เปิดเวทีถก ยกเครื่องผังเมือง กทม. ประชาชนต้องมีส่วนร่วม ตอบโจทย์คุณภาพชีวิตที่ดี

สภาผู้บริโภคฯ ร่วมสะท้อนปัญหาการแก้ผังเมือง กทม. ที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่ต้นทาง ชี้ การพัฒนาไม่ตอบโจทย์คุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ลงลึกแก้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบขนส่ง – รับมือน้ำท่วม

วันนี้ (30 มิ.ย. 2567) สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเวทีพื้นที่สาธารณะ แลกเปลี่ยนความเห็น “ผังเมือง กทม. ไปต่อ…หรือพอเท่านี้?” เพื่อร่วมสะท้อนปัญหาการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน และรวมข้อเสนอจากนักวิชาการนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า เรื่องผังเมืองสำคัญ โดยสภาองค์กรของผู้บริโภค มีอนุกรรมการชุดหนึ่ง คือ อนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย ดำเนินการในเรื่องการจัดทำข้อเสนอนโยบายเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่อาศัย ซึ่งมีเป้าหมายดำเนินการในเรื่องผังเมือง โดยไม่ได้ทำเฉพาะผังเมือง กทม. แต่ยังดำเนินการในเรื่องที่อยู่อาศัยในการทำเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมในเรื่องการทำสัญญาในการซื้อขายที่อยู่อาศัย ซึ่งในเรื่องผังเมือง สภาฯ ได้รับความช่วยเหลือจากทั้ง กรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค กรรมาธิการตรวจสอบคอร์รัปชัน ของสภาผู้แทนราษฎร ที่ตรวจสอบในเรื่องการทำหน้าที่ในการออกแบบผังเมือง

“ที่ผ่านมามีคนมาร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาผังเมือง 1,000 กว่าคน เรื่องการสร้างอาคารสูงในซอยแคบ เบื้องต้นมีประมาณ 3 ชุมชน คือ ชุมชนประดิพัทธ์ 23 ชุมชนรัชดาภิเษก 44 และ พหลโยธิน 37 ที่พบปัญหา การก่อสร้างคอนโดฯ สูง และจากบทเรียนที่เราเห็นคือ ชุมชนซอยร่วมฤดี ที่เคยลุกมาฟ้องร้อง ให้ดำเนินการรื้อถอนอาคารที่สร้างผิดกฎหมาย และศาลปกครองสูงสุด ก็มีคำสั่งให้รื้อถอน และ กทม. อาจจะยังไม่ดำเนินการ เป็นต้นเหตุ และทำให้หลายชุนเกิดกระบวนการเรียนรู้กัน ว่าถ้าจะสร้างอาคารสูง อย่างน้อยขนาดของถนน ต้องเกิน 10 เมตรขึ้นไป ถ้าก่อสร้างอาคารที่พื้นที่เกิน 10,000 ตารางเมตร”

สารี อ๋องสมหวัง 

สารี กล่าวว่า อาคารสูงเป็นของคู่กัน ของ กทม. เมื่อลุกลามไปในซอย ทำให้ความเป็นอยู่ในชุมชน ได้รับผลกระทบ แม้ว่าจะมีข้อกำหนดให้ทำ EIA (Environmental Impact Assessment) หรือ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ก็มีปัญหา เนื่องจาก กรรมการ EIA ส่วนใหญ่ได้งบประมาณดำเนินการจากบริษัทที่จัดทำ EIA จึงเสนอให้มีการทำกองทุนสำหรับการทำ EIA เพื่อให้เกิดความเป็นอิสระ เป็นต้น

“เดือน มิ.ย. ปีที่แล้ว เราได้ออกมาบอกว่าการรับฟังความคิดเห็นผังเมืองรวม กทม. ปรับปรุงฉบับที่ 4 ไม่ชอบ และได้จัดรับฟังความคิดเห็นเมื่อต้นเดือน ส.ค. ซึ่งการที่ประชาชนจัดรับฟังความคิดเห็นของ กทม. ที่ กทม.ดินแดง มีคนให้ความเห็นว่า ผังเมืองรวม กทม. ไม่ได้ตอบโจทย์คน กทม. เลย และไม่ส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้นสภาผู้บริโภคฯ มองว่าเวทีวันนี้จะเป็นอีกโอกาสหนึ่งที่น่าจะช่วยกันดูว่าผังเมืองนี้ควรไปต่อ หรือ เริ่มต้นใหม่ หรือ ควรจะทำอย่างไร เพราะคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญของผู้บริโภค”

สารี อ๋องสมหวัง 

เปิดไทม์ไลน์ ผังเมือง ที่ขาดการมีส่วนร่วม

ก้องศักดิ์ สหะศักดิ์มนตรี อนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย สภาองค์กรของผู้บริโภค เผยว่าได้ติดตามผังเมือง กทม. มาตั้งแต่ปี 2560 ตั้งแต่เริ่มจัดทำโดยที่ประชาชนไม่รู้เรื่อง เมื่อถามประชาชนร้อยละ 99 ถามว่าผังเมืองคืออะไร เขาเดินหนี ไม่คุยด้วย เพราะมองว่าไม่ใช่เรื่องของเขา ซึ่งขออธิบายง่าย ๆ ว่า ผังเมือง คือ กฎกติกา ในการที่จะบอกว่าเราทำอะไรได้บ้าง ไม่ได้บ้างในที่ดินผืนนั้น และผังเมืองที่ใช้ทุกวันนี้คือ ผังเมืองปี 2556 และเริ่มเริ่มจัดทำผังเมืองใหม่เมื่อปี 2560 จากนั้นมีการรับฟังความเห็นครั้งใหญ่ในปี 2562 ถามว่าประชาชนมีใครที่รู้เรื่องบ้าง ตอนนั้นเป็นจุดเริ่มที่เข้ามาทำเรื่องนี้

“เห็นเขาเกณฑ์คนขึ้นรถบัส แล้วบอกว่ามารับฟังความเห็น แล้วยกมือเห็นด้วย ผมเห็นคนไปฟังนั่งหลับ รับข้าวกล่อง เป็นจุดเริ่มต้นที่ผมเริ่มตาม”

ก้องศักดิ์ สหะศักดิ์มนตรี
ก้องศักดิ์ สหะศักดิ์มนตรี อนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย สภาองค์กรของผู้บริโภค

ก้องศักดิ์ กล่าวว่า ในช่วงปี 2560 เริ่มมีการร่างผังเมืองใหม่ออกมา แต่สะดุดที่ 29 พ.ค. 2562 มีออก พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2562 ทำให้ กทม. ต้องเอาไปปรับให้เป็นตาม พ.ร.บ. ก่อนที่ต่อมาในปี 2566 กทม. จัดให้มีการรับฟังความเห็นประชาชน แต่กลับไม่มีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญได้รับเชิญให้แสดงความเห็น และเมื่อเปรียบเทียบ ผังเมืองปี 2556 และ ปี 2567 มองว่า เป็นการระบายสีตามการรุกราน 

“กลายเป็นการเอื้อประโยชน์ตรงกลางสีแดง หลายชุมชนกลางเมืองที่หนาแน่นอยู่มาก และยังคงเน้นเพิ่มความหนาแน่น แออัด เข้าสู่กลางเมือง  ยังไม่มีการ ปรับผังการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เป็นไปตามสภาพปัจจุบัน เช่น มลพิษจากฝุ่น PM2.5 สถานการณ์โรคอุบัติใหม่ โควิด-19  และพบว่าใช้ผังเมืองที่จัดทำไว้ตั้งแต่ปี 2562 มาเป็นฐานในการจัดทำร่างที่จะเตรียมประกาศใช้ ปี 2568 เราทักไปแล้ว ถ้าคำนึกถึง ฝุ่น PM2.5 โควิด-19  ผังเมืองจะต้องหลวมขึ้น ไม่ใช่แน่นขึ้น จะเห็นว่าช่วงโควิด-19 คอนโดฯ เจ๊ง คนหนีไปซื้อบ้านมากขึ้น เพราะทำมาตั้งแต่ยังไม่มีสถานการณ์ฝุ่นและโควิด”

ก้องศักดิ์ สหะศักดิ์มนตรี

ก้องศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ที่ กทม.มีเป้าหมายว่า จะดำเนินการ 50 เขต มีมีประชาชนเข้าร่วม 21,209 คนนั้น คิดเป็นเพียง 0.388% จากประชากรที่มีทะเบียนบ้านใน กทม.ทั้งหมด 5,471,588 คน

ผังเมือง กับ การพัฒนาคุณภาพชีวิต 

แคล้ว ทองสม ผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า สิ่งที่กระทบมากที่สุดคือการขยายถนน 148 สาย จากประสบการณ์ทำงานกรมที่ดิน การประเมินราคาที่ดินเพื่อเวนคืน ส่วนตัวมองว่า 148 สาย มากเกินไป และตั้งคำถามว่าสร้างได้หรือไม่ โดยในการสร้างถนนหลัก ๆ คือ ต้อง “เวนคืน” และจากประสบการณ์เป็นที่ปรึกษา ในการสร้างถนน โพธิ์แก้ว เชื่อม ลาดพร้าว 101 และ ถนนสุขาภิบาล ได้รับผิดชอบในการเวนคืน ซึ่งความเดือดร้อนจากการเวนคืน ทำให้บ้านของประชาชนหายไป บางหลังที่สร้างติดถนน หายไปครึ่งหลัง ก็อยู่บ้านหลังเดิมไม่ได้ ดังนั้นต้องหาวิธีแก้จะทำอย่างไร รวมทั้งกรณีการสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ที่ต้องพาประชาชนออกจากพื้นที่ ด้วยการจัดสรรที่อยู่ใหม่ ให้เลือกว่าจะอยู่ที่ไหน และจ่ายเงินชดเชยตามพื้นที่ที่เลือก กล่าวคือ ถ้ารัฐจะใช้ที่ดิน ต้องหาที่ใหม่มาให้

รศ.วิโรจน์ ศรีสุรภานนท์ อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมขนส่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวถึง ผังการคมนาคมและขนส่ง โดยมองว่า กทม. ตอนนี้ยังขาดเรื่องของ Node and Link กล่าวคือ ยังขาดจุดตัดและจุดเชื่อมต่อระหว่างการขนส่งสาธารณะ เช่น ป้ายรถเมล์ สถานีรถไฟฟ้า สถานีขนส่ง ทางเดินเท้า ที่จอดจักรยาน ที่จอดรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และขาดโครงข่ายต้นทางปลายทาง ทั้ง ทางตรง ทางแยก 

“ทำไมผังเมืองถึงเกี่ยวข้องกับการจราจรและขนส่ง เพราะ มันเกี่ยวข้องกับ สังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และพลังงาน เราเตรียมผังเมืองมาเพื่อรถติดหรือ การขยายถนน ต้องการภาพรถติดแบบนี้หรือไม่ ถ้าไม่ผมมีข้อเสนอ เพื่อไม่ให้มีการเวนคืนแบบสิ้นเปลือง และเพื่อให้เกิดประโยชน์กับสังคมอย่างไร ให้คิดว่า กทม. เป็นบ้านของเรา ไม่ใช่แค่บ้านที่เป็นห้อง แต่ทั้งเมืองคือบ้านเรา มาทำให้เป็นเมืองและชุมชนที่น่าอยู่ นี่คือจุดที่เราควรจะมองร่วมกัน จะย้ายออก ย้ายขึ้นตึกสูงหรือจะไปไหน ก็ให้มันเป็นที่ที่น่าอยู่สำหรับพวกเรา”

รศ.วิโรจน์ ศรีสุรภานนท์

รศ.วิโรจน์ นำข้อมูลการเดินทางของประชาชนในแต่ละวัน พบค่าเฉลี่ย 32.65 ล้านเที่ยวต่อวัน  รถยนต์ เกือบครึ่งคือ 43.2% รองลงมาคือ จักรยานยนต์ 25.5% ใช้รถสาธารณะ เพียง 20.2% ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับการลงทุนเพื่อให้เกิดโครงข่าย การเชื่อมต่อ รถสาธารณะต่าง ๆ ทำอย่างไรให้การใช้รถส่วนตัวลดลง แต่หากสังเกตจริง ๆ ตอนนี้ จักรยานยนต์อาจแซงไปแล้ว และจะเห็นการวิ่งสวนเลนซึ่งอันตรายอย่างมาก เรื่องนี้ผังเมืองเกี่ยวข้องโดยตรงกับการจราจร ซึ่งเราต้องสนับสนุนให้มีการเดิน การใช้จักรยานมากขึ้น ต้องมีทางให้ด้วย

“เราพูดกันว่าสนับสนุน แต่เมื่อไปดูแล้วไม่มีทางให้เลย เป็นไปได้หรือ ถ้าเราทำถนนไปแล้ว และมาตีเส้นบอกว่าตรงนี้คือทางจักรยาน มันสายไปเสียแล้ว และใช้ไม่ได้สักที่ เพราะถนนมันแคบ ถ้าจะสร้างวันนี้ต้องบอกเลยว่า จะสร้างถนน ก หรือ ข ต้องมีทางจักรยานกว้างอย่างน้อย 1 เมตร 2 ฝั่ง ที่ปลอดภัย น่าใช้”

รศ.วิโรจน์ ศรีสุรภานนท์

รศ.วิโรจน์ กล่าวอีกว่า ผังเมืองต้องมีการสร้างเป็นตารางที่เชื่อมโยงกัน ไม่ใช้เป็นถนนที่มีซอยก้างปลา แล้วไปขยายถนนต่อตามความเจริญภายหลัง สิ่งที่เป็นปัญหา จะเห็นว่ามีถนนก้างปลา ซอยไหนหมู่บ้านเยอะ ๆ ก็มีปัญหา เพราะซอยแคบ เมื่อขยายก็กินที่ทางเท้าจนเดินไม่ได้ 

รศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวในหัวข้อ ผังแสดงผังน้ำ ว่า ตอนนี้เราอยู่ภายใต้แผนพัฒนากรุงเทพ 20 ปี จากปี 2556 จนถึงปี 2575 ตอนนี้เดินมาถึงครึ่งทางแล้วต้องถามว่า จากครึ่งทางนี้เราเห็นอะไรที่เป็นเรื่องใหม่ของกรุงเทพบ้าง ที่เห็นชัดชัดเจนคือการขยายรถไฟฟ้า เรื่องการเป็นศูนย์กลางของความหลากหลาย พหุวัฒนธรรม หากเป็นในเรื่องของสิ่งแวดล้อมก็จะมีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวมากขึ้น แต่ถือว่าน้อยกว่าค่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น โดยความเป็นมหานครของกรุงเทพ องค์การสหประชาชาติได้กำหนดเกณฑ์  คือมี ประชากร 5-10 ล้านคน (ประชากรรวมประชากรแฝง) โดยข้อมูลปี 2565 มี ประชากรแล้ว 9.4 ล้านคน และจากการประเมินไปจนถึงปี 2580 เราจะไปแตะที่ประมาณ 9.6 ล้านคน และเมื่อรวมกับปริมณฑลด้วยก็จะอยู่ที่ประมาณ 19 ล้านคน ซึ่งเกินคำว่ามหานครไปมาก

“ซึ่งเรื่องผังเมือง ต้องมองถึงปริมณฑลด้วย ผังน้ำก็เช่นกัน ที่กล่าวคือไม่ได้จะไปแบ่งเบาภาระภาระของเขา แต่เราจะเอาน้ำของเราไปฝากเขา ซึ่ง กทม. ทำตัวเป็นภาระมาตลอดอยู่แล้ว”

รศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้า

รศ.สิตางศุ์ กล่าวว่า ในเรื่องปัญหาน้ำท่วมเป็นสิ่งที่ประชาชนกังวลมาโดยตลอด ซึ่งการทำผังน้ำวัตถุประสงค์คือเป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำ คือแนวคิดของการมีที่ “ให้น้ำอยู่ มีทางให้น้ำไป” ขณะที่กรุงเทพมหานครเป็นปลายทางของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ดังนั้นการจัดการน้ำของกทม. ทำด้วยตัวคนเดียวไม่ได้ ต้องมองเพื่อนบ้าน ต้องมองทั้งคนที่อยู่เหนือเรา และทะเลที่อยู่ล่างเรา  แม้ว่าเราจะมีการเปลี่ยนแปลงใช้ประโยชน์จากผังเมือง แต่เมื่อวางผังน้ำ กทม. ถูกยกให้เป็นเมืองที่ต้องรอดอยู่เสมอในฐานะเมืองหลวง

“ลองนึกภาพดูว่า กทม. มีแม่น้ำเจ้าพระยาตรงกลาง แบ่ง กทม.ฝั่งตะวันออก ตะวันตก ซ้ายมีแม่น้ำท่าจีน ฝั่งขวามีแม่น้ำบางปะกง เมื่อฤดูฝนที่น้ำเหนือมามากก็จะฝันน้ำออกไปที่แม่น้ำท่าจีน เพื่อแบ่งเบาภาระของ กทม. หรือหากฝนตกในพื้นที่มากก็ระบายไปแม่น้ำบางปะกง คือสิ่งที่ทำมาตลอด การทำผังเมืองน้ำใหม่ ต้องดูเรื่อง Climate Chang ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของฝน ระดับน้ำทะเล ไม่ใช่เพียงแค่นำสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหม่ปี 2554 หรือ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยมาประเมินเท่านั้น”

รศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้า

รศ. สิตางศุ์ เสนอว่า การทำผังน้ำ กทม. จำเป็นต้องทำแบบรายเขต ซึ่งเวลานี้ไม่ใช่แบบนั้น รวมถึงปัญหาน้ำ ที่เป็นน้ำเสียจากครัวเรือน สถานที่ราชการ อาคาร ที่ระบายลงคลอง ประชาชนใช้น้ำเฉลี่ย 250 ลิตรต่อคนต่อวัน เมื่อคิดรวมกันทั้ง กทม.และปริมณฑลแล้ว จะอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อวัน ซึ่งน้ำเสียเป็นอีกตัวแปรสำคัญ เพราะ ระบบท่อของ กทม. เป็นระบบรวมที่ไม่ได้แบ่งท่อน้ำเสีย ท่อระบายน้ำ เมื่อถึงฤดูฝนมักจะเกิดปัญหาน้ำระบายไม่ทัน เพราะระบบท่อรวม 1 ใน 3 มีน้ำเสียอยู่ ประกอบกับ ท่อระบายน้ำอุดตัน แม้จะมีความพยายามลอกท่อของ กทม. แต่ทำได้ไม่สุด เกิดเป็นน้ำผุดตามท่อกลางถนน ที่เห็นอยู่บ่อยครั้ง

“มีข้อเสนอ กทม. ว่า นอกจากการประเมินพื้นที่น้ำท่วมด้วยแบบจำลองทางวิศวกรรมแล้ว ต้องประเมินสิ่งที่เรียกว่า ความเปราะบางของการเกิดน้ำท่วมเชิงพื้นที่และผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียงด้วย”

รศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้า

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active