เร่งนำสายไฟฟ้าลงดิน ปรับปรุงภูมิทัศน์กรุงเทพฯ

การไฟฟ้านครหลวง ร่วมกับ กทม. และ กระทรวงมหาดไทย เร่งนำสายไฟฟ้าลงดินบริเวณถนนพหลโยธินเพิ่มเติม จากที่แล้วเสร็จ 62 กิโลเมตร ในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน โดยตั้งเป้าดำเนินการทั้งสิ้น 313.5 กิโลเมตร ปรับปรุงภูมิทัศน์เมืองให้สวยงาม

วันที่ 15 ธ.ค. 66 ​อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ​ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร วิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (MEA) ร่วมกิจกรรม “เนรมิตรพหลโยธิน ถนนสวยไร้เสาสาย” ณ ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ภายใต้นโยบาย 10 ด้านของกระทรวงมหาดไทย คือ ด้านการอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัย

ในครั้งนี้ MEA ได้ดำเนินการรื้อถอนเสาไฟฟ้าพื้นที่ถนนพหลโยธินเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่แยกถนนงามวงศ์วาน ถึงห้าแยกลาดพร้าว ระยะทางรวม 3.5 กิโลเมตร เพื่อเตรียมรองรับความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นและเสริมสร้างภูมิทัศน์ให้สวยงามยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมา MEA ได้ดำเนินโครงการสายไฟฟ้าใต้ดินในพื้นที่ถนนพหลโยธินสำเร็จแล้วเป็นระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร (ตั้งแต่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถึง ห้าแยกลาดพร้าว)

ด้านแผนงานภาพรวมโครงการเปลี่ยนสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของ MEA ในปัจจุบัน มีระยะทางดำเนินโครงการทั้งสิ้น 313.5 กิโลมตร มีเป้าหมายก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในปี 2572 โดยขณะนี้สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จรวม 62 กิโลเมตร ครอบคลุมฟื้นที่สำคัญในถนนต่าง ๆ เช่น ถนนสีลม ถนนสุขุมวิท ถนนพหลโยธิน ถนนพญาไท ถนนพระราม 1 ถนนราชดำริ ถนนราชวิถี ถนนราชปรารภ ถนนศรีอยุธยา ถนนสวรรคโลก ถนนสาธุประดิษฐ์ และถนนสว่างอารมณ์ เป็นต้น


ขณะเดียวกันมีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 251.5 กิโลเมตร เช่น โครงการพระราม 3 โครงการรัชดาภิเษก และโครงการก่อสร้างตามแนวรถไฟฟ้าสายสีต่าง ( โดย MEA คาดว่า ภายในสิ้นปี 2566 จะมีระยะทางที่ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเพิ่มขึ้นอีก 29.2 กิโลเมตร ทำให้มีระยะทางสายใต้ดินสะสมรวมทั้งสิ้น 91.2 กิโลเมตร

นอกจากนี้ MEA ได้นำเสาไฟฟ้าที่รื้อถอนไปใช้ในโครงการปรับปรุงและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนและการทำแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง MEA’s Model อย่างต่อเนื่อง ณ ป้อมพระจุลจอมเกล้า ฐานทัพเรือกรุงเทพ จ.สมุทรปราการ และบริเวณชายฝั่งทะเลกรุงเทพฯ เขตบางขุนเทียน ช่วยเพิ่มการสะสมของตะกอนหลังเขื่อน ส่งผลให้ต้นกล้าและลูกไม้ ประเภทไม้โกงกาง รวมถึง พรรณไม้น้ำต่าง ๆ ที่อยู่หลังแนวป้องกันมีปริมาณหนาแน่นขึ้น และช่วยให้สัตว์น้ำนานาพันธุ์และนกนานาชนิดมีแนวโน้มการอยู่รอดเพิ่มขึ้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active