ถอดบทเรียน 7 ปี ค้าน ‘ทางเลียบเจ้าพระยา’ ดักคอรัฐบาล หวั่นโครงการถูกปัดฝุ่น

ภาคประชาชน องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม แนะรัฐอยากทำโครงการใหญ่ ให้ถามคนในพื้นที่ก่อน ย้ำรับมือเอลนีโญ เรื่องเร่งด่วน ควรรีบจัดการมากกว่า

วันนี้ (30 ก.ย.66) ภาคีเครือข่ายภาคประชาชน นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม และตัวแทนชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา เปิดวงเสวนาการทำงานขับเคลื่อนภาคประชาสังคม สะท้อนแนวทางการต่อสู้ของกลุ่มผู้คัดค้าน สร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มองบทบาทการมีส่วนร่วมเพื่อปกป้องสิทธิ เมื่อนโยบายภาครัฐไม่เป็นธรรมต่อวิถีชีวิต สิ่งแวดล้อมและพื้นที่สาธารณะ

ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม ที่ปรึกษามูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ บอกว่า แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นสายน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตและวัฒนธรรมของหลายชุมชน สืบมาตั้งแต่สมัยเมืองหลวงเก่าที่อยุธยา จนมาถึงการตั้งรกรากชุมชนริมน้ำในสมัยรัตนโกสินทร์ ทำให้ริมสองฝั่งน้ำมีศาสนสถาน และชุมชนเก่าแก่ที่มีคุณค่าจำนวนมากตั้งอยู่ริมน้ำ แต่ทางเลียบน้ำที่เคยจะถูกสร้างขึ้นกลับไปบดบังความงดงามของสถาปัตยกรรมเหล่านี้

ศ.พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม ที่ปรึกษามูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์

ผศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้า ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สะท้อนว่าที่ผ่านมารัฐมักวางตัวเหมือน “คุณพ่อรู้ดี คุณพี่จัดให้” คือ โครงการมีเจตนาดี แต่ขาดการมีส่วนร่วม และรับฟังเสียงของชุมชน ในฐานะนักวิชาการมองว่า กระบวนการรับฟังของภาครัฐ มีความบกพร่องอย่างมาก อีกทั้งเนื้อหาในโครงการยังไม่นำหลักคิดทางวิศวกรรมชลศาสตร์มาปรับใช้ สะท้อนว่า โครงการดังกล่าวไม่ได้มีความเข้าใจในนิเวศของแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างแท้จริง ย้ำว่าหากยิ่งสร้างโครงสร้างทางวิศวกรรมที่ใหญ่โตรุกที่ริมน้ำ จะยิ่งก่อให้เกิดปัญหาน้ำเท้อตามมา (น้ำยกตัวสูงขึ้นแล้วไม่ลดลงในระยะหนึ่ง)

“เจ้าพระยาคือ 1 ใน 22 แม่น้ำ หลักของประเทศไทย คำถามคือหน่วยงานภาครัฐ จะไม่ทำ EIA งั้นหรือ ? ขออย่าสักแต่จะทำ ขอให้รัฐช่วยกังวลผลกระทบในทุกแง่ทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม และวิศวกรรม”

ผศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้า
ผศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้า ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์

สิตางศุ์ ยังระบุด้วยว่า ตอนนี้มีโจทย์ใหญ่ที่กำลังรอรัฐบาลใหม่เข้ามาเร่งรับมือโดยด่วน คือปัญหาภาวะโลกรวน และปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งการจัดการน้ำต้องมีแผนรับมือ แต่ยังไม่มีสัญญาณท่าทีเพื่อรับมือกับปัญหานี้จากรัฐบาล ด้วยงบประมาณที่มีอยู่จำกัด รัฐต้องตีโจทย์ให้แตกว่าต้องบริหารงบประมาณนี้สำหรับแก้ปัญหาเรื่องใดก่อน

