องค์กรผู้บริโภค สะท้อนหลากปัญหาหลังปฏิรูปรถเมล์ พบ เอกชน เดินรถทับเส้นทาง ขสมก. หวั่นผูกขาดเส้นทาง ทำผู้มีรายได้น้อยไร้ทางเลือก จำใจใช้บริการขนส่งราคาแพง เสนอระบบเชื่อมต่อ ค่าโดยสารไม่เกิน 30 บาทต่อวัน
วันนี้ (26 ส.ค. 67) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงข่าว “ทบทวนปฏิรูปรถเมล์ หยุดบาดแผลคนกรุง” โดยระบุว่า รถเมล์เป็นระบบบริการขนส่งสาธารณะขั้นพื้นฐานที่อยู่ใกล้ตัวประชาชนส่วนใหญ่ แต่เวลานี้กลับกลายเป็นระบบที่ขาดประสิทธิภาพ ไม่มีการเชื่อมต่อโครงข่าย ราคาค่าโดยสารแพงจากการต้องต่อรถหลายสายหลายทอด ประชาชนในหลายพื้นที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการ ป้ายรถเมล์ที่ใช้ไม่ได้จริง และ คนขับขาดวินัย ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้บริโภคที่รายได้น้อย และไม่มีทางเลือกไปใช้บริการขนส่งสาธารณะราคาแพงอย่างรถไฟฟ้าทั้งใต้ดิน-บนดิน
ที่สำคัญหลังจากกรมการขนส่งทางบก เดินหน้าแผนปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ 269 เส้นทาง โดยเอกชนได้รับ 162 เส้นทาง ขสมก. ได้รับ 107 เส้นทาง แต่กลับพบว่า การเดินรถของเอกชนบางราย ขอวิ่งทับซ้อน ขสมก. 36 เส้นทาง ทั้ง 8 เขตเดินรถ และบางเส้นทางที่ขอปรับมีการทับซ้อนกับเส้นทางขสมก. 100 เปอร์เซ็นต์
ที่สำคัญหากเส้นทางรถเมล์ของ ขสมก. ตกอยู่ในมือเอกชนทั้งหมด นั่นย่อมทำให้ประชาชนที่ใช้บริการรถเมล์ ขสมก. ไม่สามารถใช้บัตรโดยสารชำระเงินบนรถเมล์เอกชน ไม่ว่าจะเป็น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, บัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ ขสมก. รายเที่ยว, บัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ ขสมก. รายเดือน/รายสัปดาห์ ทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศ, บัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ ขสมก. รายเดือน สำหรับนักเรียน-นักศึกษา ทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศ
อีกทั้งปัญหาที่เกิดหลังการปฏิรูปยังตัด ปรับเปลี่ยนเส้นทาง, เปลี่ยนแปลงเลขสายเส้นทางเป็นเลขขีดและภาษาอังกฤษ, บางสายที่ ขสมก. วิ่งอยู่เดิม ให้เอกชนเข้ามาวิ่งแทน ทำให้เกิดระบบผูกขาดเส้นทาง
“มีเสียงสะท้อนจากผู้ใช้บริการที่ได้รับผลกระทบจากการที่รถขาดระยะ รถน้อยคอยนาน มีรถวิ่งบริการไม่เพียงพอเกือบทุกเส้นทาง เกิดความยากลำบากในการเดินทาง”
นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชี้ว่า หลังปฏิรูปรถเมล์ ที่เห็นได้ชัดนั่นคือ รถเมล์ไม่เพียงพอในช่วงเวลาเร่งด่วนหลายสาย โดยเฉพาะ 14 เส้นทางที่ ขสมก. เลิกวิ่ง และล่าสุดอีก 49 เส้นทางที่จะหยุดวิ่งหลังวันที่ 31 ส.ค. 67 แต่เดิมเคยเป็นเส้นทางวิ่งสายยาว แต่จากนโยบายใหม่ ที่ต้องการให้รถเมล์วิ่งระยะสั้นมากขึ้น เป็นผลมาจากแผนปฏิรูปรถเมล์ ที่ตั้งเป้าเป็น “1 เส้นทาง 1 ผู้ประกอบการ” แต่ได้กลายเป็นการผูกขาดเส้นทาง และผู้ให้บริการมีรถไม่เพียงพอรองรับประชาชนในเวลาเร่งด่วน ที่สำคัญยังส่งผลกระทบต่อผู้โดยสาร เพราะต้องแบกรับค่าโดยสารที่เพิ่มขึ้นเท่า
