ขอ กทม. ชะลอส่งร่างผังเมืองใหม่ ให้ มท. หลังคนมีส่วนร่วมไม่ถึง 1%

‘สส. พรรคประชาชน’ ชวนจับตาร่างผังเมือง กทม. ฉบับล่าสุด พบสิ้นสุดกระบวนการรับฟังความเห็น แต่การมีส่วนร่วมประชาชนน้อยมาก หวั่นแก้ไขอะไรไม่ได้อีกในขั้นตอนต่อไป ย้ำมีอีกหลายคำถามที่ กทม. ยังตอบไม่ชัดเจน

ณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ สส. พรรคประชาชน ร่วมแถลงข่าวเกี่ยวกับร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับล่าสุด หลังการสิ้นสุดการรับฟังความคิดเห็นประชาชนไปเมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา ย้ำ ‘ผังเมือง’ มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนในทุกแง่มุม ตั้งแต่การเดินทาง การทำงาน จนถึงการใช้ชีวิตประจำวัน แม้จะขยายเวลารับฟังเพิ่มเติม แต่ประชาชนยังมีส่วนร่วมน้อยมาก หวัง กทม. สร้างการมีส่วนร่วมของคนในเมือง

ณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ สส. พรรคประชาชน

ประชาชนเข้าร่วมแสดงความเห็นต่อร่างผังเมืองฯ ไม่ถึง 1%

สำหรับกระบวนการรับฟังความคิดเห็น แม้จะขยายเวลาจาก 1 เดือนเป็น 6 เดือน และจัดการประชุมครอบคลุมทุกเขตของ กทม. แต่ยังคงขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างกว้างขวาง หลายเวทีมีผู้เข้าร่วมเพียง 20 – 30 คนเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตัวแทนหน่วยงานหรือชุมชนที่จดทะเบียน ขณะที่ประชาชนทั่วไปยังขาดความเข้าใจและการเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ เนื้อหาในการประชุมยังค่อนข้างซับซ้อนและเชิงเทคนิค ทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนไม่ทั่วถึง

ขณะที่ สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยข้อมูลว่า กทม. มีประชากรที่อยู่อาศัยไม่น้อยกว่า 5.5 ล้านคน และยังมีประชากรแฝงไม่น้อยกว่า 2.5 ล้านคน แต่การรับฟังความเห็นกลับ ขาดการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง เน้นแต่ช่องทางออนไลน์ จึงทำให้การรับฟังความเห็นตกหล่น โดยมีคนเข้าแสดงความเห็น นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 – ปัจจุบัน มีเพียงประมาณ 20,000 คน หรือ 0.39% ของประชากรเท่านั้น

ณัฐพงศ์ ยังตั้งข้อสังเกตว่า มีหลายประเด็นที่ได้รับความสนใจจากประชาชน เช่น การขยายถนนและโครงข่ายคมนาคม โดยทาง กทม. ยืนยันว่า จะยกเลิกการขยายถนนในบางสายที่ประชาชนไม่เห็นด้วย รวมถึงการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ กรุงเทพฯ ตะวันออกซึ่ง กทม. มีแนวคิดที่จะลดขนาดพื้นที่เขียวจากเดิมที่วางไว้

“ในส่วนของถนนสายเดิมขยาย ที่เป็นถนนสาย ก และถนนสาย ค ที่ประชาชนไม่เห็นด้วย ทาง กทม. จะยกเลิกทั้งหมด อันนี้เป็นคำยืนยันจาก กทม. ในทุก ๆ เวทีของการรับฟังความคิดเห็น”

ณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์

ส่วนกระบวนการต่อไปคือการนำความคิดเห็นของประชาชนไปประมวลผลและปรับปรุงร่างผังเมือง ก่อนเข้าสู่การพิจารณาในขั้นตอนที่ 10 ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่ประชาชนจะได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ซึ่ง กทม. จะนำผังเมืองใหม่มาปิดประกาศ 90 วัน และหากพ้นขั้นตอนนี้ไปแล้ว ประชาชนก็อาจจะไม่ได้อยู่ในสมการนี้อีกต่อไป ณัฐพงศ์ จึงก็ขอให้ประชาชนได้ติดตาม จับตาเรื่องนี้ต่อไปว่ารายละเอียดของขั้นตอนที่ 10 ในช่วงปิดประกาศ 90 วัน จะเป็นอย่างไร

ขอ กทม. ชะลอส่งร่างผังเมืองฯ ให้มหาดไทย ต่อลมหายใจให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม

ขณะที่ ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส. พรรคประชาชน ระบุถึงข้อกังวลเกี่ยวกับร่างผังเมืองใหม่ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยขอให้ทาง กทม. ชะลอการส่งร่างผังเมืองนี้ไปยังมหาดไทย เพราะเมื่อส่งไปแล้ว ประชาชนจะไม่มีโอกาสในการแสดงความคิดเห็นใด ๆ อีก และขอให้ กทม. เปิดเผยความเห็นของประชาชนที่มีต่อผังเมือง และแสดงให้เห็นว่า กทม. เห็นด้วยหรือเห็นค้านอย่างไรต่อเสียงเหล่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้การร่างผังเมืองฯ มีความโปร่งใสและรับฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง

“ขออย่าพึ่งรีบส่งร่างไปยังทางมหาดไทย ขอให้เปิดโอกาสรับฟังให้พี่น้องประชาชนได้มีโอกาสได้พิจารณาและแสดงความคิดเห็นต่อร่าง ให้ได้แก้อย่างถี่ถ้วนรอบคอบ เพราะว่าเมื่อส่งไปแล้ว โอกาสในการแก้ของพี่น้องประชาชนจะแทบเป็นไปไม่ได้เลย”

ศุภณัฐ มีนชัยนันท์
ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส. พรรคประชาชน

แม้ กทม. จะมีการปรับแก้และรับฟังมาหลายครั้ง แต่หลายข้อกังวลของประชาชนยังไม่คลี่คลายซึ่ง ศุภณัฐ ร่ายยาวประเด็นสำคัญที่ยังต้องการคำตอบที่ชัดเจนจากทาง กทม. ดังนี้

  • การเปิดเผยความคิดเห็นของประชาชน: เรียกร้องให้ กทม. เปิดเผยข้อมูลความคิดเห็นของประชาชนที่เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างผังเมือง โดยควรชี้แจงว่ามีการตอบสนองต่อความคิดเห็นเหล่านี้อย่างไร
  • การพิจารณาร่างผังเมืองใหม่: ประชาชนควรได้รับโอกาสในการตรวจสอบร่างผังเมืองฉบับปรับปรุงก่อนที่จะส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • พื้นที่ทหารที่ไม่ถูกควบคุมตามกฎหมายผังเมือง (ผังสีขาว): พื้นที่ทหารไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อกำหนดของผังเมือง ซึ่งทำให้มีอิสระในการพัฒนาที่ดินอย่างไม่ถูกควบคุม นำไปสู่การสร้างผลประโยชน์เข้ากองทัพอย่างมีอภิสิทธิ์ ขณะที่ประชาชนต้องทำตามกฎอย่างเคร่งครัด
  • การใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว: มีการนำสนามกอล์ฟเอกชนเข้ามาอยู่ในพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่เพื่อการนันทนาการหรือพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ของผังเมืองที่เน้นการสร้างพื้นที่สาธารณะ
  • การจัดการพื้นที่เขียวลาย (พื้นที่ทางน้ำหลาก): ยังคงมีการลิดรอนสิทธิ์ของประชาชนในพื้นที่สีเขียวลาย ซึ่งต้องการความชัดเจนจาก กทม. ว่าจะมีการดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างไร
  • การปรับผังสีแดง และ FAR Bonus: การปรับพื้นที่ให้สามารถสร้างสิ่งปลูกสร้างได้มากขึ้น (ยิ่งค่า FAR สูง ยิ่งสร้างอาคารได้สูง) ยังขาดความชัดเจน โดยเฉพาะการปรับบางพื้นที่ที่อาจเกี่ยวข้องกับกลุ่มทุนใหญ่ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่
  • ที่ดินของรัฐที่เปลี่ยนเป็นเชิงพาณิชย์: การเปลี่ยนพื้นที่ราชการใจกลางเมืองเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยไม่มีความชัดเจนว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์หรือไม่
  • การเวนคืนที่ดินเพื่อพัฒนาถนน: มีถนนหลายเส้นที่ถูกกำหนดไว้นานแล้วแต่ยังไม่มีการพัฒนา ทำให้ประชาชนในพื้นที่เหล่านั้นลังเล และไม่สามารถพัฒนาที่ดินได้อย่างเต็มที่ ต้องการให้ กทม. ชัดเจนว่าถนนเหล่านี้จะถูกสร้างหรือไม่

ศุภณัฐ ทิ้งท้ายขอให้ กทม. กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินของกิจการหรืออาคารบางประเภท เพราะว่ามีหลายกิจการที่ถูกจัดอยู่ในประเภทพาณิชย์ เช่น ธุรกิจสถานบันเทิง ซึ่งอาจสร้างความรบกวนต่อชุมชนโดยรอบได้ แนะให้ประสานกับหน่วยงานราชการ ว่าจะระบุธุรกิจเหล่านี้อย่างไรในผังเมือง เพื่อป้องกันความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active