UDDC ร่วมกับ กทม. และภาคี เปิดตัว 3 โครงการเรือธงปรับปรุงทางเท้าให้คนเมืองเดินสะดวก ทั้งทางเดินลอยฟ้า-ทางเท้ามีหลังคา-เส้นทางเชื่อมย่าน กระตุ้นเศรษฐกิจ ปลอดภัย สุขภาพดี
เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 66 วิษณุ ทรัพย์สมบัติ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สถิติ ทราฟฟี่ฟองดูว์ชี้ให้เห็นว่าเรื่องทางเท้า ถูกร้องเรียนเป็นอันดับ 1 ของเรื่องทั้งหมด ขณะเดียวกันเรื่องเดินทางดีเป็น 1 ใน 9 นโยบายที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ประกาศไว้ ชัดเจนว่าทุกคนเห็นสอดคล้องว่าต้องให้ความสำคัญกับการเดิน สิ่งกีดขวางต้องน้อย สภาพแวดล้อมต้องเหมาะกับการเดิน เป็นโจทย์ที่ กทม. ต้องปรับปรุงและแก้ไข เพื่อประโยชน์มากมายทั้งเพื่อสุขภาพ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจค้าร้านค้ารายย่อยขายดี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้ชีวิตเท่าเทียมเรื่องอายุ หรือรองรับสังคมสูงวัย ซึ่งปัจจุบันมีหลายย่านที่ปรับปรุงแล้ว เช่น สยามสแควร์ มีการปรับพื้นที่ถนนที่เหมาะกับการเดิน
“นโยบายของ กทม. เราให้ความสำคัญในการเดินทางด้วยขนส่งมวลชน ดังนั้นทางเท้าที่เชื่อมต่อการเดินทางจึงต้องมีคุณภาพ ซึ่งเมื่อมีการแจ้งมาทางทราฟฟี่ก็รีบปรับปรุงแก้ไข และมีการปรับปรุงในส่วนของทางเท้ารอบสถานีรถไฟฟ้าในรัศมี 100 เมตรแล้ว เรายังตั้งเป้าหมายปรับปรุงทางเท้า 1,000 กิโลเมตร ภายในปี 2569 พร้อมๆ กับการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งที่กำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้คือ โครงการปรับปรุงทางเท้าสุขุมวิทซอย 1-107 ทั้ง 2 ฝั่ง รวมระยะทาง 25 กิโลเมตร โครงการสกายวอล์กราชวิถี จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถึงถนนพระราม 6 โครงการหลังคาคลุมทางเดินกันแดดกันฝน เส้นที่จะเริ่มได้เลยคือเส้นทางพระราม 4“
รศ.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเดินได้เดินดี เพื่อสังคมดี ชุมชนปลอดภัย สุขภาพดี เศรษฐกิจดี และเกิดโครงการเรือธง 3 โครงการ ได้แก่ โครงการสกายวอล์กราชวิถี โครงการสุขุมวิทเดินได้เดินดี และโครงการทางเดินมีหลังคาคลุม
สำหรับโครงการสกายวอล์กราชวิถีเป็นโครงการที่ กทม. มีความคาดหวังมาก และได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ซึ่งโครงการจะเป็นการเชื่อมต่อ แลกเปลี่ยน แบ่งปัน ทรัพยากรของโรงพยาบาล สถาบันการแพทย์ และโรงเรียนการแพทย์ 12 หน่วยงาน ที่สำคัญคือเพื่อเชื่อมต่อการสัญจรที่สะดวกสบายสำหรับทุกคนในย่าน โดยจะไปเชื่อมต่อกับสกายวอล์กของโรงพยาบาลรามาธิบดีด้วย คาดว่าจะมีประชาชนใช้พื้นที่ตรงนี้ 120,000 คนต่อวัน
นอกจากนี้ยังจะเป็นพื้นที่เชื่อมต่อการเปลี่ยนถ่ายของขนส่งมวลชนให้เข้าถึงได้สะดวก เป็นจุดตั้งต้นของรถเมล์หลายสาย ดึงดูดให้มีกิจกรรมการค้า หาบเร่กว่า 100 ราย ร้านค้ากว่า 200 แห่ง รวมถึงตลาดและย่าน ที่สำคัญคือแก้ปัญหารถติดขัด ซึ่งเดิมมีรถผ่าน 300,000 คันต่อวัน ขณะที่สภาพทางเท้าในพื้นที่ จุดตัดเข้าออกฝั่งละ 19 จุดที่ต้องใช้เวลายืนรอข้ามถนน ปัญหาที่ประชาชนแสดงความคิดเห็นจำนวนมากคือ ฝุ่นควัน มลพิษทางอากาศ แดด ความร้อน ทางเท้าแคบเดินไม่สะดวก และมีความต้องการให้มีความปลอดภัยในการสัญจรมากขึ้น 35% ระบุว่าอยากให้สร้างทางเดินยกระดับ 33% บอกว่าให้ปรับปรุงพื้นที่ด้านล่างด้วย 81% เห็นด้วยในการสร้างทางเดินยกระดับ สำหรับการติดตั้งจะต้องขอใช้พื้นที่วางในแนวรั้วของหน่วยงานและยื่นทางเดินเท้าออกมาอยู่เหนือทางเท้าเดิม เราจะใช้โครงการเป็นการฟื้นฟูย่าน
