‘วราวุธ’ ร่วมวง MOU แก้ปัญหาที่ดินริมคลองแม่ข่า

ย้ายแน่ 42 ครัวเรือน-ชุมชนริมคลองแม่ข่า เตรียมสร้างบ้านใหม่ในที่ดินเทศบาลนครเชียงใหม่ มีนาคม 2567 นี้ ส่วนชุมชนที่ยังสามารถอาศัยอยู่ได้ต้องขยับร่นจากคลอง 2 เมตร เพื่อจัดสร้างแนวเขื่อนระบายน้ำ ตามวิสัยทัศน์ ‘คลองสวย น้ำใส ไหลดี ชุมชนมีสุข’

วันนี้ (9 ธ.ค. 2566) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สถาบันองค์กรพัฒนาชุมชน จังหวัดเชียงใหม่ และภาคีเครือข่าย ร่วมจัดงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลก ภาคเหนือ 2566’ จ.เชียงใหม่ แก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัย และการพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกมิติ สำหรับพื้นที่ปัญหาชุมชนริมคลองแม่ข่า ใช้วิธีการแก้ปัญหาโดยใช้ที่ดินเทศบาลนครเชียงใหม่ รองรับการพัฒนาที่อยู่อาศัย 42 ครอบครัว คาดแล้วเสร็จในปี 2567

โดยมีการบันทึกความร่วมมือฉบับนี้ จัดทำขึ้นเมื่อ วันที่ 9 ธันวาคม 2566 ระหว่างเทศบาลนครเชียงใหม่ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และเครือข่ายคนแป๋งเมืองเชียงใหม่ โดยตกลงที่จะร่วมมือกันในการร่วมพัฒนาคลองแม่ข่า จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีสาระสำคัญของความร่วมมือ ดังนี้

1) การส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตและที่อยู่อาศัยของคนในชุมชนในพื้นที่คลองแม่ข่าและลำน้ำสาขา ในพื้นที่เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ให้มีความมั่นคงและมีสิ่งแวดล้อมทางกายภาพและสังคมที่ดี ตามแผนแม่บทการพัฒนาคลองแม่ข่าของจังหวัดเชียงใหม่

2) การพัฒนาคุณภาพน้ำและระบบนิเวศน์รวมทั้งการรักษาสิ่งแวดล้อมตลอดจนภูมิทัศน์ริมสอง ฝั่งคลอง  

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า คลองแม่ข่ามีความหมายและความสำคัญในหลายมิติ เมื่อก่อนมีความสกปกมากตั้งแต่ต้นจนถึงปลายคลอง วันนี้ปัญหาเริ่มคลี่คลาย แต่ยังแก้ไม่แล้วเสร็จ เมื่อก่อนมีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำวันนี้ก็กำลังถูกแก้ไข ย้ำว่าชุมชนที่เข้มแข็ง สภาพแวดล้อมที่ดีเหมาะต่อการดำรงชีพจะต้องอาศัยความร่วมมือในการรักษาความสะอาด วันนี้เทศบาลได้หาที่พักอาศัย หาพื้นที่ให้พี่น้องสามารถอยู่อาศัยทำมาหากินได้สะดวก แต่การที่จะทำให้คลองสะอาดชุมชนน่าอยู่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย

กฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ กล่าวว่า ‘คลองแม่ข่า’ มีต้นกำเนิดจากดอยสุเทพ-ดอยปุย ไหลลงสู่ลำห้วยในอำเภอแม่ริมหลอมรวมกับลำน้ำอีกหลายสายกลายเป็นคลองแม่ข่า ไหลผ่านเมืองเชียงใหม่ลงสู่แม่น้ำปิงที่อำเภอหางดงรวมความยาวประมาณ 31 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันแม่ข่ากลายเป็นคลองที่รับน้ำเสียจากอาคารบ้านเรือน ชุมชน โรงแรม ตลาด สถานประกอบการต่างๆ บางช่วงมีความกว้างเพียง 5 เมตร น้ำในคลองมีสีดำ เน่าเหม็น ตื้นเขิน มีผักตบชวากอหญ้า มีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำคลอง มีชุมชนต่างๆ ตั้งอยู่ริมคลองแม่ข่าและคลองสาขา จากอำเภอแม่ริม-เทศบาลนครเชียงใหม่-อำเภอหางดง รวมทั้งหมด 43 ชุมชน บางชุมชนตั้งอยู่ในแนวโบราณสถาน เช่นกำแพงเมือง ป้อม คูเมือง ฯลฯ

