กทม. เร่งบูรณะ ‘ลุมพินีสถาน’ ผุดโรงละครสาธารณะ ต้อนรับเทศกาล BICT FEST

‘ศานนท์’ เผย กลางปีหน้าปรับปรุง ‘ลุมพินีสถาน’ เสร็จ พร้อมเปิดพื้นที่ให้ศิลปิน ผู้สร้างสรรค์ศิลปะ ได้ใช้งานในรูปแบบหอศิลป์กรุงเทพฯ ย้ำความสำคัญศิลปะ ต่อการพัฒนาเยาวชน เชื่อ “กรุงเทพฯ จะดีได้อยู่ที่คน”

เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าว เทศกาลละครนานาชาติสำหรับเด็กและเยาวชนกรุงเทพฯ หรือ BICT Festival ตั้งแต่วันที่ 1 – 11 สิงหาคมนี้ โดยมีงานศิลปะการแสดงทั่วพื้นที่ กทม. เพื่อเด็กได้ร่วมสนุก ย้ำความสำคัญในการพัฒนาเด็กและเยาวชนในกรุงเทพฯ เปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้สัมผัสศิลปะและสร้างสรรค์จินตนาการไปพร้อมกับครอบครัวและชุมชน

‘ลุมพินีสถาน’ พื้นที่สาธารณะของคนกรุง เพื่อศิลปะการแสดง

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวถึงความเข้มแข็งและอบอุ่นของชุมชนศิลปะละครและการแสดงในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของแวดวงนี้ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเด็กและเมืองอย่างมาก โดย BICT Festival ได้จัดขึ้นมาหลายปีแล้ว และยังมีงานอื่น ๆ อีก เช่น Bangkok Theatre Festival ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเด็กและเยาวชน พร้อมแย้มข่าวดีว่าในปีหน้ากรุงเทพฯ จะมีโรงละครอเนกประสงค์สาธารณะที่สวนลุมพินี

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

“ในกลางปีหน้า กทม. จะมีพื้นที่ใหม่สำหรับศิลปะการแสดงที่สวนลุมพินี ซึ่งเป็นการบูรณะอาคาร ‘ลุมพินีสถาน’ จากอาคารร้างให้เป็นโรงละครสาธารณะเอนกประสงค์ เปิดให้คนในชุมชนการละครสามารถเข้ามาสร้างสรรค์ผลงานได้ คล้ายกับโมเดลหอศิลป์”

ศานนท์ หวังสร้างบุญ

สำหรับการบูรณะ ‘ลุมพินีสถาน’ เกิดจากความร่วมมือและการให้ความเห็นของคนในแวดวงการแสดงที่สะท้อนว่า ก่อนหน้านี้พวกเขาไม่มีที่ฝึกซ้อม ต้องไปใช้พื้นที่ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ปัจจุบัน ลุมพินีสถาน อยู่ในขั้นตอนการปรับปรุง คาดว่าใช้เวลาประมาณ 270 วัน เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว พื้นที่นี้จะเปิดโอกาสให้ศิลปินและผู้สร้างสรรค์ศิลปะสามารถใช้งานได้ และจะใช้รูปแบบการอนุญาตเหมือนกับหอศิลป์กรุงเทพฯ (BACC)

ลุมพินีสถาน (ภาพถ่ายจาก Google Map)

“เด็กและเยาวชนเป็นสิ่งสำคัญ ไม่มีอะไรสำคัญกว่าการพัฒนาคน กรุงเทพฯ จะดีได้อยู่ที่คน และเด็กเป็นทรัพยากรที่สำคัญ งานศิลปะการแสดงเกี่ยวกับกับเด็กให้เด็กสร้างสรรค์จึงเป็นเรื่องสำคัญ”

ศานนท์ หวังสร้างบุญ

‘ศิลปะ’ คือภาษาแรกที่เด็กใช้สื่อสาร ทำความเข้าใจคนรอบข้าง

มิรา เวฬุภาค ผู้ก่อตั้ง Mappa ได้กล่าวถึงบทบาทสำคัญของศิลปะการแสดงต่อชีวิตผู้คน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน การแสดงบางเรื่องทำให้เราคิด ตั้งคำถาม เปิดมุมมองใหม่ ๆ และนำไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ เสริมสร้าง “จินตนาการ” ให้กับผู้ชม มิรา เล่าประสบการณ์ว่า การแสดงครั้งหนึ่งของ BICT FEST ในปีก่อนหน้านี้ที่ตนเคยได้ชม เป็นโชว์ที่นักดนตรีเชลโล เล่นดนตรีกับนักแสดงที่เล่น Juggling (การเล่นกลโยนบอล) โดยที่เวทีเหวี่ยงหมุนไปรอบ ๆ ห้อง

