ปชช. โวยร่างผังเมืองใหม่ เอื้อกลุ่มทุน หากฟังเสียงชาวบ้าน ไม่มีทางผ่าน

ประชาชนชาว กทม. ร่วมแสดงความเห็นต่อร่างผังเมืองรวม กทม. ​หลายคนแสดงความเห็น “คัดค้าน” ​เพราะอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อคนบางกลุ่ม ขณะที่กระบวนการร่าง “ไร้การมีส่วนร่วม” ของประชาชนตั้งแต่เริ่มต้น แนะควรขยายเวลารับฟัง

วันนี้ (6 ม.ค.67) ที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น) กรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชน เกี่ยวกับการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) เพื่อเสนอสาระสำคัญของร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ให้ประชาชนรับทราบและรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อนำมาปรับปรุง ตามขั้นตอนมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2562 มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองเพื่อทุกคนและเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีภาคประชาชน ผู้แทนราษฎร ผู้บริหาร คณะทำงาน กทม. เข้าร่วม

ณรงค์ เรืองศรี รองปลัด กทม. กล่าวว่า การแสดงความเห็นต่อร่างผังเมืองรวมของประชาชนครั้งนี้จะเป็นการร่วมกันกำหนดอนาคต กทม. เพื่อทุกคนและลูกหลานสืบไป ขอให้ทุกคนร่วมแสดงความเห็นต่อผังเมืองนี้ โดยหวังนำข้อเสนอแนะและแนวคิดอย่างสร้างสรรค์จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาสู่การสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นมหานครแห่งเอเชีย เมืองที่มีความสมดุล มีความเสมอภาค อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

การประชุมครั้งนี้มีผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุงร่างผังเมืองรวมกรุงเทพฯ มาอธิบายรายละเอียดในและด้านที่มีการปรับปรุงแก้ไข ก่อนที่จะเปิดให้ประชาชนได้ยืนขึ้นกล่าวแสดงความเห็นต่อคณะทำงาน โดยการแสดงความเห็นทั้งหมดจะถูกบันทึกและสรุปความเห็นทั้งหมดที่ได้รับในวันนี้จะนำมา สรุป 12 ม.ค. เพื่อให้คณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมือง กรมโยธาธิการและผังเมือง และคณะกรรมการผังเมืองจังหวัดพิจารณาลงความเห็นตามลำดับ ก่อนเข้าสู่การปิดประกาศ 90 วัน ซึ่งจะเป็นอีกขั้นตอนที่ประชาชนจะได้มีส่วนร่วมในการยื่นร้องขอแก้ไขต่อไป

ชูขวัญ นิลศิริ รองผู้อำนวยการสำนักการวางผังเมือง กล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการร่างผังเมืองรวม คือเมื่อ 24 ม.ค. 61 คณะกรรมการผังเมืองอนุมัติให้ดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวม กทม. (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ตาม พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2518 จากนั้นได้มีการศึกษาวิเคราะห์และจัดทำร่างขึ้น พร้อมจัดทำการรับฟังความคิดเห็นประชาชน เมื่อเดือน พ.ค. 62 และต่อมา 28 ม.ค. 64 คณะกรรมการผังเมืองมีมติให้ดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวมตาม พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ 2562 กทม.จึงดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวมการศึกษาวิเคราะห์และจัดทำร่างผังเมืองฉบับปัจจุบัน และนำมาสู่การรับฟังความเห็นจากประชาชน ที่จัดไปแล้วเมื่อ 23-24 ธ.ค.66 และวันนี้

ชูขวัญ ระบุว่า ประชาชนลงความเห็นได้ 3 ทาง คือ กล่าวด้วยวาจาในห้องประชุม เสนอเป็นลายลักษณ์อักษรตามแบบฟอร์ม สามารถส่งกับเจ้าหน้าที่สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง ทางไปรษณีย์ได้ หรือสามารถแสดงความเห็นผ่านออนไลน์ที่ webportal.bangkok.go.th/cpud ภายในวันที่ 22 ม.ค.67

