สหภาพรถไฟฯ ทวง กทม. ค้างจ่ายค่าใช้ประโยชน์ที่ดินตลาดนัดจตุจักร

ชี้ กทม. เข้ามาบริหารจัดการพื้นที่ตลาดนัดจตุจักร เรียกเก็บค่าเช่าผู้ค้า แต่ไม่นำเงินชำระค่าใช้ประโยชน์ที่ดินให้แก่ รฟท. ขัดเงื่อนไขข้อตกลง

วันนี้ (22 ส.ค. 67) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ยื่นหนังสือถึง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อติดตามกรณี กทม. ค้างชำระค่าใช้ประโยชน์ในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยบริเวณตลาดนัดสวนจตุจักร 

สราวุธ สราญวงศ์ ประธาน สร.รฟท. กล่าวว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน และวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนของกลุ่มผู้ค้ารายย่อยภายในตลาดนัดจตุจักร และลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนผู้ใช้บริการในตลาดนัดจตุจักร โดยให้กระทรวงคมนาคม ประสานงานกับกระทรวงมหาดไทย เร่งรัดการดำเนินการโอนความรับผิดชอบการบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักรจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ไปเป็นความรับผิดชอบของ กทม.  

โดยให้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการบริหารตลาดนัดจตุจักรระหว่าง รฟท. กับ กทม. เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามมติคณะรัฐมนตรี ได้มีการทำบันทึกข้อตกลง เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2561 โดย รฟท. ตกลงให้ กทม. เช่าที่ดินเพื่อบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักรทั้งหมด บนพื้นที่ 68 ไร่ 1 งาน 88 ตารางวา กำหนดอัตราค่าเช่าปีละ 169,423,250 บาท เป็นระยะเวลาเช่าไม่เกินปี พ.ศ. 2571 (10 ปี) และให้มีการพิจารณาทบทวนค่าเช่าร่วมกันทุก ๆ 3 ปี 

รวมถึง กทม. และ รฟท. ตกลงจัดทำสัญญาเช่าที่ดินตามแบบสัญญาเช่าที่ผ่านการตรวจร่างจากสำนักงานอัยการสูงสุด ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการบริหารตลาดนัดจตุจักร โดยมีผู้แทนของ รฟท. และ กทม. ลงนามร่วมกันไว้เป็นหลักฐาน ซึ่ง กทม. ได้เริ่มบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักรตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2561 เป็นต้นมา

ตามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการบริหารตลาดนัดจตุจักร รฟท. ได้ดำเนินการนำร่างสัญญาเช่าให้ กทม. ตรวจสอบเพื่อส่งให้พนักงานอัยการตรวจร่างตามเงื่อนไขในบันทึกข้อตกลง แต่ กทม. ไม่ยินยอมลงนาม ประสงค์จะใช้ร่างสัญญาที่ กทม. เป็นผู้จัดทำ ซึ่ง รฟท. ได้นำร่างสัญญาของแต่ละฝ่ายให้พนักงานอัยการวินิจฉัย โดย กทม. ขอระยะเวลาหารือกับ รฟท. เพื่อให้ได้ข้อยุติในการทำร่างสัญญา จนเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 รฟท. กับ กทม. ตกลงที่จะใช้ร่างสัญญาเช่าที่ดินตามที่ได้มีการเจรจาร่วมกัน และส่งร่างให้สำนักงานอัยการสูงสุด ตรวจพิจารณา แต่ปรากฏว่า กทม. ไม่ยอมลงนามสัญญาเช่า ซึ่งได้เจรจาและปรับแก้เงื่อนไขตามสัญญาแล้วหลายครั้ง เมื่อ รฟท. มีหนังสือแจ้งให้ กทม. ชำระค่าขาดประโยชน์ที่ยังค้างชำระแต่ กทม. เพิกเฉย 

ท้ายสุด รฟท. ได้มีหนังสือถึง กทม. ให้มาทำสัญญาเช่า และชำระค่าใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทที่ยังค้างชำระแต่ กทม. กลับเพิกเฉยไม่ยอมทำสัญญา จนนำมาสู่การฟ้องคดีทางแพ่งของ รฟท. 

สราวุธ สราญวงศ์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.)

ดังนั้น เพื่อเป็นการปกป้องและรักษาประโยชน์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีที่ กทม. ไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการบริหารตลาดนัดจตุจักร และตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง ซึ่งทราบว่า กทม. มีการยื่นอุทธรณ์ต่อศาล ด้วยเหตุนี้ สร.รฟท. จึงขอเรียกร้องให้ กทม. ดำเนินการให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ดังนี้

  1. ขอให้ กทม. เร่งรัดการชำระค่าใช้ประโยชน์จากการรับมอบที่ดินตลาดนัดจตุจักรจาก รฟท. แล้วนำไปให้บุคคลอื่นเช่าทำประโยชน์ โดย กทม. ได้รับค่าเช่าตอบแทนมาแล้ว เพื่อให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการบริหารตลาดนัดจตุจักร และคำพิพากษาศาล

  2. ขอให้ กทม. ถอนการอุทธรณ์คดีจากศาลแพ่งและดำเนินการร่วมกับ รฟท. ในการเจรจาแก้ไขปัญหาด้วยหลักธรรมาภิบาล ให้ได้ข้อยุติร่วมกันบนพื้นฐานตามระเบียบ ข้อกฎหมาย รวมทั้งภาระข้อผูกพันต่าง ๆ ที่มีขึ้นเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม และไม่ให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของหน่วยงานรัฐ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วสาธารณะชนต่างทราบทั่วกันว่า กทม.ได้เข้ามาบริหารจัดการพื้นที่ตลาดนัดจตุจักรจริง และเรียกเก็บค่าเช่าจากผู้เช่าจริง แต่กลับไม่นำเงินที่ได้นั้นไปชำระค่าใช้ประโยชน์จากที่ดินให้แก่ รฟท. การอุทธรณ์คดีถือเป็นการแสดงเจตนาในการประวิงเวลา และไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active