เคาะแล้ว! งบฯ กทม. ปี 68 กว่า 90,000 ล้านบาท

เริ่มประกาศใช้ ตุลาคมนี้ ขณะที่ ‘ผู้ว่าฯ ชัชชาติ’ พร้อมปรับปรุงการทำงาน เปิดพื้นที่ ให้ประชาชนตรวจสอบการใช้งบฯ

เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 67 การประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 1) ประจำปี 2567 กนกนุช กลิ่นสังข์ สก.เขตดอนเมือง ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 รายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการวิสามัญ รายละเอียดการปรับลด รวมถึงข้อสังเกตทั่วไป และข้อสังเกตเฉพาะหน่วยงาน ซึ่งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ได้ตั้งเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 90,828,531,580 บาท โดยหลักเกณฑ์การพิจารณา คณะกรรมการวิสามัญได้พิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ เริ่มจากชื่อร่างข้อบัญญัติ หลักการ เหตุผล คำปรารภ ตัวร่างข้อบัญญัติ เรียงตามลำดับแล้วจึงพิจารณารายละเอียดของงบประมาณรายจ่ายจนจบ โดยมีเจ้าหน้าที่ของสำนักงบประมาณ กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงรายละเอียดประกอบการพิจารณา

กนกนุช กลิ่นสังข์ สก.เขตดอนเมือง – ประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร
เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568

ทั้งนี้ กรรมการวิสามัญฯ ได้ขอสงวนความเห็นเพื่อให้สภา กทม. วินิจฉัยในรายการของสำนักการโยธา สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักพัฒนาสังคม และสำนักงานเขตปทุมวัน 

กนกนุช กล่าวในที่ประชุมว่า งบฯ ประมาณที่ผ่านคณะกรรมการวิสามัญฯ ในครั้งนี้มีมากกว่า 90,000 ล้านบาท จำแนกเป็น งบประมาณรายจ่ายของ กทม. จำนวนเงิน 90,000,000,000 บาท และงบประมาณรายจ่ายของการพาณิชย์ของ กทม. จำนวนเงิน 828,531,580 บาท คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณางบประมาณของหน่วยงานต่าง ๆ จำนวน 21 คณะ แล้วจึงรายงานผลการพิจารณา

พร้อมรับฟังเหตุผลความจำเป็นในการขอตั้งงบประมาณรายจ่ายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การพิจารณาของคณะกรรมการวิสามัญฯ เป็นไปด้วยความรอบคอบ ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้อง ซึ่งคณะกรรมการวิสามัญฯ ได้พิจารณาโดยยึดหลักของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นโยบายของผู้บริหาร กทม. แผนพัฒนา กทม. แผนปฏิบัติราชการประจำปีของ กทม. โดยยึดหลักความคุ้มค่าในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ความเหมาะสมของพื้นที่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและ กทม.

ทั้งนี้มีงบประมาณ สำนักงานเขต 21,360,524,386 บาท และงบประมาณสำนัก ตามตารางนี้

โดยตั้งข้อสังเกต ถึงงบประมาณของสำนักพัฒนาสังคม ที่ทำงานเกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต แต่กลับได้งบฯ ไม่มาก คิดเป็นเพียง 1.01 % ของงบฯ ทั้งหมด 

ขณะที่ งบฯ กลาง ที่ กทม. ตั้งไว้ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการ และเผื่อสถานการณ์จำเป็นเร่งด่วน เช่น กรณีเกิดอุบัติภัย 17,745,410,001 บาท หรือ 19.71%

โดยมีการตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ โครงการ “จ้างที่ปรึกษา” ปี 68 จำนวน 498,360,980 บาท และเมื่อดูปี 2568-2572 ติดเป็น 12,982,683,910 บาท ซึ่ง กทม. เป็นท้องถิ่นที่ใหญ่ที่สุด แต่กลับขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน 

