เดินหน้าการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเมืองด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม คาดเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญลดปัญหา เน้นการออกแบบนโยบายจากแนวคิดฐานราก จากคนในชุมชน เพื่อตอบโจทย์ประชาชนแบบยั่งยืน
ในแต่ละปีทั่วโลกจะพบมีคนเสียชีวิตด้วยกลุ่มโรค NCDs มากถึงร้อยละ 74 หรือชั่วโมงละ 37 คน โดยมักเป็นผู้ป่วยในช่วงวัยทำงาน ที่ใช้ชีวิตไม่ถูกต้อง และมีพฤติกรรมเสี่ยงที่นำไปสู่การเกิดโรค เช่น ไม่ออกกำลังกาย ทานอาหารรสจัดเกินไป ทานอาหารไขมันสูง เครียดสะสม ดื่มสุรา สูบบุหรี่ ขณะที่ผู้สูงวัยในไทยก็เสี่ยงเสียชีวิตสูง
สำหรับ โรคในกลุ่ม NCDs ที่มีอัตราผู้ป่วยและเสียชีวิตสูงสุด 7 โรค ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง และโรคอ้วนลงพุง
ชุมชนสุขภาวะ 55 แห่งในกรุงเทพมหานครกว่า 600 คน ร่วมกับสำนักสร้างสรรค์โอกาส (สำนัก6) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรุงเทพมหานคร และ มูลนิธิสถาบันวิจัยและปฏิบัติการสังคม จัดมหกรรมชุมชนเมืองเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนขึ้นที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร(ไทย-ญี่ปุ่น) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กิจกรรมในชุมชนเพื่อสร้างเสริมสังคมสุขภาวะ ทั้งด้านการจัดพื้นที่สุขภาวะชุมชน การส่งเสริมกิจกรรมทางกายเพื่อลดโรค NCDs การจัดการขยะในชุมชน และการจัดการโควิด-19 โดยชุมชน ก่อนนำไปต่อยอดขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ ของกรุงเทพมหานครต่อไป
จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและปฏิบัติการสังคม กล่าวว่า หลังจากที่ได้ร่วมกันดำเนินโครงการส่งเสริมความเข้มแข็งชุมชนเมืองเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสของ สสส. ไม่ว่าการรวมตัวจะมาจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ความมั่นคง หรือที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาวะ และสุขภาพ ถ้าหากชุมชนไหนมีความเข้มแข็ง ก็จะเป็นภูมิต้านทานที่ดี ขณะเดียวกันการออกแบบนโยบายของรัฐก็ต้องสร้างการมีส่วนร่วมและรับฟังเสียงของคนในชุมชนอย่าให้มีข้อจำกัดมากนัก เพราะมันจะทำให้ชุมชนทำงานได้ยากขึ้น
“ผมได้มีโอกาสร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเป็นต้นแบบยุทธศาสตร์ที่ 5 ว่าด้วยเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พวกเราระบุได้เลยว่า ต้องรักษาทั้ง 2 อย่าง ทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรม หน่วยงานของรัฐและการบริหารจัดการทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะต้องพยายามหาเครื่องอำนวยความสะดวกให้กับชุมชน ทั้งโครงสร้างแผนงาน และเงินสนับสนุน แต่ต้องให้ระเบียบเคลื่อนไปด้วยกัน อย่าให้ระเบียบกลายเป็นอุปสรรคของการบริหารจัดการชุมชน”
กนกนุช กลิ่นสังข์ ประธานกรรมการการสาธารณสุข สภากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การสร้างจุดร่วมให้ชุมชนมีพลังต่อยอดพัฒนาท้องถิ่นตัวเองและใช้เวลาว่างเสริมสร้างสุขภาวะคือการให้ความสำคัญแบบมีส่วนร่วม จึงอยากพยามหนุนเสริมให้ชุมชนเข้มแข็งและมองความต้องการของประชาชนก่อนเพื่อการพัฒนาก้าวต่อไปพร้อมกับพี่เลี้ยงจากรัฐ เพราะจะทำให้ทุกฝ่ายมองปัญหาและการหาทางออกร่วมกัน โชคดีที่ สสส. และ มูลนิธิสถาบันวิจัยและปฏิบัติการสังคม เข้ามาช่วยเหลือทำให้ชุมชนตัวอย่างเหล่านี้สามารถช่วยเหลือตัวเองในด้านสุขภาวะได้ ดังนั้นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นแบบส่วนร่วมจึงสำคัญมาก
“ขณะนี้ประเทศไทยพยายามกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ไม่ใชเพียงเรื่องการปกครองเท่านั้น แต่หมายถึงทุกเรื่อง ที่สำคัญที่สุดคือเรื่องสุขภาพ ต้องยอมรับว่าแม้กรุงเทพมหานครจะเป็นเมืองหลวง แต่ก็ยังมีปัญหาการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ต้องรอคิวนาน กรุงเทพมหานครจึงพยายามทำโครงการต่าง ๆ เช่น คลินิกครอบครัวอบอุ่นเพื่อให้คนกรุงเทพฯ เข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ง่ายขึ้น แต่การส่งเสริมให้ประชาชนไม่เจ็บป่วยและแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ ก็จะทำให้งบประมาณการรักษาพยาบาลลดลง และสุขภาพประชาชนก็จะดีขึ้นด้วย”
แสนยากร อุ่นมีศรี ผอ.สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานครกล่าวด้วยว่า ขณะนี้ประชากรในชุมชนของกรุงเทพมหานครมีอยู่กว่า 1,930,000 คน และมีกรรมการชุมชนกว่า 18,000 คน คิดเป็นร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด สัดส่วนผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานคร ก็มีมากกว่า 1,200,000 คนแล้ว โดยคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 20 และยังคงเพิ่มสูงขึ้นทุกเดือน
ดังนั้นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจึงมีนโยบายที่จะผลักดันให้ชุมชนเข้มแข็ง ด้วยการสนับสนุนงบประมาณให้ชุมชนละ 200,000 บาท ไปดำเนินการโดยต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อที่จะพัฒนาสุขภาวะชุมชนให้ดีขึ้นต่อไป