ขณะที่ ยศพล บุญสม หัวหน้าโครงการ we!park ร่วมถอดบทเรียนว่า โครงการสร้างทางเดินริมแม่น้ำ นอกจากจะไม่ได้มีการมองถึงผลกระทบต่อสังคมชุมชนแล้ว ยังไม่มีการประเมินคุณค่าทางเศรษฐกิจเสียด้วยซ้ำ พร้อมทั้งแนะว่า ในอนาคตหากจะมีโครงการใหญ่ภาครัฐก็ควรถามประชาชนผู้เป็นคนได้รับผลกระทบ และเจ้าของภาษีเสียก่อน เพราะตลอดระยะเวลาที่ต่อสู้คัดค้านการสร้างโครงการนี้ รัฐเสียเงิน 120 ล้านบาท จ้างที่ปรึกษาโครงการ แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น และยังเสียเวลาร่วม 7 – 8 ปีแห่งความสูญเปล่า

ยศพล บุญสม หัวหน้าโครงการ we!park

ยศพล ยังมองว่า อย่างน้อยต้องขอบคุณข้อขัดแย้งระหว่างรัฐและภาคประชาชนที่ออกมาคัดค้าน ที่ทำให้สังคมได้ตั้งคำถาม และพูดคุยถึงศักยภาพการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยาอย่างจริงจัง และทำให้ใครหลายคนได้ฉุกคิด แต่บทเรียนที่ได้รับมานี้จะเป็นบทเรียนราคาแพงที่ไร้ประโยชน์ทันที หากยังมีโครงการที่ไม่รับฟังเสียงประชาชนถูกดำริขึ้นในรัฐบาลชุดใหม่ 

สาธิต ดำรงผล ตัวแทนชุมชนบางอ้อ ตั้งข้อสังเกตว่า โครงการนี้มีขึ้นเพื่อรับเอาเงินทอนที่เหลือ และเชื่อว่าถึงไม่มีทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ก็ไม่ได้ทำให้คนกรุงเทพฯ และคนในชุมชนเข้าถึงแม่น้ำได้ยากแต่อย่างใด เพราะโครงการจะทำให้คนที่อยู่ติดริมแม่น้ำถูกกีดกัน เพราะทางเดินถูกยกสูงกว่าระดับพื้นของชุมชน ชาวบ้านจะลงแม่น้ำเจ้าพระยาก็ลงไม่ได้ กำแพงทางเดินนี้อาจทำให้มีสัตว์น้ำไปติดอยู่ใต้นั้นและทำให้เกิดกลิ่นเน่าเหม็น ท้ายที้สุดแล้วจะทำอะไรก็ควรถามประชาชนก่อน

สอดคล้องกับ ระวีวรรณ สมิตะมาน ตัวแทนชุมชนบ้านปูน บอกว่า กำแพงเขื่อนกั้นแม่น้ำเก่าที่เคยสร้างไว้ รบกวนวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้าน เช่น ตกปลา หากุ้ง เป็นต้น ถ้ายิ่งมีทางเท้าขึ้นมาอีกจะยิ่งทำให้คนในชุมชนถูกปิดกั้นเข้าไปอีก นอกจากนี้ทางเดินริมน้ำอาจรบกวนความเป็นส่วนตัวของบ้านที่อยู่ติดริมน้ำ เพราะจะมีคนและจักรยานยนต์สัญจรผ่านหน้าบ้านตลอดเวลา และยังเสี่ยงต่อการก่ออาชญากรรมอีกด้วย

ภาพจาก Facebook: Friends of the River

นอกจากนี้ ในวงเสวนายังได้มีการถอดบทเรียนจากปัญหาด้านกฎหมายที่เกิดขึ้นจากการริเริ่มทำโครงการทางเลียบริมแม่น้ำ โดย ส.รัตนมณี พลกล้า มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ระบุว่า แม้โครงการดังกล่าวไม่ได้ถูกกำหนดไว้ให้ต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่ในข้อกำหนดของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า หากโครงการใดใดที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมากจะต้องทำ EIA นอกจากนี้ยังบอกด้วยว่า ทุกโครงการจากนี้ต้องมีขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็น และการเปิดเผยข้อมูลโครงการอย่างโปร่งใสซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการริเริ่มโครงการใหญ่จากภาครัฐ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active