ไทยพีบีเอส จัดงานเสวนา Home&Hope คนไทยต้องมีบ้าน นำเสนอข้อมูลแนวคิดการแก้ปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย นับถอยหลัง 13 ปี เป้าหมายความมั่นคงในที่อยู่อาศัยของคนไทยทุกคน
วันนี้ (30 ต.ค. 66) ไทยพีบีเอส จัดงานเสวนา “The Visual Talk : Home & Hope คนไทยต้องมีบ้าน” เพื่อให้ 5.79 ล้านครัวเรือนมีที่อยู่อาศัยในปี 2579 ตามที่รัฐบาลได้มีแผนยุทธศาสตร์ชาติระบุว่า ปี 2579 คนไทยต้องมีบ้านนั้น แต่ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กลับพบว่า คนไทย 5.79 ล้านครัวเรือน ยังไม่มีที่อยู่อาศัย และข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานว่า หนี้ครัวเรือนไทย ขยายตัวร้อยละ 11.5 คิดเป็นมูลค่าหนี้ 559,408 บาท/ครัวเรือนซึ่งเป็นความท้าทายสำคัญที่ทำให้คนไทยขาดกำลังซื้อ
วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวในหัวข้อ สิ่งที่หวังจะสร้างฝันการมีบ้านของคนไทย ว่า ปัญหาที่อยู่อาศัยเกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองใหญ่ คนรุ่นใหม่ไม่มีอาชีพ หรือรายได้เพียงพอที่จะมีบ้าน ขณะที่การขยายตัวของเมืองเกิดขึ้นต่อเนื่อง คนต่างจังหวัดเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ มากขึ้น เป็นความท้าทายเรื่องการบริหารจัดการพื้นที่ ที่มีความหนาแน่นสูง จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้คนเช่าบ้านมากกว่าคนซื้อบ้าน เนื่องจากขาดทุนทรัพย์ ซึ่งเป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคม เป็นภารกิจของรัฐที่จะต้องให้การสนับสนุนเพื่อสร้างความมั่นคง เท่าเทียมด้านที่อยู่อาศัย ซึ่งภายในปี 2579 ตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ทุกคนจะต้องมีที่อยู่อาศัย สอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ที่ระบุเป้าหมายที่ 11 คือการทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ มีความครอบคลุม ปลอดภัย ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง และยั่งยืน
“กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีหน่วยงานที่ขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัย คือ การเคหะแห่งชาติ และ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เพื่อสร้างความสุขอย่างยั่งยืน และสุขภาวะทางสังคม โดยที่ผ่านมาสามารถช่วยแก้ปัญหาด้านที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนราว 700,000 ครัวเรือน ทั้งส่วนของการซ่อมแซมบ้าน และการจัดสร้างบ้านราคาย่อมเยา เช่น บ้านสองชั้นราคา 6-8 แสนบาทเท่านั้น เพื่อส่งเสริมให้คนเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้มากขึ้น สำหรับนโยบายบ้านของคนรุ่นใหม่จบใหม่พยายามที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นได้ภายในปีหน้า ซึ่งหน้างานของ พม. มีจำนวนมาก ขณะที่งบประมาณมีจำกัด ในปี 2567 จึงได้ขอให้สำนักงบประมาณ ให้จัดสรรงบฯ เพิ่มเติมเพื่อสอดรับภารกิจที่มีมากมาย”
รศ.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) กล่าวว่า ไทยพีบีเอสปักธงในการเป็นสื่อที่ไม่เพียงแค่นำเสนอข้อมูลข่าวสาร แต่เป็นพื้นที่กลางเพื่อระดมการมีส่วนร่วมหาทางออกให้กับสังคมไทยอย่างสร้างสรรค์ โดยประกาศวาระขับเคลื่อนสังคมไทย ตั้งแต่ปี 2565 เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งปัญหาที่อยู่อาศัยเป็นปัญหาใหญ่ที่กลุ่มคนจนเมือง กลุ่มเปราะบาง ปมปัญหาใหญ่ในการมีบ้านเป็นของตัวเอง ส่งผลกระทบต่อหนี้สิน แหล่งงาน การเข้าถึงขนส่งสาธารณะ การศึกษา และวิกฤตมากขึ้นในคนที่เริ่มทำงานใหม่ ๆ หรือที่ย้ายเข้ามาอาศัยในเมือง ไทยพีบีเอส จึงเปิดประเด็นเรื่องบ้านโดยนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวล สร้างช่องทางให้เข้าถึงข้อมูล มีการระดมความเห็น หาทางออกร่วมกัน และทำงานกับภาคนโนบาย ที่มีกระทรวงพัฒนาสังคมฯ เป็นเจ้าภาพที่สำคัญ ดังที่ประเทศไทยมีหมุดหมาย ในอีก 13 ปี ถ้าร่วมมือกันไทยพีบีเอสพร้อมเป็นพลังผลักดัน ขับเคลื่อนการมีบ้านของคนไทย สำหรับ The Visual เป็นอีกหนึ่งบริการที่จะนำข้อมูลประด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับบ้านสู่แพลตฟอร์มสื่อดิจิทัล เพื่อนำไปสู่การหาทางออกได้
