ตั้งคณะกรรมการวิสามัญ 24 คน กรอบเวลาศึกษา 30 วัน ผู้บริหาร กทม. หวังพิจารณาให้เสร็จทันสิ้นเดือนนี้
ในการประชุมคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ว่า ด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2567 วาระ 2 และ 3 เมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เสนอวาระเร่งด่วนเพิ่มเติม เพื่อขอให้สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร พิจารณาต่อ เรื่อง ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ฉบับที่ … พ.ศ. … เพื่อนำไปชำระหนี้รถไฟฟ้าบีทีเอสตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด
ชัชชาติ กล่าวเสนอหลักการและเหตุผลกับ สภา กทม. ขอเสนอข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ฉบับที่ … พ.ศ. … เป็นจำนวนเงินไม่เกิน 14,549,503,800 บาทถ้วน เป็นรายจ่ายจากเงินสะสมจ่ายขาดของ กทม. เนื่องจากศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดย กทม. มีความประสงค์จะชำระหนี้และค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด
“จริง ๆ แล้วเรื่องนี้มีคำพิพากษาศาลมาแล้ว ซึ่งมีดอกเบี้ยที่ต้องชำระรายวัน เราอยากจะให้เรื่องนี้มันเร็วที่สุด รวมถึงลดค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นทั้งหมด แต่ค่าใช้จ่ายนี้ต้องผ่านสภา กทม. ฝ่ายบริหาร ก็คงต้องทำเรื่องให้ สภา กทม. พิจารณาต่อไป ยิ่งเร็วได้ก็ยิ่งดี เขาจะได้มีเวลาในการพิจารณา แล้วก็ดำเนินการลดค่าใช้จ่านตั้งแต่เนิ่น ๆ จากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นแต่ละวัน”
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ให้สัมภาษณ์ The Active
ในที่ประชุมสภา กทม. ชัชชาติ ได้นำเสนอสถานะการเงินการคลังของ กทม. และภาระหนี้ตามโครงการต่อเนื่องที่ได้ก่อหนี้ผูกพันแล้ว กับ สภา กทม. โดยมีรายละเอียด ดังนี้
สถานะการเงินการคลังของ กทม. ณ วันที่ 5 ก.ย. 67 กทม. มีเงินฝากธนาคารเป็นเงิน 101,267.42 ล้านบาท แบ่งเป็น
- รายรับหักรายจ่ายสุทธิ 27,965.20 บาท
- รายรับพิเศษหักรายจ่ายพิเศษสุทธิ 176.11 ล้านบาท
- เงินนอกงบประมาณที่มีภาระผูกพัน 2,882.22 ล้านบาท
- เงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีที่ยังไม่เบิก 5,990.35 ล้านบาท
- เงินสะสมกรุงเทพมหานครคงเหลือ 55,380.29 ล้านบาท
- ทุนสำรองเงินคงคลังกรุงเทพมหานคร 8,873.25 ล้านบาท
ขณะที่ ภาระหนี้ตามโครงการต่อเนื่องที่ได้ก่อหนี้ผูกพันแล้ว ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 67 มีรายละเอียด คือ
- วงเงินสูงกว่า 1,000 ล้านบาท มี 5 หน่วยงาน 32 โครงการ มีภาระผูกพันตามสัญญาจำนวนคงเหลือ 61,659.69 ล้านบาท
- โครงการที่มีวงเงินตั้งแต่ 500-1,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 6 หน่วยงาน 29 โครงการ มีภาระผูกพันตามสัญญาคงเหลือจำนวน 11,516.85 ล้านบาท
- โครงการที่มีวงเงินต่ำกว่า 500 ล้านบาท จำนวน 21 หน่วย 117 โครงการ มีภาระผูกพันตามสัญญาคงเหลือจำนวน 7,348.13 ล้านบาท
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ยังอธิบายถึง สถานะเงินสะสมประจำปีงบประมาณ 2567 ณ วันที่ 5 ก.ย. 67 จำนวน 97,290.21 ล้านบาท แบ่งเป็น เป็นเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี 18,189.34 ล้านบาท, ภาระผูกพันและการสำรองเงินที่ทำให้ยอดสะสมเงินลดลง จำนวน 36,890.69 ล้านบาท, คาดการณ์เงินสะสมที่จะสำรองไว้ให้ยืมใช้ไปจ่ายในปี 2567 จำนวน 10,600 ล้านบาท, เงินสะสมที่ปลอดภาระผูกพัน จำนวน 31,610.18 ล้านบาท จึงขออาศัยความในมาตรา 97 และมาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 เสนอร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องงบประมาณรายจ่าย เพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ฉบับที่ … พ.ศ. …
ตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร มีรายละเอียดคือ
- ข้อ 1 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้เรียกว่า “ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ..”
