การรถไฟฯให้”เครือข่ายฯ ผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ” เช่าพื้นที่ 7 ไร่ เตรียมขึ้นบ้านมั่นคง เฟสแรก 169 ครัวเรือน สร้างความมั่นคงที่อยู่อาศัยให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง ขณะที่ชาวบ้านบางส่วนยังกังวลพื้นที่ทำกิน และการกู้ยืม
วันนี้ (29 ก.ย. 2567) บริเวณข้างสวนราชเทวีภิรมย์ เวลา 09.00 น. มีกิจกรรมเปิดป้ายชุมชนใหม่ “ชุมชน ชมฟ.ริมบึงมักกะสัน ” การแบ่งปันที่ดินในเมืองเพื่อที่อยู่อาศัยและเมืองของทุกคน โดยภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการ “สิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมือง” และ ภาพถ่ายชุด “คนแบกเมือง” เพื่อสะท้อนภาพการขับเคลื่อนเมืองของชุมชน และคนจนเมือง ในพิธีเปิดป้ายครั้งนี้ มีชุมชนชมฟ. ริมบึงมักกะสัน และเครือข่ายชุมชนริมทางรถไฟหลายจังหวัดมาร่วมแสดงความยินดี รวมถึง อนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร วันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร กรณิช บัวจันทร์ ผู้อำนวยการเขตราชเทวี เฉลิมศรี ระดากุล รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ประธานชมฟ. และตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค, คลองเตย, ขอนแก่น, เมืองย่าโม ร่วมงานในครั้งนี้ด้วย
เชาว์ เกิดอารีย์ ประธานเครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) กล่าวชี้แจงวัตถุประสงค์ ความเป็นมาของโครงการ ชุมชน ชมฟ.ริมบึงมักกะสันว่า จากการเป็นผู้บุกรุกของพื้นที่การรถไฟ ตอนนี้เรามาเป็นผู้บุกเบิก และมีสัญญาเช่ากับการรถไฟเป็นที่เรียบร้อย ในอนาคตจะมีบ้านมั่นคงอยู่ตรงบริเวณริมบึงมักกะสันนี้ โดยโครงการเกิดขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของเครือข่ายชมฟ. และพี่น้องอีกหลายเครือข่ายที่ช่วยกันเรียกร้องเรื่องที่อยู่อาศัย และแบ่งปันพื้นที่กับการรถไฟ ซึ่งการรถไฟก็มีการมีแบ่งที่ดินให้กับชุมชนที่จะย้ายเข้ามา 7 ไร่กว่า
ศานนท์ หวังสร้างบุญ กล่าวว่า ตนขอเป็นตัวแทนของกรุงเทพมหานคร ทั้งผู้ว่าฯ และผู้บริหาร รวมไปถึงผู้อำนวยการเขต ขอแสดงความยินดี เข้าใจว่ากว่าจะมีวันนี้ใช้เวลานานมาก และต้องต่อสู้หลายอย่างเพื่อที่จะได้บ้าน คิดว่าความสำเร็จนี้ถอดบทเรียนได้เยอะมากว่าทางกทม.จะมีบทบาทอย่างไร ที่จะช่วยพี่น้องชุมชนริมทางรถไฟอีกหลายพันหลังที่บ้านยังไม่มั่นคง ก็ขอเป็นกำลังใจและขออยากเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้พี่น้องทุกคนมีบ้านที่มั่นคง
ด้าน เฉลิมศรี ระดากุล รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)บอกกับ The Active ว่า เรื่องการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยที่ดินของการรถไฟ เริ่มในปี 2543 ตอนนั้นชุมชนอยากจะอยู่อย่างมีสถานะ และอยู่อย่างถูกต้องตามกฎหมายถึงไปเสนอต่อการรถไฟเพื่อจะขอเช่าที่ ซึ่งชุมชนที่พร้อมในการขอเช่าตอนนั้นก็เข้ามติของบอร์ดการประชุมของการรถไฟ 61 ชุมชน ทั่วประเทศ เพื่อที่จะให้ชุมชนได้เช่าอยู่อย่างถูกต้อง และมีการปรับระบบการอยู่อาศัย ระบบสาธารณูปโภค ความมั่นคง มีสุขลักษณะที่ดี