มิรา เวฬุภาค ผู้ก่อตั้ง Mappa

“การแสดงดังกล่าวไม่มีบทพูดเลยแม้แต่คำเดียว แต่มันสะท้อนท่าทางเดียวกับคนเป็นแม่ลูกสองวัย 6 ขวบกับ 4 ขวบ ที่กำลังสู้กับแรงเหวี่ยงของชีวิต และแรงใช้สุดกำลังในการประคองลูกและครอบครัวให้เติบโตได้อย่างดี และนี่คือบทบาทสำคัญ”

มิรา เวฬุภาค

มิรา ให้ความเห็นว่า ในกรุงเทพฯ มีพื้นที่การแสดงศิลปะอยู่จำนวนหนึ่ง แต่พ่อแม่จะต้องใช้ความพยายามในการติดตามข่าวสาร ต้องเป็น Active Parent ถึงจะรู้ว่ามีงานเหล่านี้อยู่ และถึงแม้งานเหล่าหนี้จะฟรี พ่อแม่ก็ต้องเดินทางไปศูนย์วัฒนธรรมต่าง ๆ ซึ่งถ้าเราไม่แก้ไขปัญหาโครงสร้างเมือง การเข้าถึงงานศิลปะเหล่านี้ในเยาวชนก็จะเป็นเรื่องที่ยากอยู่ดี ดังนั้น การจะพัฒนาคนให้สัมผัสศิลปะ เมืองต้องสร้างแวดล้อมให้คนเข้าถึงศิลปะได้ง่ายก่อน

“ประเทศไทยขาดแคลนศิลปะ ถึงเราจะสอนศิลปะในทุกโรงเรียน แต่เราสอนแค่เรื่องเทคนิคทางศิลปะ สิ่งที่เราไม่ได้ทำเลยคือการสร้างสภาพแวดล้อมทางศิลปะ เราไม่มีการแสดงที่เด็กเข้าถึงได้ง่าย เต็มไปด้วยข้อห้าม ซึ่งต่อให้เด็กมีเทคนิคศิลปะมากแค่ไหน ถ้าไม่มีพื้นที่เหล่านี้ เขาก็ไม่อาจโตมากับศิลปะได้ เสมือนการให้รักการอ่าน แต่ให้เด็กอ่านแต่หนังสือที่ไม่สนุก”

มิรา เวฬุภาค

ยกตัวอย่าง ไต้หวัน รัฐบาลเขาลงทุนกับการสร้างแวดล้อมรอบเด็กให้มีงานศิลปะที่หลากหลาย ขนการแสดงทั่วโลกมาที่เมือง มากกว่าลงทุนในวิชาศิลปะอย่างเดียว

ภาษาพูดเป็นภาษาที่เด็กเรียนเป็นภาษาสุดท้าย แต่เด็กเรียนรู้จาก ‘สีและเส้น’ ก่อน แม้เราไม่เคยนับมันเป็นหนึ่งในพันกว่าภาษาของเด็ก เรื่องบางเรื่องเราอธิบายด้วยคำพูดไม่ได้ แต่ศิลปะจะช่วยเป็นสื่อกลางทำให้เด็กเข้าใจในสิ่งที่เขารู้สึก และทำความเข้าใจกับสิ่งที่ผู้อื่นเผชิญ”

มิรา เวฬุภาค

มิรา ยังสะท้อนว่า เสียดายที่สังคมมักไม่ค่อยให้เด็กได้เล่าเรื่องผ่านศิลปะเหล่านี้ เจอสถานการณ์ที่บังคับเด็กให้ไม่สามารถได้สื่อสารผ่านเส้น สี หรือการแสดงออกด้วยท่าทางต่าง ๆ และบางครั้งมักจะผูกโยงศิลปะกับศาสตร์ชั้นสูง เป็นวัฒนธรรมสงวน ทั้งที่ศิลปะจะช่วยให้เด็กรู้จักเปิดกว้างต่อการตีความ มันเป็นสื่อกลางที่ง่ายที่สุดในการให้เด็กเอาตัวเองไปนั่งในใจคนอื่น ทำความเข้าใจ และตีความผู้อื่น กลับกันเด็กจะก็จะรู้จักทำความเข้าใจตัวเองผ่านการแสดงออกทางศิลปะด้วยเช่นกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active