‘หมอประเสริฐ’ แนะรัฐ “เพิ่มสวัสดิการพ่อแม่” กระตุ้นคนไทยอยากมีลูก

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ สะท้อน เลี้ยงลูกในโลกยุคใหม่ไม่ใช่เรื่องปัจเจก ภาคนโยบายควรปรับวิธีคิดรัฐรวมศูนย์ จัดสวัสดิการประชาชน รองรับสังคมสูงวัย เด็กเกิดน้อยลง

สวัสดิการ

เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2565 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานปาฐกถาพิเศษป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 18 โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์และนักเขียน ได้แสดงปาฐกถาเรื่อง “เลี้ยงลูกในโลกใหม่ พัฒนาการเด็ก ประชาธิปไตย และอนาคตใหม่ของทุกคน”

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เล่าว่า ท่ามกลางสังคมสูงวัยและเด็กเกิดน้อยลง การเลี้ยงเด็กคนหนึ่งให้เติบโตอย่างมีคุณภาพในยุคปัจจุบันไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล รัฐและสังคมมีส่วนสำคัญในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่คนรุ่นใหม่

“คนรุ่นใหม่วันนี้จะมีชีวิตอีกนาน เขาควรมีความสามารถกำหนดเป้าหมาย และมีสิทธิกับเสียงในการกำหนดเป้าหมาย ในขณะที่คนสูงอายุวันนี้ต้องจากไปก่อนแน่ ๆ คนรุ่นใหม่วันนี้เกิดและเจริญเติบโตมากับอินเทอร์เน็ตและสมาร์ตโฟน ในขณะที่คนสูงอายุมีสมองที่ทำงานช้ากว่าด้วยข้อมูลที่น้อยกว่า”

ประเสริฐ เลี้ยงลูก

นพ.ประเสริฐ ระบุว่า ข้อจำกัดในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของไทย คือการทำงานรัฐรวมศูนย์ เสนอผู้ทำงานเชิงนโยบายปรับวิธีคิดจัดสวัสดิการให้กับประชาชนด้วยการกระจายอำนาจ โดยอธิบายแนวคิดผ่าน 3 คำสำคัญ คือ พัฒนาการเป็นลำดับชั้น เวลาวิกฤต และหน้าที่ สำหรับสนับสนุนครอบครัวและการศึกษาให้เด็กรุ่นใหม่

พัฒนาการเป็นลำดับชั้น 

นพ.ประเสริฐ อธิบายฉากทัศน์พัฒนาการเด็ก 5 ช่วงวัย ได้แก่ ชั้นที่ 1 คือ 0-1 ปี ,ชั้นที่ 2 คือ 2-3 ปี, ชั้นที่ 3 คือ 4-7 ปี, ชั้นที่ 4 คือ 9 ปี และ ชั้นที่ 5 คือ 15 ปี โดยกล่าวว่าถ้าครอบครัวและสังคมช่วยกันสร้างรากฐานชั้นต้น ๆ ได้แข็งแรง พัฒนาการในช่วงวัยต่อไปจะสร้างคุณภาพได้ง่ายขึ้นและใช้เวลาน้อยลง

“ผมจะไม่พูดว่าถ้าเราลงทุนในชั้นที่หนึ่งเยอะต่อไปเราจะลงทุนน้อยลง เพราะว่าประเทศเราลงทุนตลอดเวลา พ่อแม่จ่ายไปเรื่อย ๆ จนเด็กโต แต่ผมจะบอกว่าถ้าเด็กเรามี EF (Executive Function) ที่ดี รู้จักตัวเอง เขาจะทำมาหากินเป็น จะมีเงินเป็นของตัวเอง เขาจะมารบกวนพวกเราน้อยลง เงินก็จะไหลเข้าสู่ระบบของบ้านมาก นี่คือลักษณะพัฒนาการที่มีลำดับชั้น”

เวลาวิกฤต

นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า เวลาวิกฤต เป็นคำศัพท์ในเชิงจิตวิทยาพัฒนาการ หมายถึงเวลาที่ต้องทำอะไรบางอย่าง ถ้าไม่ทำหรือล่วงเลยไป จะกลับมาแก้ไขไม่ได้ เช่น ช่วง 1 ปีแรก ลูกควรได้อยู่ใกล้ชิดแม่ตลอด โดยเฉพาะการดื่มนมแม่ต่อเนื่อง 6 เดือน หากผ่านไปแล้วจะผ่านไปเลย

