เปิด 10 ข้อสังเกต “ผังเมืองรวม กทม.” ฉบับใหม่ หวั่นเมืองโตกระจุก

“ก้าวไกล” ชวนคนกรุง มีส่วนร่วมเวทีรับฟังความเห็น “ผังเมืองรวม กทม.ฉบับใหม่” 6 ม.ค.นี้ พบเอื้อประโยชน์ที่ดินทหาร-เอกชน ไร้ยุทธศาสตร์ วางผังตามหลังเมืองเติบโต สิทธิ FAR Bonus ให้เอกชนไม่ตอบโจทย์ปัญหาในพื้นที่

วันนี้ (5 ม.ค.67) สส.กรุงเทพฯ และ ส.ก. พรรคก้าวไกล นำโดย ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กรุงเทพฯ แถลงข้อสังเกตต่อร่างผังเมืองรวม กทม. โดยการจัดทำผังเมืองฉบับใหม่ กำลังอยู่ในขั้นตอนของการรับฟังความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่จะประชุมใหญ่เพื่อรับฟังความคิดเห็นประชาชนในวันเสาร์ที่ 6 ม.ค.นี้ โดยทางก้าวไกลมีข้อเสนอต่อกระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างผังเมืองฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ตาม พ.ร.บ.การผังเมือง 2562 จำนวน 10 ข้อ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจถึงสาระสำคัญของผังเมืองที่จะเปลี่ยนแปลงไป ดังนี้

ผังเมืองกรุงเทพฯ ปี 2556
ผังเมืองกรุงเทพฯ ฉบับปัจจุบันที่กำลังอยู่ในขั้นรับฟังความเห็น

1. การรับฟังความเห็น (6 ม.ค.นี้) มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจาก เป็นการรับฟังความคิดเห็นครั้งใหญ่ หากพี่น้องประชาชนไม่ได้เข้าร่วม หรือไม่ได้แสดงความคิดเห็นทางหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร หรือทางวาจาไว้ จะไม่สามารถแสดงความคิดเห็นใดใดหลังจากนี้ได้อีก นอกจากนี้ร่างผังเมืองปัจจุบันนี้ยังไม่สมบูรณ์ ต้องประกาศบังคับใช้ก่อน จึงต้องร่วมกันสงวนสิทธิไว้ เพื่อจะได้มีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นในรอบถัดไป

2. วางผังเมืองตามหลังรถไฟฟ้า การเปลี่ยนผังเมือง กทม. ในครั้งที่ 4 หลักการเป็นเพียงเรื่องของการ Upzoning (การเพิ่มความเข้มข้นของการใช้ประโยชน์ที่ดิน) โดยส่วนใหญ่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงตามแนวรถไฟฟ้า และการใช้ที่ดินปัจจุบัน ซึ่งไม่ใช่การวางผังเมืองเพื่อชี้นำความเจริญหรือกำหนดอนาคตของเมือง แต่วางผังเมืองหลังจากที่เมืองเจริญเติบโตไปก่อน แล้วค่อยปรับผังเมืองตามการเจริญเติบโตทิศทางของเมือง

ผังเมืองกรุงเทพฉบับปัจจุบันเทียบกับแผนที่รถไฟรอบเมืองทั้ง 4 เส้นทาง (ทั้งที่ยังสร้างเสร็จและยังสร้างไม่เสร็จ)

3. ผังสีเขียวมีการเปลี่ยนแปลง สำหรับพื้นที่อนุรักษ์ชนบท และพื้นที่เกษตรกรรม หรือผังสีเขียวฝั่งตะวันตก เช่น เขตทวีวัฒนา, ตลิ่งชัน ที่เคยถูกวางไว้ว่าเป็นพื้นที่รับน้ำ จะมีการเปลี่ยนแปลง ปรับการใช้ประโยชน์ของที่ดินอย่างก้าวกระโดดกว่าในหลายพื้นที่ เมื่อเทียบในส่วนของฝั่งตะวันออก ซึ่งปรับขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยส่วนใหญ่ยังคงเป็นพื้นที่เกษตรกรรม

ผังเมืองกรุงเทพฯ ปี 2556

ผังเมืองกรุงเทพฯ ฉบับปัจจุบัน พื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมกลายเป็นพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย

4. ไม่กำหนดยุทธศาสตร์ระดับจังหวัด การกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินของผังเมืองกรุงเทพฯ นั้นไม่ได้วางแผนร่วมกันระหว่าง กทม. กับปริมณฑลอย่างมียุทธศาสตร์ และไม่มีเหตุผล หรือหลักการที่ประกอบชัดเจนนัก ทำให้บางพื้นที่มีความย้อนแย้งกัน เช่น ช่วงรอยต่อระหว่างกรุงเทพฯ กับสมุทรปราการ

5. เงื่อนไขการให้ FAR Bonus ไม่สร้างประโยชน์ที่ตอบโจทย์พื้นที่ ในร่างผังเมืองปัจจุบันกำหนดมาตรการจูงใจให้เอกชน แลกกับการได้ FAR Bonus เพิ่มในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การทำบ่อหน่วงน้ำเป็นพื้นที่รับน้ำ, การเพิ่มพื้นที่สีเขียว, การเพิ่มพื้นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย (Affordable Home), หรือการทำทางเชื่อมถนนสาธารณะหรือการทำพื้นที่สำหรับหาบเร่แผงลอย เพื่อแลกกับ FAR ที่สูงขึ้น โดยการได้ค่า FAR ที่สูงขึ้น จะนำมาซึ่งสิทธิในการสร้างอาคารที่ใหญ่ขึ้น สูงขึ้น หนาแน่นขึ้นได้ แต่ไม่มีกำหนดหรือผลประโยชน์ที่กรุงเทพมหานครได้อย่างเป็นรูปธรรม และบ่อยครั้งจะไม่มีการติดตามผลการดำเนินการ

ตัวอย่างเงื่อนไขการพัฒนาที่ดินเพื่อรับสิทธิประโยชน์ของ FAR Bonus

สส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล ยังเห็นควรให้กำหนดยุทธศาสตร์ FAR Bonus แบบเฉพาะเจาะจงในแต่ละเขต ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาทางภูมิศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ของกรุงเทพมหานคร รวมถึงวางแผนการติดตามผลลัพธ์ที่กรุงเทพมหานครจะได้ ยกตัวอย่างเช่น

  • ในเขตราชเทวี เขตสาทร เขตบางรัก ถ้าเอกชนอยากจะขอ FAR Bonus เพิ่มควรต้องแลกกับการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย (Affordable Home) เนื่องจากราคาที่อยู่อาศัยในเขตดังกล่าวมีราคาแพง

  • ในเขตวัฒนา และเขตคลองเตย ถ้าเอกชนต้องการ FAR Bonus เพิ่ม ก็ควรทำถนนเพื่อสาธารณะ เชื่อมซอยพื้นที่ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เพื่อลดปัญหาการจราจรและก็มุ่งหน้าสู่การเป็นพื้นที่มลพิษต่ำ

  • ในเขตกรุงเทพตะวันออก และฝั่งธนบุรีซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำ ถ้าเอกชนต้องการ FAR Bonus เพิ่มก็ควรสร้างพื้นที่หน่วงน้ำเพิ่มเติมเนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำแล้วก็เสี่ยงในการน้ำท่วมขังจากฝน

6. ผังคมนาคมระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และกรุงเทพมหานครไม่สอดคล้องกัน สำหรับการตัดถนนใหม่ใน กทม. เพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้สอดคล้องกับแนวทางคมนาคมโดยรวมของภาครัฐ เนื่องจาก กทม. ไม่ได้เป็นผู้ควบคุมระบบขนส่งมวลชน อย่าง รถไฟฟ้า รถเมล์ ทางด่วน หรือ สะพานขนาดใหญ่ กทม. ไม่ได้เป็นผู้สร้าง แต่อยู่ภายใต้กระทรวงคมนาคม ทำให้ผังคมนาคม ไม่สอดคล้องกันทั้งหมด อีกทั้ง กทม. เองก็ไม่ได้ส่งเสริมการวางผังระบบตาราง (Grid-pattern system) กล่าวคือ ไม่ได้มีความพยายามที่จะเชื่อมต่อถนนสายต่าง ๆ เข้าด้วยกันเพื่อแก้ปัญหารถติดอย่างจริงจัง