- ข้อ 2 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
- ข้อ 3 งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (ฉบับที่ ..) พ.ศ….. ให้ตั้งเป็นรายจ่ายพิเศษ จำนวน 14,549,503,800 บาท ตามรายละเอียดเอกสารงบประมาณ โดยจำแนกดังนี้ งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ สำนักการจราจรและขนส่ง งบประมาณภารกิจประจำพื้นฐานผลผลิตระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ 14,549,503,800 บาท
- ข้อ 4 ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครควบคุมการใช้จ่ายเงินและการบริหารงบประมาณตามรายการและจำนวนเงินที่กำหนดไว้ในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้
- ข้อ 5 ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครรักษาการตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ รวม 14,549,503,800 บาท
จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ร่างข้อบัญญัติฯ ดังกล่าว อยู่ภายใต้ปีงบประมาณ 2567 มีเวลาในการพิจารณาภายใน 30 ก.ย.นี้ ซึ่งมีเงื่อนไขเรื่องของเวลา หากไม่ทันต้องข้ามไปที่งบประมาณ ปี 2568 และหลังจากได้ข้อบัญญัติแล้วต้องมีขั้นตอนเบิกจ่ายเงิน หากไม่สามารถเบิกจ่ายภายใน 30 ก.ย. 67 หมายความว่าเงินยอดนี้จะตกไปกลับคืนเงินสะสมเหมือนเดิม นั่นหมายความว่า ต.ค. 68 ต้องทำข้อบัญญัติขึ้นมาใหม่
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมสภา กทม. ได้มีการเสนอความเห็น เรื่องความเร่งด่วนของกรอบระยะเวลาในการพิจารณา แต่เห็นตรงกันว่าควรจะเร่งดำเนินการเพื่อลดภาระค่าดอกเบี้ยที่เริ่มขึ้นทุกวัน ซึ่งในที่ประชุมได้หารือถึงขั้นตอน ว่าจะรับหลักการก่อนในวาระแรก หรือ จะตั้งคณะกรรมการวิสามัญก่อนรับหลักการ
โดยในท้ายที่สุดได้ขอลงมติสรุปว่า ที่ประชุมให้ความเห็นชอบตั้งคณะกรรมการวิสามัญ ก่อนลงมติรับหลักการ ซึ่งที่ประชุมให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญ 24 คน กรอบเวลาศึกษา 30 วัน พร้อมเสนอชื่อคณะกรรมการวิสามัญฯ ก่อนรับหลักการ ประกอบด้วย
- นภาพล จีระกุล สก. เขตบางกอกน้อย
- สุทธิชัย วีรกุลสุนทร สก. เขตจอมทอง
- กนกนุช กลิ่นสังข์ สก.เขตดอนเมือง
- ตกานต์ สุนนทวุฒิ สก. เขตหลักสี่
- ณรงค์ รัศมี สก.เขตหนองจอก
- นวรัตน์ อยู่บำรุง สก.เขตหนองแขม
- ปวิน แพทยานนท์ สก. เขตบางคอแหลม
- ประพฤติ การกิจกุล สก.เขตห้วยขวาง
- อนุรักษ์ เลิศวัฒนาไพบูลย์ สก.เขตวังทองหลาง
- อนงค์ เพชรทัต สก.เขตดินแดง
- วิรัช คงคาเขตร สก.เขตบางกอกใหญ่
- สารัช ม่วงศิริ สก.บางขุนเทียน
- สมชาย เต็มไพบูลย์กุล สก.เขตคลองสาน
- ลักขณา ภักดีนฤนาถ สก.เขตตลิ่งชัน
- พีรพล กนกวลัย สก.เขตพญาไท
- ณภัค เพ็งสุข สก.เขตลาดพร้าว
- อภิวัฒน์ ด่านศรีชาญชัย สก.เขตจตุจักร
- สุชัย พงษ์เพียรชอบ สก.เขตคลองเตย
- สราวุฒิ อนันต์ชล สก.เขตพระโขนง
- จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม.
- รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม.
- กนกวรรณ เอี่ยมลิ้ม ผอ.สำนักงบประมาณกรุงเทพมหานคร
- สิทธิพร สมคิดสรรพ์ รอง ผอ.สำนักการจราจรและขนส่ง
- ดนัย เหลืองแก่นคูณ ผอ.ส่วนวิชาการกฎหมายและนิติกรรมสัญญา