กทม.เดินหน้ากำหนดพื้นที่ทำการค้า หาบเร่-แผงลอย ตามหลักเกณฑ์ใหม่

พร้อมขยาย Hawker Center เชื่ออนาคตหาบเร่-แผงลอยน้อยลง หลังผ่านไป 2 ปี ลดลงกว่า 10,000 ราย ชี้ควรอยู่ในที่จัดเตรียมไว้ให้ 

วันนี้ (3 ต.ค. 2567) ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมหัวหน้าหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 10/2567 ถึงการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย ภายใต้ประกาศหลักเกณฑ์พื้นที่ทำการค้าฉบับใหม่ ซึ่ง กทม.ได้ออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขาย หรือจำหน่ายสินค้าบนถนนหรือสถานสาธารณะ ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2567 ซึ่งผู้ว่าฯ กทม.ระบุว่า มีคณะกรรมการและผู้ชำนาญการจากหลายภาคส่วนมาช่วยกัน เพื่อให้การจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอยเกิดความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

“หาบเร่-แผงลอย หัวใจคือการเอาพื้นที่สาธารณะมาทำมาหากิน แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องที่มีมานานกลายเป็นวิถีชีวิตของคนส่วนหนึ่ง ภาพหลักของเราคือเชื่อว่าในอนาคตหาบเร่-แผงลอยต้องน้อยลง และควรจะเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ใช่ที่สาธารณะ อยู่ในที่จัดเตรียมไว้ให้ เพื่อให้ผู้ค้าอยู่อย่างมั่นคง คุณภาพชีวิตดีขึ้น ไม่กีดขวางทางเดินเท้า”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

โดยมีการยกตัวอย่าง “Hawker Center” ของประเทศสิงคโปร์ที่กระจายอยู่ทั่วเมือง ดังนั้น จึงมีการออกระเบียบหาบเร่-แผงลอยออกมา โดยอธิบายหลักการว่า เราไม่มีนโยบายจะเพิ่มพื้นที่ค้า แต่จะทบทวนจุดผ่อนผันที่เคยมีอยู่เดิมว่าตรงตามระเบียบใหม่และเหมาะสมหรือไม่ หากไม่เหมาะสมจะยกเลิก หากเหมาะสมจะเข้ากรรมการพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง และจะมีการคัดเลือกผู้ทำการค้าโดยการลงทะเบียน 15 วัน 

ตามหลักไม่อยากมีผู้ค้าใหม่เข้ามาเพิ่มจึงให้สิทธิผู้ค้าเดิมก่อน ทั้งนี้ผู้ค้าต้องควบคุมกันเองด้วย หากอนุญาตให้ขายแล้ว ไม่ดูแลให้พื้นที่สะอาด ก็จะยกเลิกทั้งหมด 

สำหรับการพิจารณาอนุญาตให้ทำการค้าขาย บริเวณที่มีถนน 3 เลนขึ้นไป จะทบทวนทุก 2 ปี ถนน 1 – 2 เลน ทบทวนทุก 1 ปี ไม่ได้ให้ตลอดชีวิต เพราะหวังว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งหาบเร่-แผงลอยจะออกจากทางเท้าไปสู่พื้นที่ที่เราจัดไว้ให้หรือพื้นที่เอกชน อีกทั้งการให้สิทธิเป็นสิทธิเฉพาะตัว ไม่สามารถเอาไปเซ้งต่อหรือเอาไปเช่าช่วงได้ ผู้ประกอบการต้องมีการยืนยันตัวตน

“ในภาพรวมเชื่อว่าน่าจะเป็นมาตรการที่ทำให้คุณภาพร้านค้าดีขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น อนาคตบ้านเมืองจะเป็นระเบียบมากขึ้น 2 ปีที่ผ่านมาลดจำนวนหาบเร่-แผงลอยไปประมาณ 10,000 กว่าราย และพยายามทำ Hawker Center เพิ่มขึ้น เพื่อให้คนเข้าไปขายและไม่กีดขวางทางเดิน”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ในช่วงท้าย ชัชชาติ กล่าวว่า จากนี้ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 67 จะทำการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจ และพิจารณาจุดผ่อนผันเดิม วันที่ 1 ม.ค. – 31 มี.ค. 68 คณะกรรมการพิจารณาคัดกรองจุดผ่อนผันและผู้ค้า 3 ระดับ คือ ระดับเขต ระดับสำนัก และระดับผู้ตรวจ และ มิ.ย. 68 เป็นต้นไป จะประกาศผลการพิจารณารายจุด ยกเลิกจุดผ่อนผัน หรือประกาศจุดผ่อนผันต่อไป ทั้งนี้จะเห็นว่ายังมีอีกหลายขั้นตอนแต่ปัจจุบันยังคงต้องจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอยอย่างต่อเนื่อง

