ร้อง รมว.ทส. ตรวจสอบการรับฟังความเห็น เพิกถอนแนวเขตอุทยานฯไม่เป็นธรรม

เครือข่ายทับลาน 43 ชี้ เจ้าหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เตรียมจับตาการประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ  สิ้นเดือนนี้  จี้ ให้ยึดแนวเขตปรับปรุง ปี 2543 ที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกัน

วันนี้ (13 ส.ค.67) ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตัวแทนเครือข่ายทับลาน 43 ซึ่งระบุว่าเป็นการรวมตัวของผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ใน 5 อำเภอจ.นครราชสีมา และ ปราจีนบุรี  เข้ายื่นหนังสือถึง รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่าน ฤทธิชัย พูลผนัง ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากร สำนักอุทยานแห่งชาติ ที่ได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ  รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขอให้ตรวจสอบกระบวนการรับฟังความเห็นต่อเพิกถอนพื้นที่ฯ ของอุทยานฯ เพราะเห็นว่าไม่เป็นธรรม และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ 

โดยตัวแทนเครือข่ายทับลาน 43 กล่าวว่า ตามที่อุทยานแห่งชาติทับลาน โดยสํานักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้เปิดรับ การรับฟังความคิดเห็น กรณีที่จะนําพื้นที่ป่าทับลานจํานวน 265,286.58 ไร่ จากพื้นที่ 1.4 ล้านไร่ ของพื้นที่อุทยาน แห่งชาติทับลาน ให้เป็นพื้นที่ ส.ป.ก. โดยเปิดให้ลงความคิดเห็น ในวันที่ 28 มิถุนายน-12 กรกฎาคม 2567 นั้น

ทางเครือข่ายฯ ซึ่งเป็นชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ตามประกาศ ประกาศสํานักบริหารอนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) เรื่องการรับฟัง ความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ในการกําหนดอุทยานแห่งชาติทับ ลาน จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดสระแก้ว ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากประกาศดังกล่าว เจ้าหน้าที่ดําเนินกระบวนการรับฟังความคิดเห็น โดยมิชอบด้วยกฎหมายหลายประเด็น 

1.ดําเนินการโดยมิชอบกับกระบวนการรับฟังความคิดเห็นซึ่งมีการไม่เป็นไปตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้องและประชาชนในการกําหนดพื้นที่ การขยายและการเพิกถอนฯ พ.ศ.2564 ข้อ 4(6) ซึ่งให้เจ้าหน้าที่รับฟัง ความคิดเห็น ไม่ได้จัดเตรียมข้อมูลในการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ในเรื่องประโยชน์และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนที่อยู่อาศัยหรือประกอบอาชีพอยู่ในบริเวณที่ มีการกําหนดพื้นที่ การขยาย หรือเพิกถอนอุทยานแล้วแต่กรณี รวมทั้งมาตรการป้องกันแก้ไข หรือเยียวยาความ เดือดร้อนหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

“เอกสารในการรับความเห็น ต่างจากในระบบออนไลน์ มีการเขียนหัวข้อการรับฟังที่คลุมเครือ เช่นไม่ได้บอกว่าเห็นด้วยกับแนวเขตปีไหน ทำให้ประชาชนที่ตั้งใจจะไปลงความเห็นสนับสนุนการปรับปรุงแนวเขตตามปี 2543 เกิดความสับสนไม่เป็นธรรม“ 

แดง มงกุฎกิ่ง ผู้ใหญ่บ้านคลองยาง หมู่ 3 ตำบลครบุรีใต้ จ.นครราชสีมา 

2.ประเด็นการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอํานาจในการบังคับใช้กฎหมายและต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในภาพรวมของประเทศ ให้ข้อมูลที่ไม่ชัดเจนในพื้นที่ที่ดําเนินการเพิกถอนตามประกาศทําให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจผิดในสาระสําคัญว่าเป็นการประกาศเพิกถอนพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ ซึ่งจริงๆแล้วเป็นพื้นที่ ที่ดําเนินการตามประกาศเป็นพื้นที่ที่ประชาชนอยู่อาศัยมาก่อนการประกาศอุทยานแห่งชาติ โดยเฉพาะได้มีการดําเนินการตามนโยบาย รัฐบาลในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องจนเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชนที่เข้าร่วมในนโยบายของรัฐ มาจนปัจจุบัน ซึ่งการ ดําเนินการของรัฐที่มีมาอย่างต่อเนื่องเพื่อจัดให้ประชาชนเข้าอยู่ในพื้นที่  