ผศ.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย ผู้ช่วยคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน กล่าวว่า เหตุผลในการปรับปรุงผังเมือง กทม. เนื่องจากคาดการณ์ในปี พ.ศ.2580 ประชากรจะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 แสนคน มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 30% ของประชากรทั้งหมด รวมไปถึงด้านการท่องเที่ยว ที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า การจราจรที่จำนวนรถสวนทางกับถนน ทำให้ กทม. มีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ประกอบกับการพัฒนารถไฟฟ้า ที่เพิ่มขึ้น 22 เส้นทางในอนาคต

ขณะที่ รศ.นพนันท์ ตาปนานนท์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางผังเมือง กล่าวถึง รายละเอียดในการปรับปรุงผังเมืองว่าเป็นไปตามแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนโยบายผู้ว่าฯ 9 ด้าน 9 ดี  ผังนโยบายระดับภาค ภาคกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ผังนโยบายของประเทศ โดยการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ประกอบด้วย

  1. แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ทางที่ดิน เพื่อกำหนเดทิศทางการใช้ที่ดิน ในอนาคตให้สอดคล้องกับการขยายตัวของประชากร เศรษฐกิจ สังคม ระบบโครงสร้างพื้นฐาน
  2. แผนผังแสดงที่โล่ง เพื่อประโยชน์ในการรักษาสภาพแวดล้อม และการนันทนาการ
  3. แผนผังแสดงโครงการคมนาคมและการขนส่ง ในอนาคตที่สอดคล้องกับการพัฒนาและขยายตัวของเมือง
  4. แผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูประโภค สาธารณูปการ และบริการสาธารณะ เพื่อส่งเสริมพัฒนาให้เพียงพอและมีประสิทธิภาพ
  5. แผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  6. แผนผังแสดงผังน้ำ เพื่อพัฒนาโครงข่ายระบบการระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม

ธนิชา นิยมวัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการคมนาคมและการขนส่ง เผยข้อมูลที่มีการแก้ไขผังเมืองที่สำคัญใน 9 บริเวณ คือ

  1. บริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ (เปลี่ยนจาก ศ.1 และ ศ.2 เป็น ย.11 พ.1 พ.2 และ ส.)
  2. รัชโยธิน (เปลี่ยนจาก ย.5 และ ย.7 เป็น ย.11 และ ย.13) ที่มีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) สายสีเขียว (หมอชิต-คูคต) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง)
  3. ดอนเมือง (เปลี่ยนจาก ย.3 เป็น ย.7 และ พ.5) มีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) สายสีเขียว (หมอชิต-คูคต) สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)
  4. ลาดพร้าวรามอินทรา (เปลี่ยนจาก ย.3 และ ย.4 เป็น ย.6 และ ย.7) มีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-ส าโรง) สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี)
  5. ศรีนครินทร์ (เปลี่ยนจาก ย.4 เป็น ย.7) มีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีเขียว (อ่อนนุช-เคหะฯ) สายสีแดง (ARL พญาไท-สุวรรณภูมิ) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง)
  6. มีนบุรี (เปลี่ยนจาก ย.3 เป็น ย.6 และ เปลี่ยนจาก ย.6 เป็น ย.10) มีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) และสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี)
  7. ทางน้ำหลาก (เปลี่ยนจาก ก.1 บางส่วน เป็น ก.2 ใหม่) โดยขยาย ขุดคลองระบาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันน้ำท่วมและการระบายน้ำ
  8. ตลิ่งชันและทวีวัฒนา (เปลี่ยนจาก ก.2 เดิม และ ก.4 เดิม เป็น ย.1 ย.3 ย.4 ย.6 ย.8 และ พ.4) มีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) สายสีน้ำเงิน (ท่าพระ-บางแค) และสายสีเขียว (ส่วนต่อขยายบางหว้า-ตลิ่งชัน)
  9. วงเวียนใหญ่-สุขสวัสดิ์ (เปลี่ยนจาก ย.4 เป็น ย.8 และจาก ย.11 เป็น ย.13) มีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีม่วง (เตาปูน-ครุใน)


