‘ผู้ว่าฯ ชัชชาติ’ เผยที่ผ่านมา ประชาชนสะท้อนข้อกังวล ความไม่โปร่งใส ขาดการมีส่วนร่วมตัดสินใจใช้งบฯ ชุมชนละ 2 แสนบาท เตรียมปรับหลักเกณฑ์ปี 2568 ลดข้อจำกัด ลดขั้นตอนเข้าถึงงบฯ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 13/2567 โดยที่ประชุมได้รายงานการดำเนิน “โครงการชุมชนเข้มแข็งพัฒนาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” หรือ “โครงการชุมชนเข้มแข็ง 2 แสนบาท” ประจำปีงบประมาณ 2568 ซึ่งโครงการนี้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2566 ในแต่ละปีมักพบปัญหาอุปสรรคทำให้ชุมชนไม่สามารถดำเนินการได้ตามความต้องการ จึงได้นำข้อสังเกตจากสภากรุงเทพมหานคร คณะกรรมการวิสามัญฯ และผู้เกี่ยวข้องมาปรับปรุงหลักเกณฑ์ในปี 2568 ให้เหมาะสมและตรงกับความต้องการของชุมชนมากขึ้น
ผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า ในปี 2567 มีชุมชนที่เข้าร่วมโครงการกว่า 90% ของชุมชนทั้งหมด มากกว่าปี 2566 ที่มีเพียง 78% ในภาพรวมปี 2567 มีการเบิกจ่ายงบประมาณมากขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งที่ประชุมได้ระบุถึงโครงการที่มีผลงานโดดเด่น (Best Practice) ของปี 2566 และ 2567 เช่น
- โครงการปรับปรุงลานกีฬาชุมชน เขตสายไหม
- โครงการปรับปรุงซ่อมแซมลานอเนกประสงค์ชุมชน เขตสายไหม
- โครงการปรับปรุงซ่อมแซมถนนในชุมชน เขตวังทองหลาง
- โครงการปรับปรุงลานอเนกประสงค์ในชุมชน เขตประเวศ
- โครงการจัดซื้อเครื่องเล่นสนามเด็กเล่น เขตทวีวัฒนา
สำหรับโครงการดังกล่าว เป็นการจัดสรรงบประมาณให้ชุมชนละ 2 แสนบาท เพื่อเป็นกองทุนให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมกำหนดโครงการหรือสิ่งที่ต้องการด้วยตัวเอง แม้ว่าจะเป็นโครงการที่มีเจตนาที่ดี แต่ที่ผ่านมา กลับพบเสียงสะท้อนจากชุมชนถึงความไม่โปร่งใส และผลลัพธ์ที่ไม่เป็นไปตามความต้องการ เช่น การรับฟังเสียงของประชาชนไม่ครอบคลุม และไม่มีการเปิดเผยผลการสำรวจความต้องการของแต่ละชุมชน ตลอดจนการเปิดเผยแนวทางการเบิกจ่ายงบประมาณ ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้มีส่วนร่วมตัดสินใจในเงินก้อนนี้
การใช้เงินจากโครงการนี้มีข้อปฏิบัติอยู่ 3 ประการ คือ
- ต้องมีการเปิดเวทีอย่างน้อย 2 ครั้ง ให้แต่ละชุมชนคิดเองว่าอยากได้อะไร
- มีประชาชนเข้าร่วมอย่างน้อย 50%
- จัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบฯ แต่ในทางปฏิบัติบางครั้งไม่ได้เป็นไปตามหลักการ การเปิดเวทีรับฟังเสียงกลับไม่มีการเปิดเผยผลโหวต และการจัดซื้อจัดจ้างก็ติดปัญหาระบบราคากลาง ทำให้โครงการล่าช้าและได้ของไม่ตรงสเป็ค
ล่าสุด ทาง สภา กทม. ได้พยายามผลักดัน และแก้ไขข้อบัญญัติให้ชุมชนสามารถใช้งบ 2 แสนบาทได้โดยไม่ต้องผ่านระบบราคากลาง ลดขั้นตอนให้ชุมชนใช้งบฯ ได้ง่ายขึ้น โดยการแก้ไขนี้จะทำให้งบประมาณเข้าถึงชุมชนโดยตรง ให้อำนาจประชาชนตัดสินใจในงบประมาณแต่ละปี
ขณะที่ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. เสนอแนวทางการมีส่วนร่วมในงบประมาณ 3 ขั้นตอน ได้แก่
- สอดส่อง ตรวจสอบ: แจ้งปัญหา ผ่านแพลตฟอร์ม Traffy Fondue ซึ่งปัจจุบัน กทม. ได้ย่นย่อขั้นตอนการร้องเรียนจาก 6 ขั้นเหลือ 3 ขั้น
- นำเสนอ ร่วมลงมือทำ: ผ่านการพัฒนาแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น การขอใช้พื้นที่เมืองในเว็บไซต์ของ กทม.
- ตัดสินใจได้เอง: ให้ชุมชนมีงบประมาณพัฒนาตนเอง เพื่อทำให้คนภายในเมืองรู้สึกเป็นเจ้าของเมืองแห่งนี้
ทั้งนี้ ยอมรับว่า การจัดสรรงบประมาณให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเป็นเรื่องท้าทาย แต่จำเป็นต้องทำ เพราะประชาชนควรมีสิทธิกำหนดทิศทางของเมือง การใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยอาจเป็นทางหนึ่งที่นำมาปรับใช้ได้ เพื่อเปิดเผยข้อมูลงบประมาณให้โปร่งใส