เริ่มตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2520 กรมป่าไม้ได้มอบพื้นที่ให้ ส.ป.ก. ดําเนินการแปลงวังน้ำเขียว แปลง 1 และแปลง วังน้ำเขียว แปลง 2 (ดําเนินการช่วง ธ.ค.2522- ก.พ.2523) และกรมป่าไม้ได้ร่วมกับ ส.ป.ก. และหน่วยงานความมั่นคง (โครงการกองบัญชาการผสมพลเรือน ตํารวจ ทหาร (พตท. 2021 ) กอ.รมน.ภาค 2 ดําเนินการด้าน การเมืองต่อมวลชน การป้องกันการปราบปรามคอมมิวนิสต์ในพื้นที่อีสานใต้) ซึ่งได้สํารวจรังวัดพื้นที่ป่าสงวน แห่งชาติป่าวังน้ําเขียวที่กรมป่าไม้ส่งมอบให้ ส.ป.ก. นําไปปฏิรูปที่ดินแล้วเสร็จ โดยในการสํารวจรังวัดมีการโยงยึดค่า พิกัดหมุดหลักฐานแผนที่ของกรมแผนที่ทหาร ตามหลักวิชาชีพของงานช่างสํารวจ ระบบพิกัดฉาก UTM”DATUM INDIAN ๑๕๗๕ เพื่อทราบตําแหน่งรูปแปลงที่แน่นอน และเนื้อที่ที่แน่นอน เพื่อดําเนินการตามโครงการพัฒนาการใน เขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งใช้เงินกู้จากธนาคารโลก(World Bank) และโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อความมั่นคง อพยพมาจัดตั้ง หมู่บ้านใช้ชื่อว่าบ้านไทยสามัคคี

ในปี พ.ศ. 2525 คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม อนุมัติให้กองทัพภาคที่ 2 ดําเนินการ โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อความมั่นคงในพื้นที่ (พมพ.) ในบริเวณพื้นที่รอยต่ออําเภอเสิงสาง อําเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา และปี พ.ศ. 2533 ได้เสนอให้กรมป่าไม้พิจารณาปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานให้สอดคล้องกับความเป็นจริง กรมป่าไม้ได้พิจารณาเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2534 และ ครม. ได้มีมติเห็นชอบให้ดําเนินการปรับปรุงอุทยานแห่งชาติทับลาน ด้วยแล้ว

ในปี พ.ศ. 2535 โครงการจัดที่ดินทํากินให้ราษฎรผู้ยากไร้ในป่าเสื่อมโทรม (ป่าโครงการ คอก.) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2535 พื้นที่ทหารร่วมกับกรมป่าไม้ ต่อมาส่งให้ ส.ป.ก. ดําเนิน การปฏิรูปที่ดิน ซึ่งมีป่าครบุรี จ. นครราชสีมารวมอยู่ด้วย ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน

รวมถึงประเด็น ไม่ได้ให้ข้อเท็จจริงในกรณีผลกระทบด้านการเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติคุณค่าทางมรดกโลก ในการขอให้พิจารณาอนุมัติเป็นแหล่งมรดกโลก กรมอุทยานฯ ต้องดําเนินการปรับปรุงแนวเขตอุทยาน แห่งชาติทับลานให้เสร็จภายในปี พ.ศ.2550 โดยจะกันพื้นที่ที่เป็นชุมชนและป่าเสื่อมโทรมออกจากอุทยาน 437.73 ตารางกิโลเมตร และจะผนวกเอาพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเข้ามาเป็นพื้นที่อุทยานทับลาน 176.27 ตารางกิโลเมตร ซึ่งกรม อุทยานฯ มิได้ดำเนินการกันพื้นที่ชุมชนออกตามความเห็นที่เสนอต่อองค์การยูเนสโก

3.การไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ ทับลานในการจัดรับฟังความคิดเห็นซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ให้หน่วยงานราชการที่มีความเป็นกลางมาร่วมดําเนินการรับฟังความคิดเห็นด้วย

