สภาเมืองคนรุ่นใหม่ เสนอไอเดียใช้ AI คัดกรองอาการป่วยก่อนพบแพทย์

สภาเมืองคนรุ่นใหม่เสนอ นโยบาย “ระบบบริการการแพทย์ในยุค4.0”  คัดกรองผู้ป่วยด้วย AI แก้ปัญหาผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลรัฐ  รอคิวนาน พร้อม เปิดศูนย์การเรียนรู้เพื่อส่งเสริมสุขภาวะเยาวชน ​และดึงเยาวชนร่วมขับเคลื่อนเมือง

วันนี้ (10 ก.ย.) ที่ประชุมสภาเมืองคนรุ่นใหม่ครั้งที่ 3/2566 เปิดนโยบายที่ผ่านการพิจารณา ซึ่งมีทั้งหมด 3 ทีม โดยมีหน่วยงานในสังกัด กทม.ร่วมรับฟัง ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร  สำหรับทีม Agnos เสนอนโยบาย”ระบบบริการการแพทย์ในยุค 4.0“  ตัวแทนทีมได้มีการกล่าวถึงปัญหาว่า โรงพยาบาลของรัฐประสบกับปัญหา คนไข้ล้นโรงพยาบาล รอคิวนาน โดยสาเหตุเกิดจาก ความรู้เรื่องสุขภาพ ของประชาชนไม่เพียงพอในการดูแลตัวเอง โดยพบว่า 60% พบหมอโดยไม่จำเป็น  ในขณะที่หมอต่อจำนวนประชากรทั่วประเทศ ต่ำกว่าที่ WHO กำหนดหลายเท่า  หากดูข้อมูลจากสำนักการแพทย์ กทม. พบว่ามีคนเข้ารับการรักษาพยาบาล เฉลี่ย 4 ล้านครั้ง ใช้เวลารอแพทย์เฉลี่ย 4 ชั่วโมง และแม้ว่าจะแก้ปัญหาด้วยการพบแพทย์ทางออนไลน์ก็ยังไม่สามารถตอบโจทย์ เนื่องจากบุคลากรไม่พอ 

“เสนอให้ใช้​ AI คัดกรอง ประเมิน แบ่งออกเป็นสามส่วน สีเขียวส่งไปสำนักอนามัย ร้านยา สีเหลือง คุยกับหมอทางออนไลน์ ทำนัดพบแพทย์ เคสเร่งด่วนเชื่อมกับหน่วยเอราวัณเรียกรถ ไม่ต้องสร้างช่องทางใหม่ใช้แอปฯที่มีอยู่แล้ว  ใช้งบ 10-12 ล้านบาท ภายในกลางปีหน้าจะเริ่มเห็นเป็นรูปธรรม แต่ระบบนี้เราเริ่มใช้งานไปแล้ว 4 ปี มีคนเข้าใช้แสนครั้ง” 

ด้าน รศ.ทวิดา กมลเวชช  รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่ากทม. กล่าวว่า เล็งเห็นและเข้าใจปัญหา ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบก็พยายามที่จะทำระบบบริการด้านการแพทย์ให้ตอบโจทย์ปัญหาและร่วมมือกับทุกภาคส่วน เช่น บริการรับยาที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน ร้านขายยา ขณะที่ภาพรวมของการดูแลโรงพยาบาลของกทม.มีบุคลากรการแพทย์เพียง 600  คนเท่านั้น แต่ต้องดูแลประชากรถึง 2 ล้านคน ระบบที่มีอยู่ตอนนี้ยังขาดการดูแลที่เข้าถึงคนภายในบ้าน ซึ่งระบบเอไอน่าสนใจมาก 

นอกจากนี้ ยังมีนโยบาย อีก 2 นโยบายที่มีการนำเสนอต่อสภาฯ เช่น  ทีม Mindventure “นโยบายศูนย์การเรียนรู้เพื่อส่งเสริมสุขภาวะเยาวชน”  โดยระบุว่า 1 ใน 5 ของวัยรุ่นเสี่ยงฆ่าตัวตาย และทางออกจากความเครียดด้วยการเล่นโทรศัพท์ ฟังเพลง ฝืนยิ้ม และความเครียดกลายเป็นสะสม เพราะไม่รู้ว่าจะบายให้ใครฟัง จนเข้าสู่ภาวะซึมเศร้าและป่วย ทีมจึงเสนอนโยบายที่ จะเข้าไปทำกระบวนการส่งเสริม ป้องกันสุขภาพจิต ก่อนจะเข้าสู่การซึมเศร้า  คนที่มีปัญหาเข้ามาสู่การรับมือกับปัญหาและความเครียด ส่วนคนที่เข้าข่ายซึมเศร้า จะส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งทีมที่นำเสนอนโยบายนี้มีการทำงานมาแล้วถึง 8 ปี 