สามารถอ่านรายละเอียดการร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครได้ที่ https://plan4bangkok.com/download/

ด้าน ผศ.พรสรร วิเชียร์ประดิษฐ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านใช้ประโยชน์ที่ดิน กล่าวว่า นอกจากการปรับปรุงผังเมือง กทม.ได้เพิ่มมาตรการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนที่ต้องการพัฒนาหรือดำเนินการที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ด้วยการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นดิน หรือ FAR Bonus จาก 5 รูปแบบ เป็น 10 รูปแบบ และเพิ่มมาตรการปรับอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมระหว่างแปลงที่ดิน TDR ซึ่งเป็นมาตรการสร้างความเป็นธรรมให้กับเจ้าของอาคาร อนุรักษ์ และมาตรการเฉลี่ยอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมสำหรับโครงการพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่ (PUD) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ดินให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น

มลดา ระหว่างโรจน์ ประชาชน กล่าวว่า ในฐานะประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากผังเมือง เพราะที่ดินของแม่อยู่ตรง 3 แยกสุวิทวงศ ประชาอุทิศ ให้เป็นที่ดิน ก.1 (พื้นที่สีขาวมีกรอบและเส้นทแยงสีเขียว) มา 56 ปี จนพ่อเสียเสียชีวิต ส่วนแม่อายุ 94 ปีแล้ว แต่ฉบับปรับปรุงใหม่ยังคงเป็นสีเดิม อยากให้แก้ไขเป็นสีส้มที่อยู่อาศัย เพราะบริเวณนั้นไม่เหมาะที่จะทำเกษตรกรรมตามที่ผังเมืองกำหนด

“แม้ว่าที่ดินจะติดกับพื้นที่สีส้ม (ย.6-ย.10) และมีรถไฟฟ้าสายสีชมพู สถานีมีนบุรีก็อยู่ไม่ห่างจากตรงนั้น ขอเปลี่ยนให้เป็นสีส้มบ้าง ไม่อยากเป็นเขียวลายแล้ว แล้วปลูกต้นไม้ตายทุกปี น้ำท่วมทุกปี พอปลูกไม่ได้ก็เสียภาษีเต็มที่ เพราะหาว่าเป็นที่รกร้าง”

มลดา ระหว่างโรจน์

ก้องศักดิ์ สหะศักดิ์มนตรี เครือข่ายชุมชนปกป้องคุณภาพชีวิตคนเมือง กล่าวว่า เรื่องเวลาในการแสดงความเห็นต่อร่างผังเมืองนั้นมีให้ประชาชนที่ให้น้อยเกินไป ถามว่ารับฟังแล้วจะนำไปทำอะไรบ้าง ตนพยายามส่งสัญญาณบอกมาตอลดว่ากระบวนการเริ่มผิด เพราะการปรับปรุงต้องเริ่มจากประชาชน ก่อน พร้อมท้าให้ไปถามว่ามีประชาชนกี่คนที่รู้กระบวนการปรับปรุงผังเมืองฉบับนี้ รู้ตั้งแต่เมื่อไหร่ รู้กันกี่คน