ในปี 2561 จังหวัดเชียงใหม่ได้จัดทำ ‘แผนแม่บทคลองแม่ข่า (พ.ศ.2561-2565)’ มีวิสัยทัศน์ คือ ‘คลองสวย น้ำใส ไหลดี ชุมชนมีสุข’ มีเป้าหมายเพื่อ 1.ฟื้นฟูคลองแม่ข่าให้มีคุณภาพดีขึ้น 2.น้ำไหลเวียนตลอดทั้งปี 3.ปรับปรุงภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อมให้สวยงามเพื่อเป็นสถานที่พักผ่อน และ 4.ชุมชนมีส่วนร่วมและบริหารจัดการชุมชนอย่างเป็นระบบ โดยมีแนวทางการดำเนินงาน เช่น การสำรวจแนวเขตคลอง โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศ ตรวจสอบแปลงที่ดิน ขุดลอกคลอง จัดการน้ำเสีย สิ่งปลูกสร้างรุกล้ำคลอง พัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนสองฝั่งคลองปรับปรุงภูมิทัศน์ สร้างกำแพงกันดินคอนกรีต ถนน สะพาน สร้างจิตสำนึกชุมชน จิตอาสา ‘รักษ์แม่ข่า’ ฯลฯ

เริ่มดำเนินโครงการแรกในปี 2564 คือ ‘โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียสองฝั่งคลองแม่ข่าพร้อมปรับภูมิทัศน์ ระยะที่ 1’ ตั้งแต่บริเวณสะพานแม่ข่า (ระแกง) ถึงประตูก้อม ระยะทางประมาณ 750เมตร ดำเนินการโดยเทศบาลนครเชียงใหม่ ใช้งบประมาณ 22 ล้านบาทเศษ ปัจจุบันสภาพภูมิทัศน์มีความสวยงาม มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวชมทุกวัน

ขณะที่ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช. ที่มีประสบการณ์ในการพัฒนา ที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว ตามแผนแม่บทคลองแม่ข่า จึงกำหนดให้ พอช. ทำหน้าที่พัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตชาวชุมชนริมคลองแม่ข่าในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ พร้อมกันนี้จังหวัดเชียงใหม่ได้ออกประกาศจังหวัดเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 ให้ “การพัฒนาและแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่าและลำน้ำสาขา ด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย เป็นวาระการพัฒนาของจังหวัดที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยเน้นให้ประชาชนในพื้นที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม…”

สำนักงานภาคเหนือ และสำนักงานบ้านมั่นคงและที่ดิน พอช. จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสร้างความเข้าใจกับชาวชุมชนและสำรวจข้อมูลชุมชนตั้งแต่ปี 2565 ในพื้นที่ 22 ชุมชนในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ โดย มีหน่วยงานภาคีเข้าร่วม เช่น เทศบาลนครเชียงใหม่ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกลุ่มนักออกแบบ ‘ใจบ้านสตูดิโอ’

จากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นใน 22 ชุมชนพบว่า มีทั้งหมด 2,169 ครัวเรือน ประชากรรวม 4,361คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง ค้าขาย และพนักงานบริษัทเอกชน ด้านสิทธิ์ในที่ดิน พบว่า 72 % มีสัญญาเช่าที่ดินกับหน่วยงานเจ้าของที่ดิน (ระยะสั้น 1-3 ปี) ส่วนใหญ่เป็นที่ดินราชพัสดุ และเทศบาลนครเชียงใหม่และ 28 % ไม่มีกรรมสิทธิ์ ด้านการอยู่อาศัย 78 % ต้องการเข้าร่วมโครงการปรับปรุงที่อยู่อาศัย ฯลฯ โดยขณะนี้ พอช.อยู่ในระหว่างการจัดเตรียมความพร้อมชุมชนตามโครงการบ้านมั่นคง เช่น สนับสนุน ชุมชนให้จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการพัฒนาที่อยู่อาศัย ฝึกเรื่องการบริหารจัดการการเงินโดยชุมชน มีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์แล้วในชุมชนต่างๆ เช่น กำแพงงาม หัวฝ่าย แม่ขิง อุ่นไอรัก วัดโลกโมฬี ฯลฯ ร่วมกันออกแบบบ้าน ผังชุมชน การพัฒนาคุณภาพชีวิต“

“ตามแผนการปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลองแม่ข่าของเทศบาลนครเชียงใหม่ จะทำให้ชุมชนบางชุมชนที่ปลูกสร้างบ้านอยู่ในแนวโบราณสถาน เช่น ชุมชนกำแพงงามปลูกสร้างบ้านอยู่ในแนวกำแพงเมืองเก่า และ ชุมชนหัวฝาย ต้องย้ายบ้านออกจากแนวกำแพงเมือง ไม่สามารถอยู่อาศัยในชุมชนเดิมได้ รวม 42 ครอบครัวโดยทางเทศบาลนครเชียงใหม่มีแผนจัดหาที่ดินรองรับ เป็นที่ดินที่เทศบาลดูแล อยู่ไม่ไกลจากชุมชนเดิม เนื้อ ที่ประมาณ 3 ไร่เศษ ส่วน พอช. จะสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่ตามโครงการบ้านมั่นคง”

นางสาว กาญจนา กองเกิด ผู้แทนชุมชนริมคลองแม่ข่าที่ได้รับผลกระทบ บอกว่า ขณะนี้ชาวชุมชนได้ร่วมกั้นจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยออมเงินอย่างน้อยครอบครัวละ 100บาท/เดือน โดยเทศบาลจะให้ชุมชนหัวฝายและชุมชนกำแพงงามรื้อย้ายบ้านเรือนไปสร้างบ้านในที่ดินใหม่ของเทศบาลประมาณเดือนมีนาคม 2567 นี้ รวม 42 ครอบครัว ส่วนชุมชนที่สามารถอาศัยอยู่ริมคลองแม่ข่าเหมือนเดิมได้จะต้องขยับบ้านร่นระยะจากริมคลองเข้าไปประมาณ 2 เมตร เพื่อให้เทศบาลสร้างแนวเขื่อนระบายน้ำและปรับภูมิทัศน์ริมคลองให้ดูสวยงาม มีถนน ทางเดินเลียบคลอง

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ในปี 2565 – 2566 ที่ผ่านมา ตัวแทนชาวชุมชนริมคลองแม่ข่าได้เดินทางไป ศึกษาดูงานการพัฒนาที่อยู่อาศัยของ พอช.ที่ชุมชนริมคลองลาดพร้าว กรุงเทพฯ รวมทั้งชุมชนที่จัดทำโครงการบ้านมั่นคงในจังหวัดต่างๆ เพื่อนำมาเป็นแนวทางการพัฒนาชุมชนคลองแม่ข่า เช่น ชุมชนที่อาศัยอยู่ริมคลองแม่ข่าเหมือนเดิมได้จะต้องขยับบ้านให้พ้นแนวก่อสร้างเขื่อน แนวทางเดินเลียบคลอง ทำให้ชุมชนเหลือพื้นที่ไม่มาก ต้องสร้างเป็นบ้านแถว 2 ชั้น เมื่อสร้างบ้านใหม่จะต้องหันหน้าบ้านลงคลองติดถนนเลียบคลอง จะได้ค้าขายได้ รวมทั้งมีการส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ การดูแลสิ่งแวดล้อมริมคลอง การจัดการขยะ น้ำเสีย การพัฒนาคุณภาพชีวิต ฯลฯ

นอกจากนี้ภายในงานวันที่อยู่อาศัยโลกภาคเหนือ 2566 ยังมีกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมงานได้แสดงความคิดเห็นต่อการพัฒนาที่ดินที่อยู่อาศัยในบริบทต่างๆ ประกอบด้วยหัวข้อต่างๆ ดังนี้ “เมือง” มีความคิดเห็น เช่น อยากให้ปรับปรุงขั้นตอนกระบวนการพัฒนาเมืองให้มีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง ให้มีการเพิ่มงบประมาณพัฒนาสาธารณูปโภคพร้อมกับการชี้วัดคุณภาพชีวิต จัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนความสำเร็จของแต่ละพื้นที่เสนอข้อกฎหมายให้เอื้อต่อการดำเนินงานของชุมชน

“ชนบท“ เช่น อยากให้หน่วยงานในพื้นที่บูรณาการทำงานอย่างจริงจังโดยเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง อยากให้มีการจัดระบบที่ดินให้ชาวบ้านที่มีความชัดเจน แก้ไขกฎหมายที่ดินให้เอื้อประโยชน์ต่อการทำมาหากิน

“ความร่วมมือภาคี” เช่น ให้พื้นที่ชนบทและพื้นที่ในเมืองมีการบูรณาการร่วมกัน กระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัวเพื่อเกิดความร่วมมือในการทำกิจกรรมต่างๆ และขับเคลื่อนเมือง เพิ่มประสิทธิภาพในด้านอาชีพและคุณภาพชีวิตของคนทุกกลุ่ม บูรณาการงบประมาณเพื่อการพัฒนาของคนกลุ่มต่างๆ

”ชุมชนริมคลองคลองแม่ข่า“ เช่น อยากให้มีการมีส่วนร่วมทั้งผู้นำทุกภาคส่วน ขอให้ภาครัฐทำเรื่องที่อาศัยริมคลองให้เป็นรูปธรรม ออกแบบการจัดการเมืองสิ่งแวดล้อมโดยการสนับสนุนจากภาคี จัดให้มีกิจกรรมในวันหยุดอยู่ช่วงเทศกาลต่างๆ เพื่อกระตุ้นย่าน และพัฒนาแบบที่อาศัยอย่างบูรณาการ

การจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกภาคเหนือ 2566 ว่า มีเป้าหมายเพื่อ 1. ยกระดับแผนที่อยู่อาศัยจังหวัด ผ่านยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกมิติ โดยเชื่อมการดำเนินงานทั้งเมืองและชนบท 2. เรียนรู้รูปธรรมการพัฒนาพื้นที่ในระดับอำเภอ/เมือง 3. เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของหน่วยงานทุกภาคส่วน โดยการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย และ 4. เพื่อสื่อสารการทำงานของเครือข่ายภาคประชาชนในการเป็นแกนหลักการพัฒนา

ทั้งนี้ในปี 2566 สำนักงานภาคเหนือ พอช. ได้สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคงเมืองและชนบท โครงการบ้านพอเพียง (ซ่อมสร้างบ้านเรือนที่มีฐานะยากจน) งบประมาณรวม 102 ล้านบาทเศษ มีเบ้าหมาย 4,896 ครัวเรือน ในพื้นที่ 551 ตำบล 17 จังหวัด เช่น การซ่อมบ้านพอเพียงที่จ.เชียงราย รวม 413 ครัวเรือน โครงการบ้านมั่นคงชนบทดอยเต่า อ.ดอยเต่า รวม 311 ครัวเรือน ฯลฯโดยชุมชนเป็นแกนหลักในการพัฒนา พอช. ภาษีเครือข่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมสนับสนุน

สนับสนุนการพัฒนาชุมชนตามที่ขบวนองค์กรชุมชนในจังหวัดภาคเหนือ 17 จังหวัด เสนอโครงการมา เช่น การจัดสวัสดิการชุมชน การพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ ฯลฯ รวมงบประมาณทั้งหมดจำนวน 161 ล้านบาทเศษ ส่วนในปีงบประมาณ 2567 สำนักงานภาคเหนือ พอช. มีเป้าหมายสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคงภาคเหนือ ในพื้นที่ 6 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง พะเยา พิษณุโลกและนครสวรรค์ รวม 1,512 ครัวเรือน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active