เช่น ราคาโดยสารของเอกชน เริ่มต้น 15 บาท ขณะที่ ขสมก. เริ่มต้นเพียง 8 บาท ซึ่งคนที่มีรายได้น้อย หากต้องนั่งรถเมล์วันละหลายสาย ค่าแรงจากการทำงานที่ได้มาก็ไม่เพียงพอกับค่ารถต้องแบกภาระค่าโดยสาร
“แม้เอกชนมีโปรโมชันให้ซื้อบัตรโดยสาร 40 บาท ถึงแม้สามารถเดินทางได้ทั้งวัน แต่กลับไม่มีรถวิ่งทุกเส้นทาง แถมรถเอกชนบางสายไม่ยอมให้ใช้สิทธิผู้สูงอายุ ส่วนผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่สามารถใช้กับรถของเอกชน ในเมื่อรถที่ให้บริการมีไม่เพียงพอต่อความต้องการจึงสร้างความเดือนร้อนทำให้ประชาชนเดินทางยากลำบากยิ่งขึ้น”
นฤมล เมฆบริสุทธิ์
รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุด้วยว่า ปัญหาการเปลี่ยนเลขหมายการเดินรถในเส้นทางปฎิรูปทำให้ประชาชนสับสน อีกทั้งป้ายรถเมล์ไม่บอกเส้นทาง บอกแต่เบอร์รถ และเป็นป้ายเก่า ไม่ใช่ป้ายที่บอกเลขหมายใหม่ แต่กลับขาดช่องทางประชาสัมพันธ์ที่ให้ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบเส้นทางการเดินรถโดยสะดวก
“การปฎิรูปรถเมล์ กรมการขนส่งทางบก ต้องยึดหลักการที่ไม่กระทบประชาชน โดยสิ่งที่ต้องตระหนัก นั่นคือ ขสมก. เป็นหน่วยงานที่ให้บริการประชาชนทุกกลุ่ม ทุกวัย และมีค่าโดยสารเริ่มต้น 8 บาท เป็นรถเมล์ขวัญใจคนจน ส่วนรถไทยสมายล์ บัส ประชาชนต้องแบกรับค่าโดยสารเพิ่ม ในเมื่อมีเสียงวิจารณ์จากผู้ใช้บริการมาตลอด เหตุใด กรมการขนส่งทางบก ในฐานะผู้กำกับดูแล กลับไม่ยอมแก้ปัญหาในภาพรวมเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับบริการที่ดีขึ้น”
นฤมล เมฆบริสุทธิ์
ดังนั้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค และ เครือข่ายเพจรถเมล์ไทย จึงเดินหน้าผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหารถเมล์โดยสารให้กับคนกรุงเทพฯ โดยยื่นข้อเสนอต่อกรมการขนส่งทางบก ขอให้มีทบทวนการปฏิรูปเส้นทางรถรถเมล์โดยสารในกรุงเทพฯ โดยขอให้ทบทวนข้อกำหนด “1 เส้นทาง 1 ผู้ประกอบการ” ที่ทำให้ไม่มีรถเพียงพอกับประชาชนที่ใช้บริการ, มีมาตรการจัดการระบบรถโดยสารให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยต้องประสานความร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดให้มีเส้นทางการเดินรถเมล์โดยสารที่สะดวกรวดเร็ว
- เสนอให้มีป้ายรถเมล์ที่บอกรายละเอียดเส้นทางเดินรถจากจุดเริ่มต้น เส้นทางที่ผ่าน และจุดหมายปลายทางทุกป้ายรถเมล์
- ส่วนรถร้อนต้องมีเหมือนเดิม และราคาต้องเป็นมาตรฐานเดียว สิทธิผู้สูงอายุรวมถึงผู้มีบัตรสวัสดิการของรัฐต้องสามารถใช้บริการของเอกชนได้
- เสนอให้มีระบบเชื่อมต่อรถเมล์โดยสารระหว่างรัฐวิสาหกิจและเอกชนแต่ ค่าโดยสารต้องไม่เกิน 30 บาทต่อวัน
- ขอเสนอให้มีตัวแทนผู้บริโภคที่ใช้บริการ องค์กรผู้บริโภค เข้าไปมีส่วนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและเอกชน ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ในการออก กฎหมาย มาตรการกำกับ และหลักเกณฑ์ การกำกับดูแล เพื่อให้ผู้บริโภคที่ใช้บริการได้รับการคุ้มครองสิทธิ อย่างเป็นธรรม
“เมื่อใดก็ตามที่หน่วยงานภาครัฐ ละเลยระบบขนส่งสาธารณะ นั่นย่อมหมายความได้โดยง่ายว่ากำลังละเลยความเดือดร้อนของประชาชน”
ผู้ใช้บริการรถเมล์