โดยสรุปคณะกรรมการวิสามัญ ตัดงบฯ รายจ่าย กทม. 5,576,921,903 บาท ซึ่งผู้ว่าฯ กทม.ได้ เสนอแปรญัตติ เพิ่มงบประมาณรายจ่าย ภายในวงเงินที่คณะกรรมการวิสามัญฯ พิจารณาปรับลด โดยคณะกรรมการวิสามัญฯ เห็นชอบรายการงบประมาณรายจ่ายที่ ผู้ว่าฯ กทม. ได้เสนอแปรญัตติเพิ่มงบประมาณรายจ่ายของกรุงเทพมหานคร ภายในกรอบวงเงินที่คณะกรรมการวิสามัญฯ พิจารณาปรับลด ซึ่งในที่ประชุม ได้เปิดให้ กรรมการ ที่สงวนความเห็น ในส่วนที่เกี่ยวข้องงบที่ถูกเพิ่ม หรือ ลด 

ได้แก่ สำนักการโยธา, สำนักการจราจรและขนส่ง, สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, สำนักสิ่งแวดล้อม, สำนักพัฒนาสังคม, สำนักงานเขตปทุมวัน

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. สรุปผลการประชุมกับ The Active ว่า ในการพิจารณางบฯ ในวาระ 2 และ 3 ก็มีการพิจารณาที่อย่างถี่ถ้วน แต่ก็มีหลายประเด็นที่ผ่านมาสังคมตั้งคำถาม มีการปรับปรุงมาตรฐาน กระบวนการกลั่นกรอง มีการให้ความเห็น ให้ข้อมูลต่าง ๆ และตอบคถามต่อสังคมได้

จากข้อเสนอในที่ประชุม ก็ถือว่าคณะกรรมการวิสามัญ และสมาชิกสภา กทม. ทุกท่านเป็นตัวแทนของประชาชน ดังนั้น หลาย ๆ เรื่องที่แนะนำมาก็ต้องนำไปปรับปรุงให้ดีขึ้น เช่น โครงการที่ปรึกษาต่าง ๆ ที่อาจจะยังไม่จำเป็น ก็ต้องไปดูว่าความเห็นเป็นอย่างไรบ้าง แต่ส่วนใหญ่โครงการผ่านหมด แต่มีบางจุดที่ต้องไปปรับปรุง

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม

“หลังเคาะ งบฯ กทม. ปี 2568 แล้วจะเริ่มใช้ในเดือนตุลาคมนี้ จะเห็นว่า ในหลายโครงการมีการเปลี่ยนแปลงมาก เช่น ฟุตบาททางเท้า โรงเรียน, ศูนย์สาธารณสุข, สถานีดับเพลิง ก็มีโครงการพวกนี้อยู่เยอะ เราจะทำโครงสร้างในระดับเส้นเลือดฝอยแบบนี้ให้เยอะขึ้น สิ่งที่อยากเน้นมาก ๆ ก็คือ สาธารณสุข เพราะคือต้นเหตุของความเหลื่อมล้ำ รวมถึงการเศึกษาก็อยากจะให้เด็กเข้าถึงคุณภาพการศึกษาที่ดี และให้โรงเรียนทัดเทียมกับโรงเรียนเอกชน เมื่อเราเริ่มด้วยสุขภาพที่ดี การศึกษาที่ดี ก็จะเป็นสิ่งที่ตั้งต้นให้ประชาชนเดินได้อย่างเข้มแข็ง”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ในส่วนของการถกเถียง เรื่องงบฯ ที่ดูเหมือนว่าจะมีข้อติดขัดบางอย่าง ชัชชาติ บอกว่า ก็อาจจะมีข้อกำหนดต่าง ๆ ที่ไม่ค่อยชัดเจนว่าจะแปรเพิ่มหรือแปรลด ได้หรือไม่ แต่ก็ผ่านไปได้ด้วยดี ด้วยความเข้าใจกัน และเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง 

นอกจากนี้ยังทิ้งท้ายว่า กทม. เองก็พยายาม เปิดพื้นที่ การมีส่วนร่วมในการติดตามและตรวจสอบการทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยมีเว็บไซต์ซึ่งจะมีรายละเอียดของโครงการ และงบประมาณต่าง ๆ ของ กทม. ได้ มีการบอกความก้าวหน้าของแต่ละโครงการ งบฯ ที่แปรมาเป็นอะไรได้ เพราะหัวใจคือความโปร่งใส สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน ฉะนั้น ประชาชนก็จะช่วยตรวจสอบได้ดีที่สุด

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active