“ที่บอกว่าทำมาตั้งแต่ ปี 60 ถามว่ามีใครรู้บ้าง พอปี 62 ต้องทำใหม่ ตาม พ.ร.บ. ฉบับใหม่ มีเงื่อนไขเยอะมากที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ผู้ว่าฯ เคยรับปากว่าจะรื้อผังเมืองใหม่ มาตรา 9 สำคัญมา แต่ท่านกลับทำกับแบบเดิม ประชาชนรู้กันกี่คน และมีคนที่รู้แล้วเล็ดลอดเข้าไปในกระบวนการท่าน กี่คนที่เข้าใจ ผังที่เนรมิตขึ้นมา เส้น สาย สี ที่ระบาย ยุบยิบไปหมด พอเริ่มด้วยความไม่รู้ ไม่เข้าใจ มันถึงตกผลึกได้ว่า ผมเข้าใจแล้วว่าท่านไม่ต้องการให้เรารู้ เพราะถ้าเรารู้ก็น่าจะเป็นภาพวันนี้ ที่เห็นภาพใหญ่ ว่าถ้าประชาชนรู้รายละเอียดทั้งหมดร่างผังเมืองนี้จะไม่มีทางผ่าน ถ้าเขารู้ว่าท่านเขียนอะไร ผังท่านจะล้มทั้งหมด จุดอ่อนของกฎหมายฉบับนี้คือ ความไม่รู้ไม่เข้าใจ ติดกระดุมเม็ดแรกผิด ถามง่าย ๆ เลย การเวนคืนถนนมาจากไหน ใครขีดขึ้นมา ผมจะถามท่าจะตัดอีกกี่หมื่นสายก็ได้ แต่มาถามพวกผมก่อนครับ สิทธิในการเริ่มกฎหมายฉบับนี้เริ่มที่ประชาชน จบที่ประชาชน ขยายเขตถนน 12-16 เมตร บอกว่าจะไม่เวนคืน ถ้าอย่างนั้นระบุไปในผังเมืองด้วยนะว่าจะไม่เวนคืน”

ก้องศักดิ์ สหะศักดิ์มนตรี

อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตรองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า ผังเมืองที่ร่างขึ้นนี้ดูเป็นการเอื้อประโยชน์กับนายทุนมาเกินไป และยังให้เวลาในการแสดงความเห็นกับประชาชนน้อยเกินไป ทำให้ไม่สามารถแสดงความเห็นลงลึกในรายละเอียดได้ จากการลงพื้นที่หลายเขต เช่น จตุจักร บางซื่อ พญาไท จึงขอเสนอ ดังนี้ 1. การขยายถนน ควรทำผังเมืองย่อย พื้นที่ถนนซอยย่อยจำนวนมาก ส่วนใหญ่กว้างเพียง 6 เมตร ซึ่งในการใช้งานจริงบ้านเรือนอาคารพาณิชย์ต่าง ๆ นำกระถางต้นไม้ไปวาง ทำให้รถไม่สามารถขับสวนทางได้ โดยยกตัวอย่างซอยราชครูและซอยสายลมย่านอารีย์ ที่มีแผนจะขนายถนนเพื่อรองรับคอนโดมเนียมที่สร้างขึ้น ซึ่งเป็นพื้นที่อาศัยหนาแน่น มองว่าควรจะหยุดได้แล้ว ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานครที่มีการสร้างคอนโดขึ้นใหม่ ดังนั้น กทม.จะต้องทำผังเมืองย่อย โดยต้องรับฟังเสียงประชาชน 2. สร้างถนนทางลัดแทนการขยายถนนหลัก 3. ความเป็นเมืองซับน้ำของ กทม. หายไป มองว่าสีในผังเมืองที่เข้มขึ้นสะท้อนให้เห็นความหนาแน่นของพื้นที่โดยลืมคำนึกถึงลักษณะภูมิประเทศ ทั้งที่ กทม. ชั้นในควรจะถูกสงวนไว้ ไม่ควรสร้างตึกเพิ่ม

“สีที่ทำผังเมืองเป็นการเอื้อประโยชน์ให้นายทุน ท่านฟังนายทุนมากไป ท่านควรจะเปิดเวลารับฟังประชาชนให้มากขึ้น เวลามันน้อยเกิน พอน้อยเกินไปเนื้อหาข้าในมันไม่ได้อะไรเลย”

อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active