ยื่นหนังสือต่อ ‘ผู้ว่าฯ ชัชชาติ’ ชี้ กทม. ลัดขั้นตอน ติดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก มองข้ามคนตัวเล็ก ขอให้กลับไปรับฟังความเห็นใหม่แต่ต้น ขีดเส้น 30 วัน หากไม่คืบ ขู่ดำเนินการตามกฎหมาย
วันนี้ (19 ก.ค. 67) ก้องศักดิ์ สหะศักดิ์มนตรี อนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย สภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายชุมชน เข้ายื่นหนังสือต่อ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เรียกร้องให้ยกเลิกการรับฟังความเห็นในโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ระบุถึงปัญหาการรับฟังก่อนหน้านี้ ไม่สะท้อนเสียงผู้อยู่อาศัยจริง และพบพิรุธ จึงเสนอให้เริ่มกระบวนการรับฟังความคิดเห็นใหม่แต่ต้น โดยไม่ลัดขั้นตอนใด ๆ
ในเอกสารข้อเรียกร้องดังกล่าวระบุใจความว่า การวางผังเมืองรวมที่ดำเนินการอยู่นั้น ขัดต่อพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 และขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เพราะการรับฟังความคิดเห็นไม่ครบถ้วนและขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน เมื่อสืบค้นจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้ว เครือข่ายได้ให้ข้อสังเกตต่อการดำเนินงานเพื่อวางผังเมืองรวมใหม่ ดังนี้
- ผังเมืองในครั้งนี้เน้นการเพิ่มความหนาแน่นเข้าสู่จุดศูนย์กลางของเมือง โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น อาทิ ปัญหาการจราจร ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาที่เกิดจากมลภาวะฝุ่น PM2.5 ขาดการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน และสร้างความไม่เป็นธรรมต่อกลุ่มคนผู้มีรายได้น้อย
- การรับฟังความคิดเห็นไม่เป็นไปตามขั้นตอนของประกาศคณะกรรมการผังเมือง ทั้งยังนำ “ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับเดิม” ที่จัดทำไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 มาใช้เป็นสารตั้งต้น ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย
- การรับฟังความคิดเห็นฯ ไม่ได้มีการให้ข้อมูลที่เพียงพอต่อการที่ประชาชน เพื่อตระหนักรู้ถึงผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม ขาดการชี้แจงแนวทางการเยียวยาความเดือดร้อน จึงทำให้ประชาชนไม่สามารถที่จะร่วมแสดงความคิดเห็นได้รอบด้าน
- กทม. มีประชากรที่อยู่อาศัยไม่น้อยกว่า 5.5 ล้านคน และยังมีประชากรแฝงไม่น้อยกว่า 2.5 ล้านคน แต่กลับขาดการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง เน้นแต่ช่องทางออนไลน์ จึงทำให้การรับฟังความเห็นตกหล่น โดยมีคนเข้าแสดงความเห็น นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 – ปัจจุบัน มีเพียงประมาณ 20,000 คน หรือ 0.39% ของประชากรเท่านั้น
- การตัดถนน ขยายถนนมีความคลุมเครือ และส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง สร้างความวิตกกังวล แต่ยังมีผู้อาศัยจำนวนมากยังมิได้มีโอกาสทราบข้อมูล ซึ่งจะส่งผลกระทบถึงเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินของประชาชน จากการเวนคืนที่ดิน
