มีการตลาด การฝึกทักษะ ต้องเข้าถึงให้ทรัพยากรที่จะไปให้เขาเข้าถึงที่ดิน แหล่งน้ำ 

“ข้อดีอย่างหนึ่งคือ TPMAP มีข้อมูล และมีเห็นความพยายามที่จะจดทะเบียนคนจนซึ่งก็จะเป็นการคัดกรองกลุ่มคนที่ต้องได้รับการช่วยเหลือพอสมควร แต่การคัดกรองคนจนก็มีความซับซ้อน และสิ่งสำคัญคือรัฐต้องทุ่มเททรัพยากร ต้องเข้ามาเพื่อสนับสนุนให้แก้ปัญหาความจนดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นด้วย”

มนทิรา เข็มทอง ผู้อำนวยการสถาบันการพัฒนาชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน ระบุว่า เวลานี้มีฐานข้อมูลตั้งตนทำงานจาก TPMAP ซึ่งได้ข้อมูลมาจากการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการของรัฐ และข้อมูลพื้นที่ฐานจากการสำรวจของหน่วยงานท้องถิ่นทุกปี คือ ข้อมูลจำเป็นพื้นฐาน หรือ จปฐ. ภายใต้การรวมมือของทุกภาคส่วนซึ่งพบตัวเลขระบุ ว่า 6 แสนครอบครัว ที่เป็นคนจนข้ามรุ่นตามเกณฑ์ ซึ่งหน่วยงานจะเข้าไปทำงานเป็นรายกรณี

“งานวิจัยที่ไปเจอ เขาอยู่ในระบบหรือเปล่า รัฐบาลจัดสรรเงินให้จัดเก็บข้อมูลทุกปี ลงทุนการเก็บข้อมูลให้ครอบคลุม จะเอาไปทำงานปีนี้  ถ้าไม่หมด ก็ทำปีหน้า เราเดินมาถูกทาง ขออย่าอคติ มองอย่างเป็นธรรม”

ขณะที่ ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอว่า แม้การทำงานบนฐานข้อมูลชี้เป้าจาก TPMAP ยังเชื่อว่า เป้าอาจจะเคลื่อนและเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ระบบของรัฐจำเป็นต้องมีตัวช่วย 

“การแก้ปัญหาคนจน ต้องไม่ใช่ความรู้สำเร็จรูป ไม่ใช่ระบบรราชการเจ้าของเรื่องเท่านั้น มันต้องเป็นโจทย์สังคมที่ต้องร่วมกันถก คนจนที่เราไม่รู้จักคราหน้าตาคือใคร มีหลายกรณีที่โผล่มา อย่าคิดว่าเรารู้ว่าหมดแล้วว่าคนจนอยู่ที่ไหน คิดว่าแผนที่ช่วยได้หมด มีการปรุงแต่งสถิติสามารถมารายงานได้ขนาดไหน “ 

ติงกระบวนการแก้จน ยิ่งสร้างคนจนแบบใหม่

ขณะที่ รศ.ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งคำถามว่า ทำไมคนจนยังเรื้อรัง ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลแก้ปัญหาแก้นจนมาตลอด ยิ่งสร้างนโยบายแก้จนมากเท่าไหร่ ยิ่งมีคนจนกลุ่มใหม่เพิ่มขึ้นเท่านั้น ด้วยกระบวนการแก้จน ได้สร้างคนจนแบบใหม่ อาจมีคนอยู่นอกเหนือการรับรู้ของฐานข้อมูล การสร้างมาตรการที่ไม่ตรงเป้า เข้าใจกรอบรัฐ ไม่ใช่ไม่หวังดี แต่ประเด็นต้องมองความเป็นมนุษย์ครอบคลุมแค่ไหน ความยากจนไม่ใช่แค่รายได้ การศึกษา ภาวะทุพโภชนาการ หรือมากกว่านั้นหรือไม่ เช่น ศักดิ์ศรีความเป็นนุษย์ 

“ที่ผ่านมาทำไมปัญหาการเข้าถึงสาธารณสุขถึงเบาบางลง เพราะเรามีสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ในเชิงนโยบายเราจึงต้องมีการพูดถึงสวัดิการขั้นพื้นฐานด้านอื่นๆ จริงๆ หรือไม่  เรายังต้องคิดถึงสวัสดิการอะไรอีกที่เราจะทำ เช่นการตัดวงจรข้ามรุ่น คนรุ่นใหม่ เติบโตมีชีวิตของเขาเองโดยไม่ต้องแบกคนข้างหลัง หน้าที่รัฐมาช่วยได้แบบเจาะจง ร้ายแรง เร่งด่วน “ 

พส. ย้ำหลักการ ทำงานเร็ว เข้าถึงข้อมูล สร้างความเชื่อใจ สู่การแก้จน

ด้าน กิตติ อินทรกุล รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ระบุว่า มีหลายกรมทำงานคุณภาพชีวิตครัวเรือนเปราะบาง ซึ่งได้ข้อมูลมาจากสภาพัฒน์ เช่นกัน และยังมีเกณฑ์อื่น ๆ ที่นำมาใช้เพิ่มเติมวิเคราะห์ความเปราะบาง เช่น การมีเด็กแรกเกิด 0-6 ปี ในครอบครัว คนพิการ ผู้สูงอายุ รายได้ต่ำกว่าแสน เป็นต้น หลักให้การช่วยเหลือ เริ่มต้นมีเงินช่วยเฉพาะหน้า เน้นทำงานเร็ว เก็บข้อมูลถึงบ้านทำงานลงพื้นที่หลายครั้ง สร้างความเชื่อใจผ่านอาสาสมัคร เก็บข้อมูลต่อเนื่อง เริ่มวางแผนแก้ปัญหาเคสจากการเริ่มที่ไว้ใจ มีปัญหาอะไรแก้ตรงตามที่ต้องการ มีผู้จัดการรายกรณี ทำงานร่วมกับสถาบันศึกษา ท้องถิ่น

รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ยังเสนอให้เพิ่มการเข้าถึงการศึกษาเพื่อขยับเลื่อนฐานะ จะทำอย่างไร ให้ลูกคนจน อยู่ในระบบการศึกษาได้นานที่สุด เมื่อไปดูค่าใช้จ่ายในครัวเรือนสูงมากสำหรับการสร้างคุณภาพชีวิตให้ดี  

“เราต้องเตรียมคุณภาพของเด็กตั้งแต่ในท้อง คนจนจะมีเงินขนาดไหน เมื่อต้องใช้เงินมาก รัฐต้องมีการพัฒนาทักษะฝีมือ ตอบโจทย์หลักสูตรอบรม ถ้าเขาสนใจก็เริ่มต้นตามที่เขาสนใจ”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active