นานาชาติ ศึกษา “Collective Housing” การจัดการที่อยู่อาศัยโดยชุมชนของไทย

คณะศึกษาดูงานจากเอเชีย เอเชียตะวันออกกลาง ลงพื้นที่ศึกษา “ตัวอย่างบ้านมั่นคง” รูปธรรมที่สะท้อนให้เห็นกระบวนการแก้ปัญหาให้คนจนผ่านกลุ่มคนไร้บ้าน ชุมชนแออัดริมคลอง ริมทางรถไฟ

วันนี้ (30 มิ.ย.67)คณะศึกษาดูงานจากเอเชีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลาง ลงพื้นที่ดูงานการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับคนจนใน4 พื้นที่ ได้แก่ ศูนย์คนไร้” บ้านพูนสุข”ปทุมธานี, ชุมชนบ่อฝรั่ง, ชุมชนริมคลองเปรมประชากร และบ้านมั่นคง ชุมชนเจริญชัยนิมิตรใหม่ ก่อนจะมีการประชุมที่อยู่อาศัยรวมระหว่างประเทศ ในเรื่อง “Collective Housing” การจัดการที่อยู่อาศัยโดยชุมชน ระหว่างวันที่ 1-4 ก.ค. นี้

สำหรับผู้แทนที่ลงพื้นที่ศึกษาดูงานครั้งนี้ อาทิ ประเทศเมียนมา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มองโกเลีย ญี่ปุ่น อินเดีย ปากีสถาน เนปาล ศรีลังกาฯลฯ เป็นต้น

Suraya lsmail Director of Research Khazanah Research lnstitute Malaysia หนึ่งในผู้แทนจากประทศมาเลเซีย ที่ร่วมลงพื้นที่ครั้งนี้ เล่าว่า

“รู้สึกประทับใจที่ได้เห็นรูปแบบของการจัดการของชาวบ้าน ไม่ว่าจะการเจรจา ต่อรองทั้งการเช่าและของบฯ สนับสนุน ทำให้รัฐบาลเชื่อว่าพวกเขาสามารถจัดการได้ด้วยตัวเอง จึงอยากให้รัฐบาลมาเลเซียนำรูปแบบนี้ไปแก้ไขปัญหาคนจน ช่วยเหลือคนจนในลักษณะนี้บ้าง”

ขณะที่ตัวแทนจากประเทศอื่น ๆ ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนในหลายประเด็น เช่น ชื่นชมการสร้างศูนย์คนไร้บ้านเป็นการทำงานแก้ไขปัญหาแบบรวมกลุ่มซึ่งไม่ใช่ระดับปัจเจกเหมือนในหลายประเทศ คือ อุดหนุนเงิน ที่พัก แต่รูปแบบนี้ส่วนใหญ่ไปไม่รอด นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงกลไกการทำงานที่สร้างความเชื่อใจ การมีพี่เลี้ยง และการทำงานในเชิงรุกระยะยาวอีกด้วย

สำหรับพื้นที่ที่ประเทศไทยพาคณะทำงานต่างประเทศลงพื้นที่ครั้งนี้ ล้วนเป็นพื้นที่ที่ผ่านกระบวนการจัดการที่อยู่อาศัยโดยชุมชน ภายใต้โครงการ “บ้านมั่นคง” หลายพื้นที่ผ่านกระบวนการต่อสู้ต่อรองกับภาครัฐกว่าจะได้รับการสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นที่ดินและงบประมาณ และชุมชนต้องออกแบบชีวิตภายใต้กระบวนการที่ทุกคนมีส่วนร่วม พวกเขาเป็นคนลุกขึ้นมาบริหารจัดการ ทั้งเรื่องงบฯ การใช้ประโยชน์ที่ดินและการสร้างพื้นที่เศรษฐกิจรายได้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการออกแบบชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้หลุดพ้นจากความยากจนด้วยตนเอง ซึ่งกระบวนการที่ต้องพิสูจน์ให้รัฐเชื่อ ล้วนใช้เวลา

สำหรับการประชุมที่อยู่อาศัยรวมระหว่างประเทศ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 1-4 ก.ค.นี้ ผู้แทนแต่ละประเทศจะร่วมกันนำเสนอถึงแนวทาง การจัดการที่อยู่อาศัยโดยชุมชนผ่านประสบการณ์ของแต่ละประเทศ คาดว่าการประชุมครั้งนี้ ทุกประเทศจะได้แนวทางเพิ่มโอกาสและความเป็นไปได้ในการทำงานกับกลุ่มคนจนของแต่ละประเทศ รวมไปถึงแนวทางที่รัฐบาลของแต่ละประเทศจะให้การสนับสนุนและเห็นว่า หลักการจัดการที่อยู่อาศัยโดยชุมชนมีความสำคัญ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active