4 ทีมเยาวชนเสนอไอเดียพัฒนาเมืองผ่านกลไกสภา กทม. เสนอนโยบายส่งเสริมสุขภาพจิตในโรงเรียน-กระจายอำนาจการศึกษา-สร้างชุมชนนักซ่อมเพื่อแก้ปัญหาขยะล้นเมือง “รองผู้ว่าฯ ศานนท์” ระบุ เราขาดการมีส่วนร่วมที่มีความหมายแบบนี้ในสังคม สภาเมืองคนรุ่นใหม่เป็นพื้นที่ทำให้ทุกคนได้คุยในปัญหาเดียวกัน
วันนี้ (25 ส.ค. 67) ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง ได้จัดการประชุมสภาเมืองคนรุ่นใหม่ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2567 ซึ่งเป็นเวทีสำคัญในการนำเสนอนโยบายจาก 4 ทีมเยาวชนที่มีแนวคิดใหม่ ๆ เพื่อนำมาพัฒนาและแก้ไขปัญหาของกรุงเทพมหานคร ซึ่งทีมทั้ง 4 ได้นำเสนอแนวทางที่น่าสนใจและสร้างสรรค์ซึ่งมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของประชาชนในเมืองหลวงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สภาเมืองคนรุ่นใหม่ได้เริ่มเปิดโครงการตั้งแต่ปี 2566 จนถึงวันนี้ มีทีมคนรุ่นใหม่ที่มาร่วมนำเสนอนโยบายในสภาแล้วทั้งสิ้น 31 ทีมและนับเป็นสมาชิกสภาเมืองคนรุ่นใหม่ทั้งสิ้น 676 คน ด้าน ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มองว่านี่คือขุมทรัพย์ทางไอเดียที่จะช่วยให้กลไกของกรุงเทพมหานครขับเคลื่อนไปได้อย่างตอบโจทย์คนรุ่นใหม่มากขึ้น
ไม่เพียงเท่านั้น ศานนท์ เห็นว่าการดำเนินสภาเมืองคนรุ่นใหม่ โดยให้คนรุ่นใหม่ได้ทำงานร่วมกันกับกลไกของกทม. ช่วยทำให้ข้าราชการในแต่ละสำนักได้มีพลังงานใหม่ ๆ และมีความเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น โดยยอมรับว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีความซับซ้อน หลากหลาย เมื่อมาอยู่ร่วมกันย่อมเกิดปัญหาขึ้นได้ง่าย แต่สิ่งสำคัญคือเราจะนำปัญหาที่เกิดขึ้นมาตีแผ่และแก้ไขให้ตรงจุดได้อย่างไร พื้นที่สภาเมืองคนรุ่นใหม่จึงเป็นหนึ่งในคำตอบของปัญหาเหล่านั้นได้
“จากการนำเสนอของแต่ละทีมในวันนี้ เราเห็นว่าเขาก็ต่อว่าเราจริง ๆ แต่เขาต่อว่าเพียง 20% เท่านั้น ในอีก 80% ที่เหลือเยาวชนเขาพยายามนำเสนอทางแก้ไขให้พวกเรา และเป็นแนวทางที่ได้ทดลองทำมาแล้วด้วย ผมว่าเราขาดการมีส่วนร่วมที่มีความหมายแบบนี้ในสังคม แต่สภาเมืองคนรุ่นใหม่เป็นพื้นที่ที่ทำให้คนทุกคนได้มาพูดคุยกัน ในปัญหาเดียวกัน”
ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม.
