‘ลอยกระทง’ จบ! คลองโอ่งอ่าง ยังไม่จบ มองโอกาสพัฒนาย่านยั่งยืน

ชูภาพอนาคตคลองโอ่งอ่าง หลังสิ้นสุดเทศกาล กทม. พร้อมหนุน กระตุ้นวิถีชีวิตผู้คน ดึงอัตลักษณ์ชุมชน ตั้งเป้าย่านต้องยืนได้ด้วยตัวเองแบบยั่งยืน

วันนี้ (15 พ.ย. 67) The Active ได้ลงพื้นที่คลองโอ่งอ่าง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ถูกกำหนดขึ้นให้จัดกิจกรรมวันลอยกระทง ของ กทม. เพื่อสำรวจสภาพแวดล้อม วิถีชุมชน ตีโจทย์สู่การพัฒนาเมือง พัฒนาย่านคลองโอ่งอ่าง ที่ชุมชนยังคงอยู่ได้ รวมถึงมีเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

วนิดา พิชิตนิติกร ประธานชุมชนคลองโอ่งอ่าง ให้ข้อมูลว่า ในอดีตนั้นชุมชนคลองโอ่งอ่างเป็นพื้นที่แออัด ทางเดินน้อย น้ำยังไม่ค่อยสะอาดอย่างปัจจุบัน แต่ตอนนี้แบ่งเป็นทั้งย่านสะพานเหล็ก และย่าน Little India ซึ่งเป็นต้นกำเนิดชุมชนคนไทยเชื้อสายอินเดีย

วนิดา มองว่า หลังช่วงสถานการณ์โควิด -19 จนถึงปัจจุบัน การพัฒนาคลองโอ่งอ่างหลังจากนี้น่าจะไปได้ดี เพราะชุมชนค่อย ๆ ก้าวไป อย่างแข็งแรง แต่หากมีสิ่งไหนต้องแก้ไขปรับปรุง ก็ต้องมีการแก้ส่วนที่บกพร่องให้ดีขึ้น และเรียนรู้จากประสบการณ์ต่าง ๆ 

วนิดา พิชิตนิติกร ประธานชุมชนคลองโอ่งอ่าง

“ไม่ใช่ว่าคลองโอ่งอ่างเงียบเหงา แต่เรากำลังเดินด้วยความแข็งแรง และค่อย ๆ ก้าวไป” 

วนิดา พิชิตนิติกร

ขณะที่ จุฤทธิ์ กังวานภูมิ สถาปนิก กลุ่มปั้นเมือง และกรรมการชุมชนตลาดน้อย มองว่า ในภาพรวมเขตสัมพันธวงศ์ หรือย่านไชน่าทาวน์ คือ ย่านการค้าขนาดใหญ่ที่มีคนอาศัยอยู่ข้างใน ดังนั้น คนจะค่อนข้างใส่ใจในการสร้างสมดุลระหว่างเรื่องวิถีชีวิต การอยู่อาศัย และเรื่องการประกอบอาชีพ โดยที่ไม่ต้องออกไปที่อื่น ผู้ใหญ่ในพื้นที่ก็อยากส่งที่มีให้รุ่นต่อไป และเข้าใจว่าคนที่อยู่ในเขตนี้ อาจอยู่ในช่วงที่กำลังผลัดเปลี่ยนธุรกิจของแต่ละรุ่นด้วย

คลองโอ่งอ่างกับตลาดน้อยมีจุดที่คล้ายกันสองอย่าง คือ “เป็นประตูเข้าสู่ย่าน” ข้ามไปฝั่งซ้ายมือของคลองโอ่งอ่างจะเป็นเขตพระนคร เป็นย่านเมืองเก่า ที่มีอัตลักษณ์ของตัวเองชัดเจน ส่วนของตลาดน้อยจะอยู่ใกล้กับฝั่งที่มีความเป็นเมืองสไตล์ตะวันตก อย่าง เจริญกรุง บางรัก จึงทำหน้าที่เป็นทางผ่านของคนที่จะเข้ามาสู่ตรงกลาง ซึ่งเป็นย่านไชน่าทาวน์ แต่ปัจจุบันก็มีโอกาสใหม่ ๆ ผ่านการเดินทาง เช่น เรือด่วนที่จอดใกล้ท่าท่องเที่ยวมากขึ้น และรถไฟใต้ดิน MRT ที่ตั้งอยู่ใกล้เยาวราช เป็นต้น

สำหรับคนรุ่นใหม่ที่อาจมีวิธีการใหม่ ๆ ในการเดินทางเข้ามา ก็เป็นส่วนที่น่าคิดว่าชุมชนต้องทำอย่างไรให้คนได้ประโยชน์ไปด้วยกัน ตั้งเป้าหมายให้เหมาะกับชุมชน และอยู่กับย่านที่กำลังพัฒนาให้ได้

ในมุมมองของ วนิดา การสร้างคลองโอ่งอ่างให้เป็นย่านแหล่งรวมกิจกรรมต่าง ๆ ต้องอาศัยทั้งคนในพื้น ภาคกทม. ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ คนภายนอกที่สนใจ อาจกระตุ้นให้คลองโอ่งอ่างเป็นศูนย์กลางได้ หัวใจสำคัญคือต้องมีหลายภาคส่วนมาช่วยกัน