ส่วนการเลือกที่ตั้งชุมชนใหม่ บริเวณริมบึงมักกะสัน ชาวบ้านมีการไปเสนอกับทางการรถไฟว่ายินดีที่จะขยับออกจากจุดเดิมที่ได้รับผลกระทบ จึงต้องดูว่าที่ดินรถไฟถ้าอยู่ไม่เกินรัศมี 5 กม. จะมีจุดไหนบ้าง ก็มีการหาหลายที่ ปรากฏว่ามาเจอตรงจุดนี้ ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 7 ไร่ และการรถไฟก็ยินดีที่จะให้เช่า โดยตอนนี้ การรถไฟให้พอช.เช่า แล้วพอช.ก็ให้ชุมชนเช่าต่อ
ตอนนี้ในเฟสแรกมี 169 ครัวเรือนที่เตรียมมาอยู่ แต่ไม่ได้มาหมดทั้งชุมชน เพราะเป็นโครงการเริ่มแรกที่จะทำให้เห็นรูปธรรมว่า ชุมชนยินดีที่จะขยับ และชุมชนก็มีการออมทรัพย์ได้ประมาณ 3 ล้านบาท นอกจากนี้ต้องเป็นชุมชนที่มีความพร้อมที่จะย้ายออกมาก่อน เช่น ชุมชนหมอเหล็ง ชุมชนริมบึงกะสัน เป็นต้น
ต้องยอมรับว่าชาวบ้านใน 5 ชุมชน ประมาณ 800 ครัวเรือน แต่ชาวบ้านที่เข้ามาร่วม ด้วยความมีที่ดิน 7 ไร่ ยังไม่สามารถรองรับได้ทั้งหมด และไม่สามารถขึ้นแนวสูงได้เพราะว่าอยู่ใต้ทางด่วน จึงต้องเป็นชาวบ้านที่มีความสมัครใจเข้ามาร่วมก่อนเพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่เช่าบ้านอยู่มานาน เพื่อที่จะให้เชื่อมั่น ก็อยากจะทำให้เห็นรูปธรรมก่อนก็เลยคิดว่าเฟสแรกน่าทำให้เห็นความสำเร็จและการแก้ไขปัญหาก่อน ที่สำคัญต้องรวมกลุ่มกัน ต้องออมทรัพย์ด้วย ชาวบ้านต้องกู้เงินด้วยในการสร้างบ้าน เพราะฉะนั้น ก็ต้องใช้ความสมัครใจ
“ส่วนผลกระทบที่ชาวบ้านไม่ยอมขยับออกไปข้างนอก ก็เป็นเรื่องการทำมาหากิน เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ทำมาหากินในเมือง ระแวกนี้ ที่สำคัญก็คือพอเขาจะมาอยู่ที่ใหม่ก็ทำให้เขามีภาระค่าใช้จ่าย เพราะงบประมาณที่สนับสนุนผ่านโครงการบ้านมั่นคง ไม่สามารถครอบคลุมสร้างบ้านทั้งหลัง มีภาระในการต้องใช้สินเชื่อมาเพิ่มเติมประมาณ 3 – 4 แสน ทำให้เกิดความกังวลว่าจะมีความสามารถในการชำระคืนหรือไม่”
ที่มาของโครงการนี้ สืบเนื่องจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และรถไฟความเร็วสูงเป็นโครงการที่ใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถเดิมของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแอร์พอร์ตลิงค์ (Airport Rail Link) ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โดยจะก่อสร้างทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) ส่วนต่อขยาย 2 ช่วงจากสถานีพญาไท ไปยังสนามบินดอนเมือง และจากสถานีลาดกระบัง ไปยังสนามบินอู่ตะเภา โดยแนวเส้นทางโครงการประกอบด้วย 3 โครงการ คือโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่ง ผู้โดยสารอากาศยานในเมือง(Suvarnabhumi Airport Link and City Air Terminal: ARL) โครงการระบบรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนต่อขยาย ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท (ARL Extension) โครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพ-ระยอง แนวเส้นทางโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน
โดยวัตถุประสงค์ของโครงการ เป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งทำให้การเดินทางและขนส่งระหว่างจังหวัดในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกรวมถึงจังหวัดหรือภูมิภาคอื่นๆที่เกี่ยวข้อง สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น เป็นโครงการที่เชื่อมต่อ 3 ท่าอากาศยานในเขตกรุงเทพมหานครและเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก คือ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อสนันสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ บริเวณสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์มักกะสันให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงกรุงเทพมหานคร กับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC Gateway) จากการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดังกล่าวทำให้ชีวิตคนจนเมือง ต้องถูกไล่รื้อ (ชุมชนแออัด) บนพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งชุมชนริมทางรถไฟนั้นทอดยาวจากถนนพระราม 6 สู่ถนนพญาไท โดยชุมชนที่ติดฝั่งถนนพระราม 6 หนึ่งในนี้ ได้แก่ ชุมชนบุญร่มไทร รวม 129 ครัวเรือน กลายเป็นพื้นที่เป้าหมายแรกในการขับไล่ของ รฟท. เพื่อนำที่ดินกลับมาใช้ประโยชน์ในโครงการดังกล่าวข้างต้น นอกจากนี้มีอีก 4 ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ ชุมชนแดงบุหงา 151 ครัวเรือน ชุมชนหลังรพ.เดชา 182 ครัวเรือน ชุมชนหมอเหล็ง 124 ครัวเรือน และ ชุมชนริมทางรถไฟ RCA 58 ครัวเรือน รวม 644 ครัวเรือน
จากผลกระทบดังกล่าว สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ได้ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจแนวทางการพัฒนาในรูปแบบโครงการบ้านมั่นคงตามนโยบายรัฐบาล ในคราวที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันนี้ (14 มีนาคม 2566 ) โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม ซึ่งจากการประชุมมีวาระที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง 35 จังหวัด 300 ชุมชน จำนวน 27,084 ครัวเรือน งบประมาณรวม 7,718 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (พ.ศ. 2566 -2570)
โดยมีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง (2) เพื่อสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยและการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยทุกมิติที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ (3) เพื่อพัฒนารูปธรรม ความสัมพันธ์ในแนวราบ ระหว่างชุมชนท้องที่ และหน่วยงานต่างๆ และที่สำคัญ คือ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมและการจัดการร่วมของชุมชน ชุมชนมีที่อยู่อาศัยที่สวยงาม มีความมั่นคงและน่าอยู่ มีสุขภาวะที่ดี มีการพัฒนาชุมชนที่ครอบคลุมทุกมิติ มีรูปแบบการพัฒนาที่หลากหลายตามบริบทพื้นที่นั้นๆ
ซึ่งการดำเนินตามมติดังกล่าว หลายชุมชนยังคงรอการเช่าพื้นที่ และการหาพื้นที่ใหม่ในการรองรับ ทำให้การแก้ไขโครงการฯ จึงดำเนินการบนข้อจำกัดและล่าช้า รวมถึงการสร้างที่อยู่อาศัยในรูปแบบบ้านมั่นคง มีกระบวนการสร้างชุมชน ที่ชาวบ้านต้องมีความพร้อม และลุกขึ้นมาจัดการชุมชนด้วยตนเอง เพื่อให้การพัฒนาที่อยู่อาศัยมีความยั่งยืนครอบคลุมในทุกมิติที่มากกว่าการมีบ้าน