เปิดนโยบายคนรุ่นใหม่ 4 ทีม เน้นการศึกษา – สุขภาพจิต – สิ่งแวดล้อม
ในทีมที่ 1 ทีม Parkerhood – เพื่อนบ้านที่แสนดี ได้เสนอแนวทางในการจัดการกับปัญหาการขาดพื้นที่และโอกาสในการซ่อมแซมและแลกเปลี่ยนข้าวของในชุมชน ซึ่งส่งผลให้ทรัพยากรสูญเปล่าและสิ่งแวดล้อมได้รับผลกระทบ ทีมนี้แนะนำให้มีการสร้าง “สิทธิในการซ่อม” โดยเน้นการเพิ่มความตระหนักและการส่งเสริมสิทธิของประชาชนในการซ่อมแซมสินค้าและอุปกรณ์ต่างๆ นอกจากนี้ยังเสนอการจัดกิจกรรมซ่อมแซมในชุมชนเพื่อสร้างสังคมที่มีนักซ่อมแซม และการจัดตั้งพื้นที่แลกเปลี่ยนข้าวของที่ไม่ใช้แล้ว เพื่อส่งเสริมการรีไซเคิลและการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน
Parkerhood ยังเปิดเผยว่าปริมาณขยะมูลฝอยในกรุงเทพมหานครมีจำนวนมากกว่า 12,000 ตันต่อวัน ดังนั้นหากมีกลไกในการซ่อมแซมหรือรีไซเคิล ข้าวของ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ก็จะไม่ถูกทิ้งเป็นขยะ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ช่วยลดปริมาณขยะ และยังช่วยเสริมสร้างงาน สร้างรายได้จากการบริการซ่อมแซมในชุมชนอีกด้วย
สำหรับการดำเนินการให้สำเร็จ Parkerhood ได้ขอความร่วมมือจากทางเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กรมแรงงานและศูนย์ฝึกอาชีพ และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อเป็นภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนนโยบายเหล่านี้ให้เกิดขึ้นได้จริง
“การซ่อมแซมไม่ใช่แค่การแก้ไขสิ่งของที่ชำรุด แต่เป็นการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับชุมชนและโลกของเรา”
Parkerhood
ทีม Mentale Forte มุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างสุขภาพจิตและ self-esteem ของเยาวชน โดยเสนอแนวคิด “หนึ่งโรงเรียนหนึ่งที่พักใจ” ทีมนี้เห็นว่าพื้นที่ในการแสดงออกและการเรียนรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิตและทักษะชีวิตในสถานศึกษาไม่เพียงพอ พวกเขาจึงเสนอการจัดตั้ง Co-working space ในโรงเรียน ซึ่งจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เยาวชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิตและทักษะชีวิต รวมถึงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในโรงเรียนเพื่อบรรเทาความเครียดและเพิ่มความคิดสร้างสรรค์
Mentale Forte อธิบายว่าเด็กและเยาวชนในกรุงเทพมหานครกำลังเผชิญปัญหาขาด self-esteem หรือการขาดความภูมิใจในตัวเอง ซึ่งส่งผลต่อระดับสุขภาพจิตของเยาวชนและอาจนำไปสู่โรคทางจิตเวชได้ โดยผลการวิจัยพบว่าการมี self-esteem จะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าได้ กลุ่มนี้จึงต้องการสร้างพื้นที่เชิงรุกเพื่อเปิดพื้นที่ให้เยาวชนสามารถทำกิจกรรมสร้าง self-esteem เช่น เวทีแสดงทักษะความสามารถอย่างปลอดภัย และหวังส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพจิตให้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่อีกด้วย
“อยากเห็นเด็กและเยาวชนมีสุขภาพจิตที่ดี มีพื้นที่ปลอดภัยได้แสดงความสามารถและทักษะของตนเอง รวมทั้งได้พัฒนาทักษะชีวิตจัดการความเครียดและควบคุมอารมณ์ได้และเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแรงในอนาคต”
Mentale Forte
ทีม Fourflowers มาไกลจากเขตหนองจอก และได้เล่าถึงสภาพปัญหาว่า แม้กรุงเทพฯ จะได้รับการประกาศเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้แล้ว แต่การเข้าถึงพื้นที่แห่งการเรียนรู้ในหลายเขตโดยเฉพาะบริเวณชานเมืองยังเข้าถึงได้ยาก ส่วนใหญ่จะกระจุกอยู่ในพื้นที่ตัวเมืองอย่างเขตปทุมวัน บางรัก คลองสาน และธนบุรี