ชัชวาลย์ วัฒนะโชติ หรือ Kim Property ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า นโยบายจำเป็นที่ภาครัฐต้องสนับสนุน เช่น เครดิตที่สหรัฐฯ ถ้าไม่มีเงินก็มีบ้านได้ ถ้ามีการออมเงินทุกปีจะมีคะแนนสะสมเครดิตให้ จ่ายภาษีครบถ้วน เลือกตั้งทุกครั้งจะมีส่วนสะสมคะแนนให้มากขึ้น ทำประกันถูกลง ถ้าจะเช่าบ้านก็จะได้รับเลือกในการให้เช่ามากกว่า และธนาคารจะใช้ในการพิจารณาการคิดดอกเบี้ยด้วย ดังนั้นถ้าจะผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ รัฐควรจะการันตีเรื่องเครดิตของบุคคลได้ เพื่อเปิดโอกาสในการลงทุน จากข้อมูลที่ถูกเพิกเฉยควรถูกนำมาสร้างเครดิตสร้างมูลค่าให้กับบุคคลนั้น ๆ ที่สหรัฐฯ ไม่มีเงินไม่เป็นไร แต่ห้ามเสียเครดิตแค่นั้นเอง ถ้าเครดิตทำให้คนตั้งตัวได้ ทำธุรกิจได้ จะช่วยสร้างเศรษฐกิจมหาศาล ควรจะผลักดันเรื่องนี้ในกับกลุ่มคนรุ่นใหม่เพื่อให้เขาได้เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป ขณะที่ไทยการจะมีเครดิตส่วนใหญ่จะเป็นได้แค่การจับจ่ายใช้สอยซื้อของทั่วไป
นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวถึงผลการวิจัย พฤติกรรมครัวเรือนไทยทางด้านการออม ว่า สามารถแบ่งกลุ่มประชากรออกเป็นกลุ่มที่ดูแลตัวเองได้ มีเงินออมได้ สามารถมีบ้านได้ 15 ล้านครัวเรือน ขณะที่ 5.7 ล้านครัวเรือน มีรายจ่ายที่สูงเกินกว่าความจำเป็น ไม่มีศักยภาพที่จะออมเงินได้ 4.6 ล้านครัวเรือน เป็นกลุ่มที่ต้องมีบ้านได้หากมีวินัยทางการเงิน ที่น่ากังวลคือ 1.2 ล้านครัวเรือน ไม่มีเงินออมและมีรายได้ต่ำ นอกจากนี้วัฒนธรรมของไทยยังมีลักษณะเฉพาะ เช่น อยู่กันแบบครอบครัวใหญ่ ความต้องการที่อยู่อาศัยน้อยกว่า เพราะการอยู่กับพ่อแม่ไม่ใช่เรื่องผิด และการเป็นสังคมสูงวัยที่ลูกต้องดูแลพ่อแม่ พ่อแม่มีลูกน้อยคนทำให้อัตราการมีบ้านต่ำลงด้วย
“บางคนอาจจะบอกว่าบ้านเป็นทรัพย์สินที่ราคาสูงขึ้น แต่ความเป็นจริงเศรษฐกิจโตต่ำ ราคาบ้านโตสูง ถ้าบ้านคุณภาพสูง ราคาเพิ่มขึ้นดี แต่ถ้าบ้านคุณภาพต่ำ คือทำเลไม่ดี ใกล้แหล่งเสื่อมโทรม แทนที่จะราคาสูงขึ้นอาจจะราคาต่ำลง… สำหรับคนที่ไม่มีบ้านจริง ๆ คือคนไร้บ้าน ข้อมูลจาก สสส. มีแค่ 3,000 คน คือต้องอยู่ข้างถนน เมื่อดูนโยบายภาครัฐให้ความช่วยเหลือผ่านโครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง เพื่อให้มีฐานที่ตั้งนำไปสมัครงานต่อได้ คนอีกกลุ่มคือพอที่จะมีศักยภาพในการซื้อบ้านในราคาถูก เช่น โครงการบ้านมั่นคงของรัฐ แต่สิ่งสำคัญคือโลเคชัน เพราะหากอยู่ชานเมืองสาธารณูปโภคไม่ดี ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ทำไมภาครัฐไม่พยายามหาที่เช่าในเมือง ใช้พื้นที่หรือบ้านว่างในเมือง น่าจะทำให้มันแมทช์กัน เพื่อตอบโจทย์ชีวิต อีกเรื่องคือคนชนชั้นกลาง 15 ล้านคน จะไปสู้กับคนรวย ซื้อบ้านราคาแพง หรือจะไปอยู่ที่ไกลปืนเที่ยง แข่งกับคนรายได้น้อย แบบนี้ควรจะมีการจัดเก็บภาษีบ้านของคนชนชั้นสูง เพื่อสนับสนุนให้คนชนชั้นกลางไต่ระดับได้มากขึ้น”
ส่วนภายในงานยังมีบูธบริการให้คำปรึกษาทางการเงิน ได้แก่ การตรวจเครดิตบูโร พบกับตัวแทนธนาคาร/การเคหะแห่งชาติให้บริการแนะนำบ้านราคาถูก ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถอ่านข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาที่อยู่อาศัยเพิ่มเติมในรูปแบบเว็บไซต์ Interactive ได้ที่ https://thevisual.thaipbs.or.th/HomeAndHope