“ความท้าทายคือทางเท้าแคบมาก และมีการวางระบบสาธารณูปโภคมาตั้งแต่สมัยจอมพล ป. ซึ่งต้องมาพิจารณากันโดยละเอียด ซึ่งการที่ไม่สามารถขยายทางเท้าได้แล้วก็ต้องออกแบบให้ฐานเสาคอนกรีตไปอยู่ในแนวรั้วของหน่วยงานระหว่างทางแทนแล้วจึงยื่นส่วนของสกายวอล์กออกมาด้านนอกแทน จากการรับฟังความคิดเห็นส่วนใหญ่ก็เป็นไปในทิศทางบวก คนในพื้นที่อยากได้ตั้งแต่ปี 2556-2557 ทางเราก็มีความยินดีมากที่โครงการได้รับการผลักดันจาก กทม. เต็มที่”
สำหรับโครงการสุขุมวิทเดินได้เดินดี เพื่อพัฒนาถนนสุขุมวิทซอย 1-107 ทั้ง 2 ฝั่ง ระยะทางรวม 25 กิโลเมตร ผ่านตั้งแต่โรงแรมขนาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้า และร้านรายทาง ดังนั้นการทำเส้นทางให้เดินสะดวก มีความร่มรื่น มีอัตลักษณ์ ตอนนี้เราก็การทำงานและหารือร่วมกับผู้ประกอบการในพื้นที่ ซี่งต้องการพัฒนาพื้นที่หน้าอาคารร่วมกับทางเท้าด้วย นอกจากบริเวณถนนสุขุมวิทแล้วทางเท้ายังจะถูกออกแบบให้เข้าไปยังซอยต่าง ๆ ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงด้วย เพื่อสร้างความเป็นย่านให้เกิดขึ้น
“ทางเท้าที่เหมาะสมกับการเดินจะต้องมีพื้นที่สีเขียวเพื่อให้ร่มเงา และลดอุณหภูมิใจเมือง แนวคิดการออกแบบคือ จัดให้มีพื้นที่เติบโตของต้นไม้ในบริเวณใต้ดิน และด้านบนเป็นโครงสร้างโปร่งเพื่อให้พื้นราบแต่ไม่กระทบกับรากต้นไม้ สำหรับพันธุ์ไม้ที่เหมะสมในการปลูกย่านสุขุมวิท มีการจัดทำจากกลุ่มบิ๊กทรี ซึ่งจะเลือกต้นไม้ที่จับฝุ่นได้ดี อย่างน้อย 10 ไมครอนต่อต้น เป็นไม้ต้น ไม้พุ่ม ไม้เลื้อย มีวางตำแหน่งการปลูกที่เหมาะสม สร้างคาเรกเตอร์ในช่วงถนนต่างๆ และจัดวางโดยลดผลกระทบกับธุรกิจการค้ารายทาง ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มพื้นที่ต้นไม้พุ่ม 52,000 ตารางเมตร รวมถึงการทำทางลาดที่เหมาะสม-สำหรับการเดินทางของคนทุกกลุ่ม และการจัดให้มีที่จอดจักรยาน”
สุดท้ายโครงการทางเท้ามีหลังคาคลุม เป็นโครงการที่ใหม่มากสำหรับประเทศไทย แต่ไม่ใหม่เลยสำหรับต่างประเทศ เช่น ไต้หวัน ไทเป หรือประเทศฝนแปดแดดสี่อื่น ๆ เขาสร้างหลังคาคลุมทางเท้าเพื่อทำให้การสัญจรไม่ต้องหยุดชะงักในช่วงเวลาที่มีฝน หรือแดดจัด ย้ำว่าถ้าเมืองจะส่งเสริมให้คนเดิน จำเป็นต้องมีโครงสร้างที่รองรับให้คนสามารถเดินได้สะดวกแม้ในช่วงที่มีฝนตกเยอะอย่างฤดูฝน หรือหน้าร้อนที่เสี่ยงเป็นฮีทสโตรก อย่างสิงคโปร์ จุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจรระยะ 100-200 เมตร ไปยังสถานที่สำคัญ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล เขาจะมีหลังคาทางเดินเชื่อมต่อไป ซึ่งโครงการแบบนี้เคยเกิดขึ้นที่จุฬาฯ ก็พบว่าทำให้นิสิตและอาจารย์เดินเยอะมากขึ้น
“ทางกรุงเทพมหานครค่อนข้างจะเร่งรัดในการดำเนินการ เพื่อที่จะของบประมาณปี 2568 ดังนั้นทีมจึงต้องรีบส่งแบบร่างเบื้องต้นในปีนี้ และจะมีการรับฟังความคิดเห็น เพื่อปรับปรุงแบบต่อ และจะเผยแพร่แบบที่ปรับแก้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ และถ้าสภากรุงเทพมหานครยกมือผ่านให้ ภายในปลายปีหน้าก็คงจะเริ่มเห็นการก่อสร้างเกิดขึ้นแล้ว”