“ขอให้หยุดกระบวนการของผังเมืองที่กระทำอยู่ และกลับมาจัดทำผังใหม่ที่รับฟังความเห็นจากประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นสาระสำคัญที่สุด ความล้มเหลวของผังเมืองฉบับนี้ เราทักท้วงมาหลายปีแล้ว…มันต้องมีเสียงจากพวกเราเข้าไปให้ความเห็น แต่ถามทุกคนในที่นี้หรือที่ถามมาทั้งหมด ร้อยละร้อย ไม่เคยมีส่วนร่วมในกระบวนการของ กทม. เลย“
ก้องศักดิ์ สหะศักดิ์มนตรี
ชี้ขาดการมีส่วนร่วม – ขีดเส้นเริ่มกระบวนการใหม่ ใน 30 วัน
ข้อเรียกร้องของสภาผู้บริโภค และเครือข่ายชุมชน คือ ให้กรุงเทพมหานครยุติการรับฟังความคิดเห็นฯ ประชาชนใน 50 เขต และเริ่มกระบวนการรับฟังความคิดเห็นใหม่ โดยจัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึงก่อนการจัดทำร่างผังเมืองรวม หาก กทม. ไม่แก้ไขหรือยุติการกระทำดังกล่าวภายใน 30 วัน (นับแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2567) สภาผู้บริโภคและเครือข่ายประชาชนอาจต้องดำเนินการทางกฎหมายต่อไป
การยื่นหนังสือต่อผู้ว่าฯ กทม. เพื่อคัดค้านการเดินหน้าร่างผังเมืองฉบับดังกล่าว มีถึง 20 เครือข่ายชุมชนเข้าร้องเรียนปัญหากับทางผู้ว่าฯ กทม. โดยตรง ซึ่งแต่ละชุมชนต่างได้รับผลกระทบที่แตกต่างกันไป เช่น ชุมชนในย่านอารีย์ – ราชครู ได้รับผลกระทบอย่างหนักต่อการตัดถนนใหม่จนรุกล้ำกรรมสิทธิ์บ้านเรือน ชุมชนคลองเตย ที่เรียกร้องสิทธิในที่ดินเพื่อคนจนโดยใช้ที่ดินของหน่วยงานรัฐมาสร้างประโยชน์ หรือ ชุมชนบึงคู้บอน ที่เข้ามาสอบถามว่าเหตุใดจุดรับน้ำแก้มลิงหายไปไหนจากผังเมือง แต่โดยสรุปแล้วทุกชุมชนต่างมองเห็นไปในทางเดียวกันว่า เหตุที่ร่างผังเมืองรวมใหม่มีปัญหามาก เพราะขาดการรับฟังเสียงอย่างมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น
‘ผู้ว่าฯ ชัชชาติ’ รับปากนำข้อร้องเรียนไปพิจารณาต่อ
ด้าน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ได้เข้ารับฟังความคิดเห็นจากประชาชนโดยตรง และรับปากนำทุกข้อร้องเรียนไปพิจารณาต่อ โดยมองว่าการที่แต่ละชุมชนออกมาแสดงจุดยืนชัดเจนเช่นนี้ จะเป็นนิมิตหมายที่ดีในการสร้างเมืองอย่างมีส่วนร่วม แต่ขอว่าอย่ารอทำผังเมืองใหม่ เพราะหลายปัญหาไม่ใช่จะแก้ได้ด้วยผังเมืองเพียงอย่างเดียว ต้องอาศัยการแก้ไขจากภาคส่วนอื่นร่วมด้วย
แต่ทางเครือข่ายที่ยื่นหนังสือในวันนี้ ยืนกรานว่ารอร่างผังเมืองใหม่ได้ และขอให้ผู้ว่าฯ รับปากเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะนำปัญหาและข้อร้องเรียนให้ยุติ นำไปดำเนินการต่อ
“ไม่มีลายลักษณ์อักษรหรอก คือต้องรับข้อร้องเรียนไปแล้วดำเนินการตามกฎหมาย แล้วก็รับฟังความเห็น คือผมให้เป็นลายลักษณ์อักษรไม่ได้ ผมไม่มีอำนาจ กระบวนการคือรับฟังความเห็น แล้วส่งต่อให้กรมโยธาฯ และหน่วยงานอื่น ๆ อีก ผมรับปากว่าจะควบคุมคุณภาพการจัดทำร่างผังเมืองได้ แต่ผมรับปากไม่ได้ว่าผมจะทำตามที่เราร้องขอ”
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์