7. ที่ดินทหารเป็นที่ผังสีขาว มีอภิสิทธิ์เหนือกฎหมายผังเมือง ตามผังเมืองกำหนดให้พื้นที่ทหารใน กทม. กว่า 12,900 ไร่ บางส่วนเป็นผังสีขาว ซึ่งหมายถึงสถานะที่อยู่เหนือกฎหมายผังเมือง ไม่มีเงื่อนไขกำหนดขอบเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินแต่อย่างใด ผิดกับที่ดินของประชาชนที่ยังถูกบีบให้อยู่ภายใต้กฎหมายของเมืองอยู่ ยกตัวอย่างเช่น การใช้พื้นที่ผังสีขาวในการสร้างอาคารที่พักอาศัยให้แก่เหล่านายพลหรือเป็นบ้านพักของทหารชั้นสัญญาบัตร ซึ่งหากเอกชนต้องการพัฒนาพื้นที่ของตัวเอง กลับต้องเจอกับเงื่อนไขหลากหลายที่กำหนดขอบเขตในการใช้ที่ดินได้ แต่พื้นที่ทหารไม่ได้ถูกกำหนดภายใต้กฎหมายผังเมือง

8. กำหนดพื้นที่สีแดงอย่างไม่มีหลักการ ร่างผังเมืองฉบับปัจจุบันกำหนดพื้นที่สีแดง (พื้นที่สำหรับการพาณิชย์) กระจายตัวอยู่บนพื้นที่ของเหล่านายทุน และบางพื้นที่ที่ได้ผังสีแดงไปนั้น กลับไม่สอดคล้องกับผังการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจขนาดย่อย (Sub CBD) กระจายตามพื้นที่ รวมถึงไม่มีหลักการและเหตุผลที่สามารถอธิบายถึงผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาผังเมืองว่าเหตุใดในบางพื้นที่ถึงกำหนดให้กลายเป็นพื้นที่สีแดงได้ และบางพื้นที่ถึงกำหนดให้เป็นพื้นที่สีแดงไม่ได้

9. ผังที่โล่งถูกนับรวมกับสนามกอล์ฟ ผิดเงื่อนไขการใช้ที่ดิน ผังเมืองกำหนดให้ผังที่โล่ง และผังสีเขียวของกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ เช่น การรับน้ำให้กับพื้นที่ในเมือง เป็นต้น แต่ผังที่โล่งในปัจจุบันได้ไปนับรวมกับพื้นที่ของเอกชนอย่างสนามกอล์ฟเข้าไปด้วย ซึ่งขัดแย้งต่อเงื่อนไขของการเป็นที่ดินเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างชัดเจน

10. ผังเมืองเจริญกระจุก ลดความแออัดไม่ได้ โดยข้อนี้มีความสำคัญมาก เนื่องจากผังเมืองปัจจุบันไม่ได้แก้ปัญหา ไม่ได้ลดความแออัดในกรุงเทพฯ ชั้นในแต่อย่างใด และไม่กระจายความเจริญอย่างมีแผนรองรับ ทำให้กรุงเทพมหานคร โตเฉพาะส่วนไข่แดงสามารถลงทุนโครงการขนาดใหญ่ และนำมาซึ่งความแออัดเพิ่มขึ้นอีก ขณะที่พื้นที่กรุงเทพฯ รอบนอกฝั่งตะวันออก และตะวันตกยังไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรม เหมือนเช่นหลาย 10 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่ ณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ สส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล ระบุว่า แนวทางต่อไปที่จะดำเนินการ คือสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน เข้าไปกับกระบวนการของผังเมืองในฉบับนี้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งในวันที่ 6 ม.ค.นี้ ที่สนามกีฬาเวสน์ ดินแดง ตั้งแต่เวลา 9.00 น. หลังจากนั้นในวันที่ 22 ม.ค.นี้ สส. และ ส.ก.พรรคก้าวไกล จะรวมเอาปัญหาของพื้นที่เขตต่าง ๆ นำเสนอต่อสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง เพื่อส่งต่อไปยังคณะกรรมการผังเมืองพิจารณาแก้ไขเปลี่ยนแปลงต่อไป

“วันที่ 6 มกราคมนี้ ขอให้พี่น้องประชาชนไปร่วมกันให้มากที่สุด แล้วข้อคิดเห็นต่าง ๆ ก็สามารถที่จะส่งมายังผู้แทนก้าวไกลของท่าน เข้ามาให้มากที่สุดเพื่อที่จะให้ผังเมืองฉบับนี้ สอดคล้องกับความต้องการของพี่น้องประชาชนแล้วก็เป็นผังเมืองของประชาชนอย่างแท้จริง”

ณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active