“มันเป็นความจริงที่น่าเจ็บปวดว่า บ้านของเราไม่มีพื้นที่การเรียนรู้เหมือนเขตคนอื่นเขา…เพราะเหตุใดเขตที่ใหญ่ที่สุดในกทม. ไม่สามารถเป็นย่านแห่งการเรียนรู้ได้ หรือพวกเราไม่สำคัญมากพอ”
Fourflowers
ขณะที่เขตหนองจอกเป็นเขตไกลตัวเมืองนั้น มีพื้นที่ในการเรียนรู้น้อยมาก แต่พวกเขาเล็งเห็นว่าในพื้นที่หนองจอกล้วนเต็มไปด้วยแหล่งการเรียนรู้ของชุมชน มีปราชญ์ชาวบ้านที่คอยให้ความรู้อยู่เสมอ และมีเครือข่ายสร้างความรู้ในชุมชน ตนจึงเชื่อว่าเขตหนองจอกจะสามารถเป็นศูนย์กลางย่านแห่งการเรียนรู้ของกรุงเทพตะวันออกได้ และทำให้ความรู้ไม่กระจุก แต่กระจายออกรอบข้าง
โดยกลไกการทำนโยบาย พวกเขาเสนอแนวทางการพัฒนาเขตหนองจอกให้เป็น “ย่านแห่งการเรียนรู้” ซึ่งมีการจัดตั้ง Learning Hub และ Extracurricular Activities Map (EAM) เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการเรียนรู้และพัฒนาทักษะต่าง ๆ ของเยาวชนในพื้นที่ พวกเขาต้องการให้เขตหนองจอกเป็นต้นแบบในการป้องกันการพลัดถิ่นของเยาวชนจากปัญหาด้านการศึกษา และเสริมสร้างความหวังในการศึกษาต่อโดยการปรับปรุงคุณภาพด้านการศึกษาอีกด้วย
สุดท้าย ทีมสถาบันบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้ ได้นำเสนอ “Board Game Learning Space in School” โดยเสนอให้จัดตั้งพื้นที่เรียนรู้โดยใช้บอร์ดเกมในสถานศึกษา ทีมนี้เน้นการพัฒนาทักษะการจัดการตนเองและ Soft Skills ผ่านการเล่นบอร์ดเกม เพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถออกแบบการเรียนรู้ของตัวเองได้ นอกจากนี้ยังเสนอให้โรงเรียนมีอำนาจในการจัดซื้อสื่อการเรียนรู้เพิ่มเติมตามความต้องการของนักเรียน
ทีมสถาบันบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้ นำเสนอว่า ปัจจุบัน วิธีการเรียนรู้ไม่ได้มีเพียงแค่การนั่งอยู่กับโต๊ะและฟังคุณครูเพียงอย่างเดียวแต่มีวิธีการสร้างการเรียนรู้ที่หลากหลายมากขึ้น โดยบอร์ดเกมก็เป็นหนึ่งในสื่อการเรียนรู้ โดยมีงานวิจัยพบว่าบอร์ดเกมจะช่วยเสริมสร้างทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็กและเยาวชนได้ ทั้งยังช่วยสร้างทักษะในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในสังคมซึ่งเป็นทักษะที่ห้องเรียนไม่อาจให้กับเยาวชนได้โดยตรง
ทางทีมได้เล็งเห็นโอกาสว่า โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครมีจำนวนมากกว่า 437 โรงเรียน ซึ่งสามารถเป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนได้อย่างเต็มที่ ทั้งพื้นที่ กทม. ยังมีร้านบอร์ดเกมมากกว่า 20 กว่าร้านกระจายตัวทั่วกรุงเทพฯ และยังมีหน่วยงานอย่าง TK Park ที่มีองค์ความรู้ในการบริหารการจัดการบอร์ดเกม จึงเท่ากับว่ากรุงเทพมหานครมีต้นทุนเพียงพอในการที่จะดำเนินนโยบายนี้อย่างไม่เป็นอุปสรรค
แต่เดิมโรงเรียนจะใช้เงินอุดหนุนรายหัวในการจัดซื้อสื่อการเรียนรู้ตามกำหนดของกระทรวงศึกษาธิการ แต่ทางทีมมองว่า จะดีกว่านี้หรือไม่ ถ้าหากมีการจัดทำรายชื่อสื่อที่กรุงเทพมหานครอนุญาตให้โรงเรียนสามารถจัดซื้อได้เพิ่มขึ้น และสามารถปรับเปลี่ยนรายชื่อนี้ได้ในทุกปี รวมถึงปรับรูปแบบการใช้งบ โดยจัดตั้งเป็นงบประมาณที่โรงเรียนสามารถตัดสินใจซื้อได้ด้วยตนเองภายใต้วงเงิน 10% ของงบประมาณต่อปี ซึ่งโรงเรียนจะได้ใช้เงินราว 100,000 บาทเพื่อไปซื้อสื่อการเรียนรู้ที่ตรงใจกับนักเรียนและครูผู้สอน
“เมื่อโรงเรียนมีงบประมาณ (ซึ่งอาจเป็นในรูปแบบของกองทุน) ก็สามารถให้นักเรียนร่วมกันลงชื่อ เช่น จำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน เพื่อเสนอต่อโรงเรียนในการจัดซื้อสื่อที่พวกเขาสนใจซึ่งนี่จะเป็นก้าวแรกของการทำให้โรงเรียนได้เป็นของพวกเขาอย่างแท้จริง”
ทีมสถาบันบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้