ผู้ว่าฯ กทม. เผยหลักคิดพัฒนาเมืองให้ฉลาดแบบพอเหมาะ เน้นความต้องการประชาชน พร้อมชูแอปฯ Traffy Fondue ใช้งบฯ น้อย ตอบโจทย์ ลดขั้นตอนระบบราชการ โชว์ยอดประชาชนร้องเรียนกว่า 5.8 แสนเรื่อง
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ในงานสัมมนา Makers United 2024 ฉลองครบรอบ 10 ปี การก่อตั้ง สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในหัวข้อ CITY MAKER (ผู้สร้างเมือง) โดยอธิบายถึงลักษณะที่สตาร์ทอัพต้องมี คือ ต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจ และขยายต่อไปได้รวดเร็ว แต่ 2 สิ่งนี้กลับขัดแย้งกับระบบราชการที่สุด เพราะเป็นลักษณะต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตาม ดังนั้นการที่จะให้ราชการทำเหมือนสตาร์ทอัพจึงเป็นไปได้ยาก
กรุงเทพมหานคร จึงกำลังพยายามปรับปรุงการทำงานในเรื่องนี้ ว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีขึ้น ซึ่งก็คือ Hack the city จะเปลี่ยนโลกได้ต้องเปลี่ยนที่เมืองก่อน เพราะจะเห็นปัญหาได้ง่าย และระบบนิเวศที่ต้องการ มี 7 ข้อ คือ
- ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของราชการ จึงต้องทำข้อมูลเปิด (Open Data) ก่อน เพื่อจะได้เห็นข้อมูลว่าจุดไหนในเมืองมีปัญหา
- แซนบ็อก (Sandbox) มีพื้นที่อิสระในการทดลองแก้ปัญหาได้ โดยไม่ต้องมีกฎระเบียบ
- จุดที่ดีที่สุดในการทำแซนบ็อก คือ จุดที่เกิดวิกฤต เช่น เหตุการณ์ระบายโรคโควิด หรือ จุดที่มีปัญหามาก ๆ
- ทดลองต้นแบบก่อนในพื้นที่เล็ก ๆ ประมาณ 1-2 เขต ไม่ใช่ทำทีเดียวทั้งหมด 50 เขต เพื่อป้องกันการล้มเหลวทั้งหมด
- ต้องมีความฝันที่ใหญ่ และเริ่มจากการทำสิ่งเล็ก ๆ รวมถึงต้องมีประสิทธิภาพ
- เริ่มจากองค์กรล้าสมัยดีที่สุด เพราะองค์กรเหล่านี้มักมีความคิดอยากจะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
- ต้องสถาปนาตนเองให้เป็นผู้สร้างเมือง (City Maker) โดยให้เริ่มจากตนเองก่อน ไม่ต้องไปรอเวลา
ผู้ว่าฯ กทม. ยังได้ยกหลักการ Smart Enough City เป็นหัวใจสำคัญ ว่า จะทำอย่างไรให้ กทม. ฉลาดแบบพอเหมาะ ซึ่งประกอบด้วย 3 วงสำคัญ คือ วงแรก People Desirable เป็นความต้องการของประชาชน วงที่สอง Business Viable ธุรกิจดำเนินการต่อไปได้ และวงที่สาม Technical Feasible ความเป็นไปได้ในเชิงเทคนิค
“ที่ผ่านมาสาเหตุส่วนใหญ่ที่สตาร์ทอัพล้มเหลวเยอะ เพราะมักมุ่งเน้นเทคนิคเยอะเกินไป ไม่ได้สนใจว่าผลผลิตที่ได้ตรงกับความต้องการของคนหรือไม่ ตัวอย่างโครงการที่ล้มเหลวในไทย เช่น จุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะที่ไม่ตอบโจทย์ประชาชน หรือป้ายรถเมล์อัจฉริยะ (Smart Bus Shelter) แต่รถเมล์ที่ใช้งานบางคันยังมีสภาพที่เก่า ดังนั้นการทำสตาร์ทอัพไม่ควรมุ่งเน้นแต่เทคโนโลยี แต่ต้องตอบโจทย์คนใช้งานเป็นหลัก”
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