ก่อนหน้านี้เคยมีการออกประกาศระเบียบฉบับใหม่ ซึ่ง ชัชชาติ ได้ลงนามในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขาย หรือจำหน่ายสินค้าบนถนนหรือสถานสาธารณะ โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณากำหนดพื้นที่ทำการค้า ได้แก่ ถนนที่มีช่องทางจราจรตั้งแต่ 3 ช่องทางจราจรขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นการเดินรถทางเดียวหรือสวนทาง เมื่อจัดวางแผงค้าแล้วต้องมีที่ว่างให้ประชาชนสัญจรได้ไม่น้อยกว่า 2 เมตร โดยให้สำนักงานเขตทบทวนความจำเป็นและความเหมาะสมของการเป็นพื้นที่ทำการค้าทุก 2 ปี 

ขณะที่ถนนที่มีช่องทางจราจรน้อยกว่า 3 ช่องทางจราจร ไม่ว่าจะเป็นการเดินรถทางเดียวหรือสวนทาง เมื่อจัดวางแผงค้าแล้วต้องมีที่ว่างให้ประชาชนสัญจรได้ไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร โดยให้เขตทบทวนความจำเป็นและความเหมาะสมของการเป็นพื้นที่ทำการค้าทุก 1 ปี แผงค้าต้องมีขนาดไม่เกิน 3 ตารางเมตร โดยมีความลึกของแผงค้าต้องไม่เกิน 1.5 เมตร ให้จัดวางแผงค้าได้เพียงฝั่งเดียว โดยให้ชิดกับด้านถนนและต้องห่างจากผิวจราจรอย่างน้อย 50 เซนติเมตร เพื่อให้มีระยะปลอดภัยด้านการจราจร และให้เว้นระยะห่าง 3 เมตร ทุกระยะ 10 แผงค้า เพื่อเป็นทางเข้าออกและทางฉุกเฉิน รูปแบบ ลักษณะแผงค้าและสิ่งประกอบแผงค้า เช่น ร่ม หลังคาแผงค้า ต้องมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยเหมาะสมกับลักษณะพื้นที่นั้น ๆ 

พื้นที่ห้ามจัดแผงค้า

1.ป้ายและศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางสาธารณะ ในระยะ 10 เมตร

2.ทางขึ้นลงสะพานลอย ใต้สะพานลอย ทางขึ้นลง-ใต้สถานีรถไฟฟ้า ช่องทางลิฟต์คนพิการ ในระยะ 10 เมตร

3.ทางม้าลาย ในระยะ 3 เมตร

4.ทางร่วมแยก ในระยะ 10 เมตร

5.ช่องทางเข้าออกอาคาร ในระยะ 5 เมตร

6.ห้องน้ำสาธารณะ ในระยะ 3 เมตร

7.จุดจ่ายน้ำดับเพลิง (ประปาหัวแดง) ในระยะ 3 เมตร

8.บริเวณโดยรอบตู้โทรศัพท์ ตู้ไปรษณีย์ ในระยะ 1 เมตร

สำหรับคุณสมบัติของผู้ทำการค้าและผู้ช่วยจำหน่ายสินค้า ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย

– ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย  

– เป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 

– เป็นคู่สัญญาในการซื้อบ้านที่อยู่อาศัยกับการเคหะแห่งชาติในโครงการบ้านมั่นคงของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนและยังมีภาระผูกพันในการชำระหนี้ 

– เป็นบุคคลที่ได้รับเงินสวัสดิการจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้มีรายได้ไม่เกิน 300,000 บาทต่อปี โดยอ้างอิงจากเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายประกอบธุรกิจตามหลักฐานการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 

นอกจากนี้ผู้ทำการค้าต้องลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ต่อสำนักงานเขตที่กำหนดให้มีพื้นที่ทำการค้า ไม่มีแผงค้าอื่นหรือผู้ช่วยจำหน่ายสินค้าในแผงค้าอื่นในพื้นที่ที่กรุงเทพมหานครกำหนดให้เป็นพื้นที่ทำการค้า

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active