เสนอรัฐ กำหนด ระบบหลักประกันรายได้ผู้สูงอายุ เป็น ‘วาระแห่งชาติ’

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ห่วง อนาคตแรงงานนอกระบบ 20 ล้านคน เป็นระเบิดเวลาสังคมสูงวัย เผชิญความเหลื่อมล้ำ เข้าไม่ถึงการออม บริการสุขภาพ เสี่ยงเป็นกลุ่มเปราะบางในชีวิตบั้นปลาย

วันนี้ (16 ธ.ค.65) สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีพิจารณาข้อเสนอนโยบายสาธารณะ ร่างมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 (ร่าง 2) เรื่อง “หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ” โดยมีตัวแทนจากภาครัฐ นักวิชาการ ภาคประชาชน ร่วมพิจารณา แก้ไขในรายประเด็น 

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์อย่างเต็มตัว โดยมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี จำนวนกว่า 13 ล้านคน หรือคิดเป็น 18% ของประชากรทั้งประเทศ การพูดถึงหลักประกันรายได้ของผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องสำคัญ คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จึงได้บรรจุประเด็นนี้เข้าสู่วาระการพิจารณาของ สช. ในปีนี้ โดยเริ่มต้นจากการตั้งคณะทำงานในการศึกษา จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น เพื่อพัฒนาหลักประกันรายได้เมื่อเข้าสูงวัยสูงอายุ ตั้งแต่ มิ.ย.65  และจะเข้าสู่การหาฉันทามติ พร้อมกับการสร้างพันธะสัญญา ในวันที่ 21-22 ธ.ค.65 ภายใต้แนวคิดมุ่งสู่ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาส และความหวังประเทศไทย 

“วิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมาเราเห็นผู้สูงอายุที่สูญเสียรายได้จำนวนมาก และในอนาคตอันใกล้นี้มีการทำนายว่า จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นปีละ 1 ล้านคน ต่อเนื่อง 20 ปี การร่วมกันพัฒนาระบบเพื่อเตรียมพร้อมรองรับชีวิตในอนาคต ภารกิจนี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องของคนสูงวัยในปัจจุบันเท่านั้น จึงมีความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องมาช่วยกัน”

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ

ผศ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการ คสช. เลขานุการคณะทำงานพัฒนาประเด็นฯ กล่าวเพิ่มเติมถึงสถานการณ์สังคมสูงวัย ระบุว่า ในปี 63 จำนวนของคนยากจนเพิ่มขึ้นจาก 4.3 ล้านคน เป็น 4.8 ล้านคน เศรษฐกิจหดตัว 6.1 % ซึ่งกลุ่มผู้สูงอายุเป็นประชากรที่มีอัตราความยากจนมากที่สุด โดยผู้สูงอายุที่ยากจนถึง 11 % ของจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด คือ มีค่าใช้จ่ายครัวเรือนเฉลี่ยไม่ถึง 3,000 บาท/คน/เดือนและยังได้รับผลกระทบสูงในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมที่เกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำของประเทศโดยมีถึง 36% ของผู้สูงอายุที่สูญเสียรายได้จากการขาดอาชีพ พื้นที่ค้าขาย หรือถูกลดเงินเดือน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อยู่ในเมือง

ในทางกลับกันประชากรวัยแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศไทยอยู่ในภาคการจ้างงานแบบไม่เป็นทางการซึ่งแรงงานกลุ่มนี้มักเข้าไม่ถึงระบบประกันสังคมในปัจจุบัน และไม่มีความมั่นคงทางรายได้เมื่อชราภาพความมั่นคงด้านรายได้จึงเป็นความท้าทายภายใต้บริบทสังคมสูงวัย สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของไทย ตลอดจนแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและไทยในปี 65  จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย มีความผันผวน ไม่แน่นอนสูงซึ่งต้องเตรียมการรับมือให้คนไทยมีหลักประกันความมั่นคงในชีวิตสามารถดำรงชีพผ่านพ้นวิกฤตต่าง ๆ ไปได้  

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีประสบการณ์บทเรียนความสำเร็จในการจัดทำระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เป็นสิทธิด้านสุขภาพแบบถ้วนหน้า ที่ผ่านการดำเนินการและพัฒนาระบบที่เกี่ยวข้องมาแล้วมากกว่า 20 ปี ช่วยลดความยากจนจากค่ารักษาพยาบาล รวมถึงป้องกันการเกิดภาวะล้มละลายจากภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ สนับสนุนให้หลักประกันสุขภาพของประชาชนมีความครอบคลุม คุณภาพ ประสิทธิภาพและความยั่งยืน  และมีรูปธรรมของกองทุนย่อยภายใต้การบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน 

“เรามีความจำเป็นและมีความพร้อมที่จะจัดให้มีระบบหลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ที่คนในสังคมทุกช่วงวัย ทุกสาขาอาชีพจากทุกภาคส่วนจะต้องมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของ และควรมีนโยบายสาธารณะเพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันดำเนินการและขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม และเกิดผลลัพธ์ที่ชัดเจนต่อไป”

ผศ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี

สำหรับ กรอบทิศทางนโยบาย (Policy Statement) หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบหลักที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบและต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน ได้แก่ 

(1) การพัฒนาผลิตภาพประชากร การมีงานทำ และ มีรายได้จากการทำงานที่เหมาะสมตลอดช่วงวัย 

(2) การออมระยะยาวเพื่อยามชราภาพที่เชื่อมโยงทั้งการออมของปัจเจกบุคคลและการออมรวมหมู่ ที่ครอบคลุม เพียงพอ และยั่งยืน 

(3) เงินอุดหนุนและบริการสังคมที่จำเป็นจากรัฐ 

(4) การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพโดยเฉพาะบริการสุขภาพระยะยาว (Long-term care) 

(5) การดูแลโดยครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่น

ทั้งนี้ ยังเห็นว่าระบบหลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุนี้ ควรกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติที่มีหน่วยงานรับผิดชอบ และเอื้อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อให้เป็นโยบายสาธารณะที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเห็นผลรูปธรรม โดยมีกลไกระดับชาติทำหน้าที่บูรณาการระบบย่อยและขับเคลื่อนระบบใหญ่ เชื่อมโยงกับกลไกระดับพื้นที่เพื่อการจัดสรรและบริหารจัดการทรัพยากรแบบมีส่วนร่วม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการสร้างความเป็นธรรม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในวัยสูงอายุของประชาชนทุกคน

นอกจากข้อเสนอนโยบายสาธารณะ ร่างมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง “หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ” ยังมีร่างมติฯ “การขับเคลื่อนแพลตฟอร์มเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลสถิติการออกกำลังกาย และการเล่น กีฬาของประชาชน (Calories Credit Challenge: CCC) ภายใต้แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) และ “การขจัดความยากจนตามโมเดล BCG: การยกระดับเศรษฐกิจของครัวเรือน” เข้าพิจารณาพร้อมกันในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทย” ระหว่างวันที่ 21-22 ธ.ค.65 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active