เปิดพื้นที่สำรวจตัวเอง สังคม และโลก บอกเล่าปัญหาสิ่งแวดล้อม หวังตระหนัก หาทางรับมือ จุดประกายสร้างความเปลี่ยนแปลง
เมื่อเร็ว ๆ นี้ TEDxBangkok Youth 2024 เปิดเวทีการพูดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ผ่านเรื่องราวของ 11 นักพูดเยาวชน ภายใต้ธีม “Coming Home” พาทุกคนย้อนสำรวจความหมายของ “บ้าน” ในหลากหลายมิติ ทั้งมิติตัวเอง มิติสังคม รวมไปถึงมิติโลกของเรา สะท้อน “ปัญหาสิ่งแวดล้อม” ในไทยและโลกยังน่าเป็นห่วง หวังสร้างความตระหนักรู้ หาทางรับมือ และลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง
ธรรมชาติที่ไม่อาจฝืน แต่รับมือได้ด้วย AI
องุ่น – ถิ่นไทย บุตรสีทา นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่เชื่อว่า “ภัยพิบัติ ห้ามไม่ให้เกิดไม่ได้ แต่รับมือมันได้” โดยเริ่มต้นการพูดด้วยการเปิดภาพภัยพิบัติต่าง ๆ ที่อาจเคยเห็น หรือพบเจอ เช่น ไฟป่า, น้ำท่วม หรือ ฝุ่นควัน
องุ่น เล่าย้อนกลับไป ในวันที่เขายังเป็นเด็กชายคนหนึ่งที่ จ.อำนาจเจริญ บริเวณลุ่มแม่น้ำโขง ครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งชีวิตต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยลมฟ้าอากาศ เมื่อใดที่ฝนตกหนัก ผลผลิตก็จะเสียหาย กระทบรายได้และปริมาณข้าวที่ได้กิน เขาจำคำที่พ่อเขาพูดได้ว่า “สิ่งที่มนุษย์ฝืนไม่ได้ คือธรรมชาติและโชคชะตา” ซึ่งไม่ใช่แค่ครอบครัวเกษตรกรรมเท่านั้นที่ต้องเผชิญภัยธรรมชาติและโชคชะตา องุ่นเน้นย้ำว่า ธรรมชาติเป็นเรื่องที่อยู่รอบตัวเรา ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็เผชิญภัยธรรมชาติได้ทั้งนั้น
นอกเหนือจากเกิดจากธรรมชาติแล้ว อีกหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดภัยพิบัติคือเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ โดยองุ่นยกตัวอย่างกรณีแม่น้ำโขง ซึ่งประเทศจีนเป็นประเทศต้นน้ำ ในระยะเวลาตลอด 30 ปีที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงขอข้อมูลการปล่อยน้ำของเขื่อนจีนโดยได้มาเพียง 2 เขื่อนจาก 400 เขื่อนเท่านั้น ซึ่งทำให้ส่งผลกระทบต่าง ๆ เช่น น้ำสูง-ต่ำกว่าที่คาดการณ์
องุ่น เล่าถึงปัจจุบัน ในวันที่ตัวเองเป็นนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ เขาได้ร่วมกับกลุ่มเพื่อน ตั้งทีมทำโครงการเกี่ยวกับการวางแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการทำระบบเตือนภัยล่วงหน้า ผ่านการใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัว และมีบทบาทสำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหา ผ่านการป้อนภาพถ่ายดาวเทียมย้อนหลังเพื่อให้ AI เกิดการเรียนรู้ และนำไปคาดการณ์อนาคต และตีความข้อมูลคาดการณ์ที่ได้ว่าจะเกิดน้ำท่วมหรือไม่ ซึ่งการได้ข้อมูลคาดการณ์เหล่านี้ อาจนำไปสู่การรับมือภัยพิบัติธรรมชาติได้ดีมากยิ่งขึ้น
“เราไม่อาจฝืนธรรมชาติและโชคชะตาได้ก็จริง แต่เราสามารถเลือกที่จะเรียนรู้ ปรับตัว และรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้”
ถิ่นไทย บุตรสีทา
ทางเลือกแก้ปัญหา ‘รอยเท้าน้ำ’ (water footprint)