นอกจากนี้การ Hack the city (การแก้โจทย์เมือง) หัวใจสำคัญของ กทม. เปรียบเหมือนเส้นเลือดฝอย ซึ่งก็คือสิ่งที่อยู่ใกล้ ๆ ชีวิตคน และไม่ต้องใช้เงินลงทุนมาก เหมาะกับสตาร์ทอัพ เพราะเป็นโมเดลธุรกิจเก่า หากทำจุดหนึ่งได้ดี ก็จะสามารถขยายไปยังจุดอื่น ๆ ได้อีก โดยระบบนิเวศน์ที่ดีในการพัฒนาเมือง จะต้องมี
- Sandbox มีพื้นที่ให้ทดลองได้พัฒนาจากสิ่งเล็ก ๆ และแนวคิดนำไปขยายผล
- Reglation แก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการนำไปขยายผล
- Talent ให้โอกาสคนที่มีศักยภาพได้แสดงความคิดเห็นร่วมออกแบบการพัฒนาเมือง
- Commitment การสนับสนุนอย่างจริงจังจากฝ่ายบริหาร
ผู้ว่าฯ กทม. ยังได้ยกตัวอย่าง แอปพลิเคชันรับแจ้งปัญหา Traffy Fondue ที่เริ่มดำเนินการมา 5 ปีแล้ว เดิมในช่วงแรกไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายบริหาร แต่เมื่อตนผลักดันให้นำออกมาใช้ก็สามารถพลิกเมืองได้เลย โดยการร้องเรียนปัญหาถือเป็นหัวใจของแอปฯ นี้ เพราะเมื่อก่อนการร้องเรียนปัญหาต้องผ่านหลายขั้นตอน จดหมายร้องเรียนกว่าจะมาส่งถึงผู้ว่าฯ ต้องผ่านการเซ็นชื่อรับรองถึง 7 คน ใช้เวลานาน 15 วัน และคำสั่งกว่าจะลงไปถึงจนได้แก้ปัญหาก็ใช้เวลาอีก 15 วัน รวม 1 เดือน ถือเป็นการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ
แต่ Traffy Fondue สามารถลดขั้นตอนการร้องเรียนได้ ทุกคนสามารถเข้ามาใช้ได้ และข้าราชการเมื่อเห็นปัญหาก็สามารถแก้ไขได้ทันทีโดยไม่ต้องรอคำสั่งผู้ว่าฯ อีกทั้งไม่ต้องใช้งบฯ ลงทุนจำนวนมาก เพียงอาศัยประชาชนเป็นเครื่องมือ ล่าสุดมีผู้ร้องเรียนทั้งหมด 585,218 เรื่อง แก้ปัญหาแล้ว 480,000 เรื่อง ถือเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของข้าราชการ
ข้อดีของการใช้แพลตฟอร์มนี้ มีห้องแสดงความคิดเห็น บอกรายละเอียดได้ว่าเกิดเหตุเรื่องอะไรขึ้นที่ไหน ใครทำงานล่าช้าไปกี่นาที นอกจากนี้ไม่ต้องรอเวลาราชการ เพราะคนส่วนมาก 60% จะร้องเรียนปัญหาในช่วงเวลากลางคืนหลังจากเลิกงาน
“ผมว่าอันนี้มันโคตรจะประชาธิปไตย ข้อดีของดิจิทัลแพลตฟอร์มคือ ไม่มีเส้น หาไม่ได้เลยอันไหนเรื่องผู้ว่าฯ ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่มีใครรู้อันนี้เรื่องผู้ว่าฯ นี่คือระบบประชาธิปไตยที่แท้จริง ๆ หากมองให้ลึกขึ้นไป อันนี้ไม่ได้แสดงความอ่อนแอของกทม.นะ ที่มีคนร้องเรียนมา 6 แสนเรื่อง มันแสดงถึงความไว้ใจ ที่ประชาชนไว้ใจเรา ถ้าเขาไม่ไว้ใจเรา คงไม่ยกโทรศัพท์ขึ้นมาถ่าย แล้วก็พิมพ์ด่าเรามาหรอก เขาเชื่อว่าเราจะแก้ให้เขา อันนี้คือ Trust Protocol อันนี้ยิ่งกว่าบิทคอยน์อีกนะ ผมว่าอันนี้คือสร้างความไว้วางใจ”
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
นอกจากนี้ กทม.กำลังร่วมมือกับภาคเอกชน แก้ปัญหาด้านสาธารณะสุข โดยประชาชนไปต้องไปรอคิวที่โรงพยาบาล สามารถพบแพทย์ทางออนไลน์ตามห้างสรรพสินค้าได้ทันที หากสำเร็จจะขยายไปทุกเขต ขณะเดียวกัน กทม.ได้มีพัฒนาแอปพลิเคชั่นเรียกวินมอเตอร์ไซต์ให้ไปรับตามพื้นที่ต่าง ๆ ได้ พร้อมกับคิดค่าบริการให้ทันที ซึ่งช่วยเศรษฐกิจให้กับคนในพื้นที่ และลดความขัดแย้งกับไรเดอร์จากแอปฯดัง ปัจจุบัน กทม.มีวินมอเตอร์ไซต์ทั้งหมด 6,000 จุด รวม 80,000 คน