ภาคีเครือข่าย เตรียมขอขยับเงินอุดหนุนเด็ก 0-6 ปี รายละ 3,000 บาท/เดือน ขยายเวลาเปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้สอดคล้องกับเวลาพ่อแม่
วันนี้ (14 ม.ค. 2566) คณะทำงานขับเคลื่อนสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า 341 องค์กร มหาวิทยาลัยรังสิต และภาคีเครือข่าย ได้แถลงการณ์วันเด็กแห่งชาติ ในหัวข้อ “อนาคตของหนู อยู่ที่สวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า” ระบุว่า รัฐต้องสร้างระบบสวัสดิการสังคม ที่ต้องลดความเหลื่อมล้ำ ให้ก้าวผ่านความยากจนข้ามรุ่น และหยุดวิกฤตด้วยการสร้างอนาคตให้เด็กเล็กทุกคนบนแผ่นดินไทย ตั้งแต่ครรภ์มารดาถึง 6 ปี ให้สามารถเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ มีพัฒนาการทางร่างกายและสติปัญญา เพื่ออนาคตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ
อภันตรี เจริญศักดิ์ รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า เงินอุดหนุนเด็ก 0-6 ปี รายละ 600 บาท/เดือน แบบมีเงื่อนไข ทำให้เด็กได้รับการสนับสนุนไม่ครอบคลุม ต้องการผลักดันให้เป็นเงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้า เพราะจำนวน 600 บาท/เดือนก็ไม่เพียงพอ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก แรงงานต้องเสียทั้งเงินภาษี ทั้งประกันสังคม เราอยากจะขยับตัวเลขให้เป็น 3,000 บาท/เดือน
เชษฐา มั่นคง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก กล่าวว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีข้อสะท้อนว่าอยากให้ปรับปรุงเรื่องของช่วงเวลาในการให้บริการโดยขยายจาก 8.00-15.00 น. เวลาเดิม เนื่องจากพ่อแม่ที่ติดงานอยู่ยังไม่สามารถกลับมาดูแลลูกได้ทัน ขณะเดียวกัน ถ้าหากมีการขยายเวลาบริการแล้ว ก็ควรจะต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ดูแลที่เพียงพอเหมาะสมด้วย
วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย บอกว่า รัฐบาลได้เคยหาเสียงเรื่องนโยบายมารดาประชารัฐ จะให้เงินสวัสดิการแม่ระหว่างตั้งครรภ์ 3,000 บาทถ้วนหน้า แต่ 4 ปีผ่านมาครบวาระ เรื่องนี้กลับไม่เกิดขึ้น รัฐไม่ปฏิบัติตามที่เคยหาเสียงไว้ ดังนั้นโค้งสุดท้ายก่อนครบวาระ อยากให้ดึงงบประมาณ มาจัดการให้เด็กไทยได้รับงบฯ อย่างถ้วนหน้า
“ปัจจุบันงบอุดหนุนที่รัฐให้ เด็กบางคนก็เข้าไม่ถึง และเราพยายามเรียกร้องให้รัฐ อุดหนุนเงินเด็กตั้งแต่อยู่ในท้อง เพื่อให้เด็กสามารถเติบโตเป็นกำลังสำคัญของประเทศนี้ได้ เพราะค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมีราคาเพิ่มขึ้นมาก จนทำให้รายได้เดิมไม่เพียงพอ สำหรับศูนย์เด็กเล็ก ตอนนี้ก็ไม่เพียงพอ บางแห่งมีครูน้อยเกินกว่าจะสามารถดูแลเด็กจำนวนมากได้ รัฐส่วนกลางและท้องถิ่นควรร่วมมือกันต้องสนับสนุนเรื่องนี้ เพื่อให้มีศักยภาพในการพัฒนาการเรียนรู้ที่มีคุณภาพให้กับเด็กๆ”
หนูเกณ อินทจันทร์ ตัวแทนเครือข่ายสลัมสี่ภาค
สำหรับการผลักดันของภาคประชาสังคมจนรัฐบาลให้เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดนั้น มีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2559 และมีการขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ซึ่งได้รับเงินอุดหนุนเด็กอายุ 0 – 6 ปี รายละ 600 บาท/เดือน แต่ยังกำหนดเฉพาะกลุ่มเป้าหมายในครอบครัวยากจนรายได้ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี ทั้งที่มีมติคณะกรรมการส่งเสริมเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช) ที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีหลายกระทรวงและผู้ทรงคุณวุฒิร่วมด้วย ได้มีมติให้รัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 0-6 ปี เดือนละ 600 บาท ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่จัดงบประมาณให้ ปัจจุบันจึงมีเด็กเล็กได้รับเงินอุดหนุน 600 บาทเพียง 2.2 ล้านคน ขณะที่จากการศึกษาของ TDRI พบว่ามีเด็กเล็กตกหล่นไม่ได้รับเงินอุดหนุนร้อยละ 30 ของครัวเรือนที่เข้าข่ายมีสิทธิรับเงินอุดหนุน ซึ่งมีข้อสรุปชัดเจนจากการศึกษาทั่วโลก พบว่าการให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าเท่านั้นจึงจะสามารถขจัดการตกหล่นได้
ผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความพอเพียงของเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็ก เช่น ค่านม อาหาร เสื้อผ้า ค่าเดินทาง พาไปเที่ยว ของเล่นเพื่อการเรียนรู้ สภาพที่อยู่อาศัยดี ไม่เบียดเสียดแออัด ฯลฯ ครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยจำนวน 3,373 บาท ขณะที่การสำรวจจากพ่อแม่ คนเลี้ยงดูเด็กเล็กในชีวิตจริงของคณะทำงานขับเคลื่อนสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ซึ่งมีคณะทำงานอยู่ทุกภูมิภาค ยิ่งชัดเจนว่ามีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นพื้นฐานต่อการเลี้ยงดูเด็กเล็ก 1 คน มากกว่า 3,000 บาท ทั้งสิ้น
นอกจากนี้ผลการศึกษาวิจัยของวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต พบว่า เด็กเล็ก 0-6 ปี ที่มีมากกว่า 4.2 ล้านคน มีโอกาสได้เข้าเรียนรู้ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาลที่รัฐสนับสนุนครูพี่เลี้ยง อาหารกลางวัน นม เพียงประมาณ 2.4 ล้านคน อีกทั้งมีข้อจำกัดที่รับเด็กส่วนใหญ่ประมาณ 2 ขวบครึ่ง เวลาเปิดปิดเป็นเวลาราชการ จึงยังเป็นอุปสรรคต่อครอบครัวที่พ่อแม่ทำงานทั้งคู่ ครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือครอบครัวแหว่งกลางที่ต้องให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงดูลูกหลาน เด็กเล็กจำนวนมากขาดโอกาสที่จะได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ ขาดโอกาสได้รับการพัฒนา ดูแล และเรียนรู้ ในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยที่มีจำนวนจำกัด และพบว่ามีจำนวนเด็กเล็กที่ตกหล่นจากระบบการพัฒนาเด็กปฐมวัยมากกว่า 2 ล้านคน
ทั้งนี้ แถลงการณ์วันเด็กแห่งชาติ ในหัวข้อ “อนาคตของหนู อยู่ที่สวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า” ประกอบด้วยข้อเสนอ 3 ข้อสำคัญ ดังนี้
1. เด็กเล็กทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยต้องได้รับสวัสดิการถ้วนหน้าและเท่าเทียม ได้รับการคุ้มครองทางสังคมจากรัฐ เพื่อการเติบโตอย่างเต็มศักยภาพตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์ – อายุ 6 ปี
2. รัฐต้องให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าคนละ 3,000 บาทต่อเดือน ตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์ – อายุ 6 ปี เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นขั้นพื้นฐานในการเลี้ยงดูเด็กเล็ก
3. รัฐต้องมีนโยบายจริงจังในการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมกรุงเทพมหานคร ในการรับผิดชอบจัดสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ทั้งเงินอุดหนุนเด็กเล็ก การจัดสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยให้ทั่วถึงและพัฒนานโยบายให้สามารถรับเด็กเล็กตั้งแต่ 6 เดือน โดยมีความหลากหลาย สอดคล้องกับวิถีชีวิตการทำงานของพ่อแม่หรือผู้ปกครอง
“เด็กเล็กตั้งแต่ในครรภ์ – 6 ปี เป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญที่สุดในการวางรากฐานเพื่อการเจริญเติบโตอย่างแข็งแกร่งทั้งทางร่างกายและสมองของเด็กทุกคน ตั้งแต่อยู่ในครรภ์แม่ ต้องได้รับการดูแลเพื่อให้เกิดมาสมบูรณ์แข็งแรง หากได้รับการเลี้ยงดูอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม จะส่งผลต่อพัฒนาการทางกายภาพ สติปัญญา และอารมณ์ … กลุ่มคนในแต่ละช่วงวัยต้องมีระบบความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอเหมาะสม เพื่อให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร”
สุนี ไชยรส ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า
งานวันเด็กแห่งชาติ ณ สำนักงานโครงการระบบรถไฟฟ้าการรถไฟแห่งประเทศไทย เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ร่วมจัดโดย คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ภาคีเครือข่าย และ 6 ชุมชนรอบมักกะสัน ภายใต้แนวคิด “มีความสุขสนุกกับการเล่น” โดยมีกิจกรรมการแจกของรางวัลสำหรับเด็กเล็กและเด็กโต เวทีเสวนา “วันเด็ก… เสียงจากชุมชนเพื่อคุณภาพเด็กถ้วนหน้า” และแถลงการณ์ข้อเรียกร้อง “อนาคตของหนู อยู่ที่สวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า”