หน้าที่

นพ.ประเสริฐ บอกว่า ทุกคนมีหน้าที่สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับตนเองและสังคม หากยึดตามพัฒนาการลำดับชั้น แม่ตั้งครรภ์ควรมีโอกาสสร้างสุขภาพจิตและเข้าถึงโภชนาการที่ดี เพื่อสร้างทารกที่แข็งแรง หลังคลอด 6 เดือนแรก ได้ทำหน้าที่แม่ที่มีอยู่จริงในสายสัมพันธ์ การเป็นแม่ที่มีอยู่จริง ยังสร้างได้ด้วยการอ่านนิทานให้ลูกฟังเพื่อฝึกความจำใช้งาน จากนั้นจนถึง 7 ขวบ เด็กมีหน้าที่เล่น เพราะขยับร่างกายจะช่วยพัฒนาสมองและความคิด ไม่ควรเร่งเรียนเขียนอ่าน พอถึง 9 ขวบ ได้เรียนรู้ทักษะ ซึ่งพวกเขาจะรู้ความชอบและเห็นตัวตนของตัวเองในช่วงเวลาไม่เกิน 15 ปี

“เด็กจะเดินห่างออกไปจากพ่อแม่มากขึ้นเรื่อย ๆ และจะเดินถอยกลับมาน้อยลง เขาจะกลับมาโดยมีสายสัมพันธ์เป็นตัวดึง เด็ก 12 เดือนแรก เขามีหน้าที่ไว้ใจแม่และไว้ใจโลก เราจึงจำเป็นต้องสร้างแม่ที่มีอยู่จริง คำถามก็คือคุณแม่อยู่ที่ไหนใน 6 เดือนแรก วันนี้ผมมีหน้าที่ทำให้ทุกท่านโดยเฉพาะภาคนโยบายเชื่อให้ได้ว่านี่คือเวลาวิกฤต ถ้าประเทศไม่ทำอะไรเวลานี้ผ่านไปแล้วจะผ่านไปเลย”

ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ตั้งคำถามถึงสวัสดิการสร้างรากฐานคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งประชาชนควรได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ไม่ใช่ถูกผลักภาระไว้ที่ครอบครัวเท่านั้น โดยเสนอนโยบายด้านการสร้างเสริมโภชนาการ เข้าถึงนิทาน สนามเด็กเล่น และสวนสาธารณะขนาดใหญ่ ซึ่งมองว่าจะเกิดขึ้นได้ด้วยการกระจายอำนาจและงบประมาณ ดังนี้

1. หนังสือ 

ปัจจุบันหนังสือนิทานมีราคาแพง ควรควบคุมราคาและมีการแจกฟรี นอกจากนี้ควรมีห้องสมุดที่เข้าถึงง่าย สามารถยืมหนังสือได้ครั้งละหลายเล่ม

2. ที่เล่น 

ปัจจุบันยังขาดสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะขนาดใหญ่และไม่มีป้ายห้าม เรื่องนี้ควรเป็นความรับผิดชอบส่วนท้องถิ่น

3. งานบ้าน งานชุมชน

ระบบการศึกษาควรปฏิรูประบบโรงเรียน หลักสูตร และครู เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ทักษะในศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วยทักษะชีวิต ทักษะเรียนรู้ คิดวิพากษ์ ตั้งคำถาม ทำงานเป็นทีม ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าโลกเข้าสู่ยุคไอทีเรียบร้อยแล้ว งานพัฒนาครอบครัวและการศึกษา เป็นการทำงานแข่งกับเวลาก่อนที่ทุกสิ่งทุกอย่างจะถูกดิสรัปต์ (disrupted)

“โรงเรียนควรเป็นของส่วนท้องถิ่น หลักสูตรก็ควรเป็นส่วนท้องถิ่น ครูยิ่งควรเป็นส่วนท้องถิ่น พูดง่าย ๆ ผมซึ่งเป็นประชาชนในท้องถิ่นก็อยากให้คุณให้โทษโรงเรียนได้ ทุกวันนี้ทำไม่ได้ เพราะทุกอย่างเป็นของส่วนกลาง แต่ผมอยากให้คุณครูอยู่ใกล้เรา เป็นคนของเรา มีหลักสูตรที่รับใช้ชุมชนของเรา ถ้าท่านทำการศึกษาเพื่อชุมชน เราจะเป็นผู้ให้โบนัสท่านเอง ไม่ใช่ให้คนอื่นมาให้โบนัส นี่คือการกระจายอำนาจที่เป็นจริง”

ทั้งนี้ งานปาฐกถาพิเศษป๋วย อึ๊งภากรณ์ จัดขึ้นเพื่อรำลึกและเชิดชูเกียรติ ศาสตราจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในฐานะบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานสวัสดิการที่ดีให้กับประชาชนตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ด้วยแนวคิดจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน เริ่มจัดครั้งแรกในปี 2530 ต่อเนื่องทุก ๆ 2 ปี โดยจะคัดเลือกผู้มีผลงานดีเด่นด้านสังคมศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงสังคม เป็นตัวแทนปาฐกถา


ขอบคุณภาพจาก คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม