2 ปี กทม. ในมือ ‘ผู้ว่าฯ ชัชชาติ’ เชื่อ คนกรุงเหนื่อยน้อยลง สุขเพิ่มขึ้น

ควงทีม รองผู้ว่าฯ โชว์ผลงาน ชี้ยังมีหลายเรื่องต้องแก้ต่อ ยกระดับ กทม. เป็นเมืองน่าอยู่ ดันทางเท้าใหม่ แก้น้ำท่วมลดไว ปรับใหญ่การศึกษา บริการสุขภาพลดข้อจำกัดเข้าถึงบริการ เพิ่มพื้นที่สาธารณะ

วันนี้ (28 พ.ค. 67) ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำทีมรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงกับสื่อมวลชน ในโอกาสการครบรอบ 2 ปีของการทำงาน ภายใต้ชื่องาน “2 ปี ทำงาน ‘เปลี่ยน ปรับ’ ยกระดับเมืองน่าอยู่” พร้อมทั้งแสดงวิสัยทัศน์การทำงานในอีก 2 ปีข้างหน้า

ชัชชาติ บอกว่า เดิม กทม. เป็นเมืองเที่ยวสนุก แต่ประสิทธิภาพต่ำ ซึ่งทำให้คนเหนื่อยกับการใช้ชีวิต และการเผชิญกับปัญหาอุปสรรคมากมาย ดังนั้นสิ่งที่ได้ทำตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จึงมีการเปลี่ยนแปลง และปรับหลาย ๆ ด้า นเพื่อให้การทำงานและการแก้ไขปัญหามีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้คนเหนื่อยน้อยลง และมีความสุขกับการใช้ชีวิตมากขึ้น

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ผู้ว่าฯ กทม. ยกกรณี Traffy Fondue คือหนึ่งในตัวอย่างที่ได้ทำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาของประชาชน โดยตัดขั้นตอนจากที่ต้องใช้เอกสารมากมายเปลี่ยนมาเป็นการออนไลน์ตั้งแต่ต้นจนจบ

โดยพบว่า 2 ปีที่เปิดให้ประชาชนร้องเรียนความเดือดร้อน ผ่าน Traffy Fondue ได้ลงมือแก้ไขเสร็จสิ้นแล้ว 465,291 เรื่อง จากที่มีการร้องเรียนเข้ามาทั้งหมด 588,842 เรื่อง คิดเป็น 78% อยู่ระหว่างแก้ไข 58,456 เรื่อง ส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 40,655 เรื่อง และติดตาม 11,545 เรื่อง เฉลี่ยระยะเวลาที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ประชาชนร้องเรียนมา ลดลง 97% จากเดิมใช้เวลาประมาณ 2 เดือน เหลือเพียง 2 วัน

นอกจากนี้ยังระบุถึงประเด็น การทำทางเท้าให้น่าเดิน สวยงาม และปลอดภัย เป็นสิ่งที่ กทม. มุ่งมั่นทำทางเท้าให้เอื้อต่อการใช้งานของคนทุกเพศทุกวัย โดยยึดมาตรฐานทางเท้าที่แข็งแรง คงทน และสวยงามด้วย ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้ปรับปรุงทางเท้าไป 785 กม.

ขณะเดียวกันได้ปรับพื้นทางเข้าออกอาคารให้เรียบเสมอทางเท้า ลดความสูงของทางเท้าเหลือ 10 ซม. และ 18 ซม. และ ติดเบรลล์บล็อกแนวตรงสำหรับคนพิการและผู้สูงวัยได้ใช้ง่าย เดินง่ายขึ้นด้วย

การจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย ให้ประชาชนเข้าถึงอาหารราคาถูกได้โดยไม่เบียดเบียนทางเดินเท้าทำไปแล้ว 257 จุด เช่น จุดที่ถนนสารสิน ขณะนี้ได้จัดพื้นที่ขายชั่วคราวให้ก่อนจะขยับขยายเข้ามาอยู่ใน Hawker Center ที่จะสร้างเสร็จในปีนี้ 

พร้อมทั้งจัดระเบียบสายสื่อสารที่รกรุงรังในถนนสายต่าง ๆ รวมระยะทาง 627 กม. รวมทั้งเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าแสงสว่าง ให้เป็นหลอด LED ที่มีอายุการใช้งานยาวกว่า เชื่อมระบบ IOT สามารถตรวจสอบหลอดไฟดวงที่เสียได้อัตโนมัติและแก้ไขได้รวดเร็ว

ขณะที่ ปัญหาฝนตก น้ำไม่ระบาย เดินทางลำบาก นับตั้งแต่มีการถอดบทเรียนและรวบรวม ข้อมูลจุดน้ำท่วมทั่ว กทม. ในปี 2565 พบจุดสำคัญที่ต้องแก้ไข 737 จุด ขณะนี้แก้ไขแล้ว 370 จุด และจะแก้ไขได้ทันในปี 2567 อีก 190 จุด

ผู้ว่าฯ กทม. มองว่า นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมก่อนที่จะเกิดฝน โดยการล้างท่อระบายน้ำทำไปแล้ว 4,200 กม. ทำความสะอาดคลองเปิดทางน้ำไหล 1,960 กม. ขุดลอดคลอง 217 กม. พร้อมทั้งทำการบำรุงรักษาประตูระบายน้ำสถานีสูบน้ำ ล้างอุโมงค์ระบายน้ำทุกแห่ง และตรวจสอบเครื่องสูบน้ำทุกเครื่องให้พร้อมใช้งาน

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

เมืองที่ดี คือเมืองที่มีพื้นที่สาธารณะ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการใช้ชีวิตให้กับประชาชน ไม่จำเป็นต้องจ่ายแพงเพื่อจะเข้าถึงบริการต่าง ๆ ด้วยแนวคิดนี้ทำให้ กทม. พัฒนาพื้นที่สาธารณะที่มีอยู่ประกอบด้วย สวนสาธารณะ 58 แห่ง ศูนย์นันทนาการ 36 แห่ง ห้องสมุด 34 แห่ง พิพิธภัณฑ์เด็ก 2 แห่ง ศูนย์กีฬา 12 แห่ง ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ส่วนประเด็น เรื่องสุขภาพ กทม. จะมีการปรับบริการสุขภาพ ปูพรมตรวจรักษาโรค สร้างพื้นฐานคุณภาพชีวิตที่ดีเพื่อลดข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของคน กทม. ปัญหาหมออยู่ไกล เข้าถึงยาก ไม่สะดวก เสียเวลา ถูกคลี่คลายลงด้วยการพัฒนาบริการต่าง ๆ เช่น โครงการตรวจสุขภาพฟรี 1,000,000 คน ได้ทุกคน ไม่จำกัดสิทธิ์ ซึ่งจะเปิดยาวไปถึงเดือนกันยายน 2567 มีการตรวจคัดกรองมากกว่า 14 รายการพื้นฐาน เพื่อรู้สัญญาณของโรคก่อนที่จะเป็นอันตราย มีเพิ่มเจาะเลือดส่งตรวจแล็บ เอ็กซเรย์ปอด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และภาวะแทรกซ้อนทางตา ประชาชนสามารถตรวจสอบปฏิทินตรวจสุขภาพของแต่ละเดือนและเลือกวันเวลาและสถานที่ที่สะดวกไปรับบริการได้ ซึ่งประชาชนที่ไปรับบริการมีความ พึงพอใจที่ไม่ต้องรอคิว ไม่ต้องเดินทางไกล และลดภาระค่าใช้จ่าย

กทม. ยังได้ขยายการบริการของศูนย์บริการสาธารณะ รับตรวจรักษานอกเวลาจนถึง 2 ทุ่ม หรือเสาร์-อาทิตย์ทุกพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน อีกทั้งยังขยายศูนย์ส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพ (กายภาพบำบัด) 

นอกจากนี้ยังพูดถึงประเด็นด้านการบริหารจัดการ อย่างโปร่งใสด้วยเทคโนโลยี คุ้มค่าเงินภาษี บริหารเงินให้มีประสิทธิภาพ ยึดผลประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง เปลี่ยนแปลงเชิงโครงการ สร้างประสิทธิภาพให้กับเมือง และมุ่งบูรณาการข้ามหน่วยงาน สร้างกรุงเทพฯเมืองน่าอยู่แห่งอนาคต

เล็งเปลี่ยนรถบริการของ กทม. เป็นพลังงานไฟฟ้า

จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึง การทำงานด้านสิ่งแวดล้อมในช่วง 2 ปีข้างหน้า เพื่อทำให้ กทม. มีอากาศสะอาด นอกเหนือจากดำเนินการตามมาตรการลดฝุ่นที่ได้ทำมาอย่างต่อเนื่องแล้ว จากนี้จะมีการเปลี่ยนรถบริการของ กทม. ไม่ว่าจะเป็น รถเก็บขยะ รถบรรทุกนำ รถสุขาเคลื่อนที่ รถบรรทุก 6 ล้อ จากรถที่ใช้พลังงานดีเซลมาเป็นรถพลังงานไฟฟ้าแทน

จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้จากการคำนวณรถขยะขนาด 5 ตัน สามารถลดค่าเช่าลงเหลือ 2,240 บาท/คัน/วัน จาก 2,800 บาท/คัน/วัน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหลือ 200 ตัน/ปี จาก 2,256 ตัน/ปี ลดการปล่อย PM2.5 เหลือเป็นศูนย์จาก 22 กก./ปี และลดต้นทุนพลังงานเหลือ 455 บาท/เที่ยว จาก 1,300 บาท/เที่ยว โดยมีแผนรับมอบรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในปี 2567 จำนวน 615 คัน ปี 2568 จำนวน 392 คัน และปี 2569 อีก 657 คัน

นอกจากนี้ยัง เร่งรัดการก่อสร้างโรงเผาเพื่อผลิตไฟฟ้าอ่อนนุช-หนองแขม เพื่อลดการฝังกลบ และลดต้นทุนการจัดการขยะโดยคาดว่าจะเปิดในปี 69 ซึ่งจะประหยัดเงินค่าจัดการขยะได้ 172,462,500 บาท/ปี

เดินหน้าแก้ปัญหาการเดินทางคนกรุงให้สะดวกขึ้น

วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. ระบุถึงการแก้ไขปัญหาการเดินทาง และการจราจรของคนกรุง ว่า ในช่วง 2 ปี จากนี้ คนกรุง จะเดินทางสะดวกขึ้น ด้วยบริการป้ายรถเมล์ดิจิทัล 500 ป้าย การปรับปรุงศาลารถเมล์ 300 หลัง และการติดตั้งจอดิจิทัลในศาลาที่พักผู้โดยสารอีก 200 หลัง เพิ่มตัวเลือกการเดินทาง โดยเฉพาะการเชื่อมต่อ (Last Mile) ด้วยการเดินทางที่หลากหลาย เช่น รถตุ๊ก ๆ ไฟฟ้า เรือไฟฟ้า จักรยาน Shuttle Bus และการเดินเท้าที่สะดวกปลอดภัย มีหลังคาคลุม เป็นต้น

วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ด้านการจราจรจะคล่องตัวขึ้น โดยการอัปเกรดสัญญาณไฟจราจรทั่วกรุงเทพฯ ให้เป็น Adaptive Signaling ปรับสัญญาณไฟให้สอดคล้องกับปริมาณจราจร 541 ทางแยก พร้อมทั้งมอนิเตอร์เมือง สังเกต และสั่งการผ่าน Command Center ทั้งในเรื่องการติดตั้ง CCTV ไฟส่องสว่าง เซ็นเซอร์วัดระดับน้ำท่วมขังบนถนน โดยส่งข้อมูลมาที่ Open Digital Platform

ส่วนการขอใบอนุญาตการก่อสร้างออนไลน์จะมีความครอบคลุมอาคารทุกประเภท ตั้งแต่ขนาดเล็ก ต่ำกว่า 2,000 ตร.ม. ขนาดใหญ่ +2,000 ตรม. อาคารขนาดใหญ่พิเศษ +10,000 ตรม. ไปจนถึงอาคารสูง +23 ม. และสามารถติดตามสถานะโครงการผ่านออนไลน์ได้

เพิ่มระบบบริการสุขภาพเพื่อคนกรุง

ขณะที่ รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึง การยกระดับการบริการด้านสาธารณสุขของคนกรุงเทพฯ ในช่วง 2 ปีหลังจากนี้ จะการผลักดันโรงพยาบาลเดิม 3 แห่ง และเพิ่มโรงพยาบาลใหม่ในสังกัด กทม. อีก 4 แห่ง เพื่อขยายเตียงดูแลคนกรุงเทพฯ ให้ได้ครอบคลุมยิ่งขึ้นอีก 1,272 เตียง โดยจะเพิ่มที่โรงพยาบาลกลาง อีก 150 เตียง โรงพยาบาลบางนาเพิ่ม 324 เตียง โรงพยาบาลคลองสามวา เพิ่ม 268 เตียง ส่วนโรงพยาบาลแห่งที่จะเปิดใหม่ ได้แก่ โรงพยาบาลพระมงคลเทพมุนี ขนาด 150 เตียง โรงพยาบาลดดอนเมือง ขนาด 200 เตียง โรงพยาบาลสายไหม ขนาด 120 เตียง และ โรงพยาบาลทุ่งครุ ขนาด 60 เตียง

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ขณะเดียวกัน ยังพัฒนาศูนย์บริการสาธารณสุขให้เข้าถึงง่าย กระจายทั่วกรุงเทพฯ โดยก่อสร้างอาคารใหม่ 21 แห่งและปรับปรุงใหม่อีก 31 แห่ง ในช่วง 2 ปีต่อจากนี้

นอกจากนี้ ยังเตรียมปรับปรุงสถานีดับเพลิง 13 แห่ง และสร้างใหม่อีก 3 แห่ง พร้อมทั้งยกะดับ Command Center เพิ่มประสิทธิภาพการติดตั้ง GPS ให้รถพยาบาล 80 คัน และรถดับเพลิง 250 คัน ติดตามสถานการณ์ผ่าน IOT กล้อง DVR และ Body Cam เพิ่มประสิทธิภาพการตัดสินใจและสั่งการแบบเรียลไทม์ผ่านระบบข้อมูลทรัพยากรและห้อง War Room

ปรับหลักสูตรพัฒนาคน สร้างการเรียนรู้ทุกช่วงวัย

ปิดท้ายด้วย ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. รายงานในประเด็น การพัฒนาคน คือการพัฒนาเมือง สิ่งที่ กทม. มุ่งมั่นในช่วง 2 ปีข้างหน้านี้ คือ การยกระดับจากการศึกษา สู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) ซึ่งหมายถึง การดูแล ตั้งแต่ระดับเด็กปฐมวัย การศึกษาภาคบังคับ และการพัฒนาทักษะอาชีพ โดยการศึกษาปฐมวัยเป็นการดูแลเด็กก่อนวัยเรียนจาก 83,264 คน เพิ่มเป็น 100,000 คน ปรับปรุงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและเริ่มรับเด็กเร็วขึ้นที่อายุ 1 ขวบครึ่ง เพิ่มชั้นอนุบาล

สำหรับเด็ก 3 ขวบ มีแผนขยายให้ครอบคลุมทุกโรงเรียนในปี 2569 ปรับปรุงหลักสูตรสร้างพัฒนาสมวัยผ่านการเล่น (play-base-learning) พร้อมทั้งปรับปรุงกายภาพของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนสังกัด กทม. ทั้งห้องน้ำ สนามเด็กเล่นและห้องเรียนปลอดฝุ่น

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ส่วนการศึกษาภาคบังคับ จะเปลี่ยนหลักสูตรที่เน้นการคิดวิเคราะห์ นำความรู้ไปใช้บนหลักสูตรฐานสมรรถนะ (skill-base-learning) และพัฒนาห้องเรียนดิจิทัล สร้าง Active Learning สำหรับเด็ก ป.4 – ม.3 ทุกโรงเรียน โดยทุกห้องเรียน มีคอมพิวเตอร์ เป็นการต่อยอดจากที่ได้มีการนำร่องห้องเรียน Chromebook ในปีการศึกษาที่ผ่านมาพบว่ามีคะแนนเฉลี่ยมากกว่าห้องเรียนปกติ 28%

ด้านการพัฒนาทักษะอาชีพ จะเน้นที่การพัฒนาทักษะวิชาชีพที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน โดยดำเนินการร่วมกับสถานประกอบการ เช่น หลักสูตรขับรถสามล้อไฟฟ้า (Murmi) หลักสูตรแม่บ้านการโรงแรม ซึ่งทำร่วมกับสมาคมโรงแรมไทยและหลักสูตรตัดขนสุนัข ที่ทำร่วมกับโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ เป็นต้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active