4.เจ้าหน้าที่กระทําการโดยมิชอบด้วยกฎหมายโดยเข้าแทรกแซงกระบวนการรับฟังความเห็นโดยเห็นได้จากการให้ข้อมูลที่ไม่ชัดเจน จนปลุกปั่นให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจผิดต่อข้อมูลที่แท้จริงในพื้นที่ ซึ่งควรต้องดําเนินคดีแก่ผู้ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

5.ในการรับฟังความเห็นไม่ได้มีการชี้แจงให้ประชาชน ผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ทราบถึงผลกระทบ
ที่เกิดขึ้น จากการที่ไม่มีการเพิกถอน จะเกิดผลกระทบโดยตรงกับประชาชนอย่างไร หรือหากเพิกถอนไปประชาชนจะได้มีผล จากการเพิกถอนในประเด็นใดบ้าง ซึ่งเป็นการปกปิดข้อความจริงของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ที่ได้มีการดําเนินการ

จากประเด็นทั้งหมดนี้ เครือข่ายชาวบ้านรู้สึกที่อยู่ในพื้นที่ก่อนประกาศเขตอุทยานฯ ขอให้ยกเลิกประกาศดังกล่าว และขอให้สอบสวนดําเนินคดีตามมาตรา 157 กับเจ้าหน้าที่ที่จัดทํากระบวนการรับฟังความคิดเห็นตามประกาศ รวมถึงเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องที่ให้ความเห็นในข้อมูลที่บิดเบือนไม่เป็นไปตามความจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 

“เพราะทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ถูกสังคมตราหน้าว่าไปแย่งที่อยู่ของสัตว์ป่า และถูกดูหมิ่น เหยียดหยาม ถูกด่าทออย่างหยาบคาย จากคนทั้งประเทศ ที่ไปรับฟังข้อมูลแค่ด้านเดียวจากข้าราชการบางคนที่ออกมาให้ข่าวบิดเบือน ชักนําให้คนทั้งประเทศมาด่าพวกเราว่าเป็นผู้บุกแย่งที่อยู่ของสัตว์ ทั้งที่ไม่เป็นความจริง ตอนนี้ชาวบ้านทับลานรู้สึกทุกข์ใจเป็นอย่างมาก ที่ตกเป็นเป็นจําเลยสังคม เพียงเพราะข้าราชการที่ไม่เป็นกลางเพียงไม่กี่คน จึงขอร้องเรียนให้เร่งดําเนินการตรวจสอบข้อเท็จดังกล่าว รวมถึงสอบวินัยข้าราชการที่ไปออกข่าวพูดบิดเบือนกับช่องทางสื่อหลายสํานัก และโซเชียลมีเดีย จนทำให้ชาวบ้านเสียหาย“ 

นายวีระ  รัตนะอักษรกุล // เลขาเครือข่ายทับลาน 43

เครือข่ายทับลาน 43 ขอให้เร่งดําเนินการสอบสวนดําเนินคดีตามมาตรา 157 กับข้าราชการดังกล่าวที่ไปออกสื่อ และเจ้าหน้าที่ที่จัดทํากระบวนการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว พร้อมทั้งจะจับตาการประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ที่คาดว่าจะประชุมกันภายในเดือนสิงหาคมนี้ ว่าจะมีข้อสรุปในการปรับปรุงแนวเขตตามแนวปี2543  และดำเนินการจากนี้อย่างไรต่อไป ซึ่งหากอ้างตัวเลขการรับฟังความคิดเห็นเป็นหลักโดยไม่เพิกถอนพื้นที่  ต้องให้เป็นโมฆะ เพราะกระบวนการและการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ไม่เป็นธรรม 

ด้าน ฤทธิชัย พูลผนัง ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากร สำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า หากดูข้อมูลการรับฟังความคิดเห็นชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งมีส่วนได้เสียต่างเห็นด้วยที่จะให้อุทยานฯเพิกถอนพื้นที่ตามแนวเขต ปี2543 แต่ในระบบออนไลน์สารสนเทศ ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการเพิกถอนพื้นที่ ยืนยันว่าการพิจารณาของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ พิจารณาโดยใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องหลายส่วนมาประกอบการพิจารณาไม่ใช่แต่เฉพาะการรับฟังความคิดเห็น ทั้งนี้ จะนำข้อร้องเรียนดังกล่าวเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active