ส่วนอุปสรรคที่พบคือ มีการปรับเปลี่ยนของระบบราชการทุก 4 ปี ทำให้การพูดคุยกับภาครัฐมหรือการริเริ่มโครงการไม่ค่อยต่อเนื่อง แต่หากมีการแต่งตั้งกลุ่มภาครัฐขึ้นมาส่วนหนึ่งมาช่วยสนับสนุน ก็ทำให้ชุมชนสามารถเดินเข้าไปหาลือได้ แต่ในความเป็นจริงเมื่อมีกิจกรรมเสร็จ ผู้ประกอบการรวมตัวกันเพื่อจะพัฒนาต่อ ก็เกิดมีการปรับเปลี่ยนขึ้น

จุฤทธิ์ ยังมองว่า การมีอุปสรรคในการทำงานร่วมกันนั้นเป็นเรื่องปกติ เพราะตัวของเมืองเองอาจมีรอยต่ออะไรหลายอย่าง ทั้งในระดับชุดบริหาร ในระดับกรุงเทพมหานคร หรือในระดับเขตที่มีการโยกย้าย เปลี่ยนตำแหน่ง แต่อาจจะยังไม่ได้มีแผนชัดเจนที่เขียนว่าแต่ละขั้นตอนต้องทำอะไรบ้าง มีแต่แผนหลักที่นำมาใช้ ฉะนั้น จึงมีการปรับเปลี่ยนไปได้ง่าย

จุฤทธิ์ กังวานภูมิ สถาปนิก กลุ่มปั้นเมืองและกรรมการชุมชนตลาดน้อย

“ถ้ามีแผนชัดเจนว่า จะทำอะไรกับย่านเมืองเก่า ที่ไปส่งเสริมกิจกรรม การค้า คุณภาพชีวิต อาจจะช่วยเป็นแนวทางในการทำงานที่ต่อเนื่องได้ เพราะเวลาเปลี่ยนผู้บริหารหรือเลือกตั้งใหม่ก็จะได้ไม่ต้องเริ่มต้นกันใหม่”

จุฤทธิ์ กังวานภูมิ

ทางด้านฝ่ายบริหาร อย่าง ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บอกว่า หัวใจคือการจัดการตัวเอง อีกทั้งทางชุมชนก็เคยมีการจัดตั้งประชาคม รวมเงินเป็นกลุ่มออมทรัพย์เพื่อจัดกิจกรรม แต่ปัจจุบันประชาคมถูกยกเลิกไป เนื่องจากติดปัญหาการเงิน แต่สิ่งที่กทม.จะมาช่วยกระตุ้นคือ การหาอัตลักษณ์ของชุมชน 

โดยสำนักงานเขตทั้งสองฝั่งก็จะสนับสนุนในเรื่องกิจกรรมแค่ปีละไม่กี่ครั้ง ดังนั้น พร้อมอยากช่วยให้ชุมชนยืนได้ด้วยเอง และทางกทม.พร้อมที่จะสนับสนุนเครื่องมือและกลไกทั้งหมด หากชุมชนสามารถจับกลุ่มกันได้ดี คลองโอ่งอ่างก็จะสามารถเดินต่อได้ 

“ถ้าเราถามคนในย่าน ส่วนใหญ่จะถามว่ากทม. จะทำอะไรให้ ฉะนั้น คำถามคือต้องมาช่วยกันคิดว่า ทางคลองโอ่งอ่างอยากจะทำอะไร กทม. ก็จะร่วมไม้ร่วมมือ”

ศานนท์ หวังสร้างบุญ

เช่นเดียวกับ โกศล สิงหนาท ผู้อำนวยการเขตพระนคร บอกว่า สถานที่ท่องเที่ยวนั้นย่อมเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ฉะนั้น เมื่อกาลเวลาผ่านไปก็ต้องมีการเติมทั้งด้านกายภาพ ทั้งด้านกิจกรรม และการปรับปรุงย่านอย่างต่อเนื่อง

ส่วนการสนับสนุน กทม.และเขต พร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมต่าง ๆ จะมีการกระตุ้นการใช้พื้นที่ กระตุ้นเศรษฐกิจ

แม้การจัดกิจกรรมนี้ เป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่ความมุ่งหวังที่แท้จริง คือ การทำให้คลองโอ่งอ่างเป็นหมุดหมาย เป็นสถานที่ที่ใครนึกถึงงานศิลปะก็ต้องมาที่คลองโอ่งอ่าง 

“เหมือนกับเป็นการพัฒนาที่ให้ คลองโอ่งอ่างยืนได้ด้วยตัวเอง เป้าหมายคือทำอย่างไรให้คลองโอ่งอ่างมีความยั่งยืน และเป็นตัวตนของคลองโอ่งอ่าง”

โกศล สิงหนาท

สำหรับข้อเสนอสำหรับการพัฒนาเมือง จุฤทธิ์ เสนอว่า ต้องทำผ่านเรื่องพื้นที่สาธารณะ เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม 3 สิ่งนี้ต้องใช้เป็นตัวหลักในการดำเนินงาน ที่ผ่านทั้งความเข้มแข็งของคนที่เข้ามาเป็นส่วนร่วมช่วยกันเดินงานร่วมกับภาครัฐ รวมทั้งมิติการจัดการ เพื่อความต่อเนื่อง ส่วนพื้นที่สาะารณะก็ต้องทำให้พื้นที่มีอัตลักษณ์ มีความเฉพาะตัว ทำให้ดึงดูดคนเข้ามาสัมผัส สุดท้ายคือการจัดการแนวทางระบบในการประสานงาน เมื่อเกิดปัญหาจะทำอย่างไรให้เกิดการประสานกัน เพื่อแก้ปัญหาให้เท่าทัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active