บิ๊ก – ธนณัฏฐ์ ธรรมธนสิริ บอกเล่าเรื่องราวความสำคัญของน้ำ “หลายคนอยู่ได้โดยปราศจากรัก แต่ไม่มีใครเลยที่อยู่ได้โดยปราศจากน้ำ” เพราะชีวิตของเราวนเวียนอยู่กับการใช้น้ำทั้งในชีวิตประจำวัน เช่น ข้าวบนโต๊ะอาหารที่ใช้น้ำปลูก หรือในเทศกาลวัฒนธรรมต่าง ๆ เช่น สงกรานต์ ลอยกระทง
บิ๊ก เล่าต่อ ถึงปัญหาภาวะความตึงเครียดน้ำที่หลายพื้นที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำจืดในเอเชียกลางที่เคยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลกกำลังเหือดแห้งจนไม่เหลือเค้าโครงเดิม ราคาสินค้าที่สูงขึ้นเพราะทรัพยากรน้ำขาดแคลน หรือการที่ประชากรและเด็กทั่วโลกที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดได้โดยง่าย เนื่องจากแหล่งน้ำจืดที่สะอาดและเข้าถึงได้มีปริมาณไม่ถึง 1% เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำทั่วโลก และมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ เนื่องจากน้ำในโลกที่หมุนเวียนกลับมาเป็นน้ำจืด มีอัตราที่ช้ากว่าการสูญเสียไป
บิ๊ก ระบุว่า ปัญหาเหล่านี้ตั้งรากมาจากประเด็นเรื่อง water footprint หรือ รอยเท้าน้ำ ที่ของบางอย่างใช้ปริมาณน้ำในการผลิตสูง เช่น กาแฟแก้วเล็ก ๆ ขนาด 8 ออนซ์ ใช้น้ำกว่า 140 ลิตรในการปลูกต้นกาแฟขึ้นมา อาหารแปรรูปพร้อมทานที่ใช้น้ำในการผลิตสูงกว่าอาหารสด 5 เท่า รวมไปถึงการผลิตเสื้อผ้าที่ใช้น้ำในการปลูกเส้นใยเพื่อผลิตสูงถึง 2,400 ลิตร ซึ่งเทียบเท่าการอาบน้ำได้ 70 ครั้ง
บิ๊ก จึงเสนอทางเลือกในการแก้ปัญหาเหล่านี้ นั่นคือการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน เช่น เปลี่ยนจากการดื่มกาแฟมาเป็นชา ซึ่งใช้น้ำในการผลิตน้อยกว่า กินอาหารสดแทนอาหารแปรรูป ลดการซื้อ หรือ เลือกซื้อเสื้อผ้าที่ผลิตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังต้องอาศัยการจัดการของรัฐบาล และความร่วมมือของภาคอุตสาหกรรมในการปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อลดรอยเท้าน้ำ
บิ๊ก เน้นย้ำ ถึงการสร้างความตระหนักรู้ เลือกบริโภคสินค้าที่ผลิตอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างแรงกดดันและเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงจากภาคอุตสาหกรรมและรัฐบาล เช่น การเรียกร้องให้บริษัทเอกชนในอินเดียปรับลดการใช้น้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำขาดแคลน หรือกรณีเรียกร้องให้รัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ในปี 2010 จนท้ายที่สุดก็มีการร่างกฎหมายได้สำเร็จ
“ทุก ๆ การตัดสินใจของคุณ ทุก ๆ การเลือกใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนของคุณ คือเสียงที่ส่งไปยังภาคอุตสาหกรรมและรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้พวกเขาเปลี่ยนวิธีการ เพื่อรักษาทรัพยากรของพวกเรา”
ธนณัฏฐ์ ธรรมธนสิริ
เวทีการพูดแห่งนี้ ยังมีเสียงของเยาวชนคนอื่น ๆ ที่บอกเล่าเรื่องราวของตัวเองในหลากหลายมิติที่เขายังต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นการรักและยอมรับตัวเอง การสนับสนุนความฝันและอาชีพ การโอบรับความแตกต่างหลากหลายในสังคม โดยหวังสร้างแรงบันดาล ส่งเสียงให้ผู้ใหญ่ได้ยินเสียงของเยาวชน