“8 ปี ที่ได้ออกแบบนวัตกรรมและการเรียนรู้ความฉลาดทางอารมณ์ และสอนไปกว่า 7,000 คน และ ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรร่วมหน่วยงานทั้งในและนอกประเทศ มีการให้คำปรึกษาทั้งออนไลน์และเวอร์กช็อป ที่เป็นปัญหาของวัยรุ่นและมีการปั้นแกนนำเยาวชนทำงานด้านนี้ต่อเนื่อง แต่ทีมต้องการขยายยบริการนี้ให้กว้างขวางมากขึ้น จึงเสนอให้มีศูนย์เรียนรู้ส่งเสริมสุขภาวะ เพื่อสร้างการรักตนเอง พื้นที่ปลอดภัย กิจกรรมที่เข้าถึงได้ เน้นส่งเสริมทำงานเชิงรุกให้เด็กไทยเติบโตไปอย่างมีความสุข”

ด้านทีมสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานครเสนอ นโยบาย “CYCBKK Online”  โดยใช้เด็กและเยาวชนในกทม. ที่มีอยู่ถึง 5 ล้านคน  เข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเมือง ซึ่งที่ผ่านมายังมีเยาวชนไม่ถึง 1%  ในสภาฯ เท่านั้น ที่มีบทบาท ทั้งที่ความจริงแล้วมีเยาวชนอีกมาที่ต้องการมีพื้นที่ แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร

“จากการทำสำรวจข้อมูล ความรู้ในการทำโครงการของเยาวชนกระจัดกระจาย ไม่สามารถทำโครงการได้ไม่มีเครื่องมือที่เพียงพอ เห็นปัญหาอยากมีส่วนร่วมแต่ไม่รู้เริ่มตรงไหน นโยบายนี้มีความสำคัญ ที่จะทำให้เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่อีกมาก เข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น ด้วยการจัดการที่ต้นทุนต่ำ มีความคุ้มค่า รวมพลังของเมือง”

ด้าน ศานนท์ หวัสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า หัวใจสำคัญของสภาเมืองครุ่นใหม่ คือการมีส่วนรวม และที่ผ่านมาก็มีแพลตฟอร์มที่น่าจะเกี่ยวข้องมากมายแต่การใช้งานยังคงต้องรอการพัฒนา  และเห็นด้วยว่าอยากเสนอโครงการพัฒนาเมือง ซึ่งยังไม่มีแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์มากนัก  

นอกจากนี้ในสภาฯ ยังมีการรายงานความคืบหน้านโยบายอื่น ๆ  ที่เริ่มดำเนินการไปแล้ว เช่นนโยบายสร้างระบบคุ้มครองเด็ก จาก ทีม student Reflect โดยสำนักการศึกษาได้มีการอบรบรวมสังกัดกทม. 9 แห่ง ดำเนินมาตรการที่ส่งเสริมให้เด็กมีส่วนร่วมในการออกแบบการแต่งกายและทรงผม ด้านสำนักสิ่งแวดล้อม ทีม play grow นโยบาย “เล่น รู้ ร่วม Incluusive Playground“ ได้เข้าพบกับบริษัทเอกชนที่ผลิตเครื่องเล่น ร่วมออกแบบเครื่องเล่นที่ทำต้นแบบ เพื่อหาความต้องการเครื่องเล่นที่ปลูกฝังการใช้พื้นที่ร่วมกันทุกคน 

นโยบาย “BKK Tree Fund” กองทุนเพื่อไม้ยืนต้นสาธารณะกรุงเทพ ทีม GreenDoct. มีการออกแบบประเมินความเสี่ยงและการสร้างองค์ความรู้ในการดูแลต้นไม้  นอกจากนี้ ยังมี โครงการจากเทใจดอทคอม  ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มระดมทุน จะเริ่มนำนโยบายในสภาเมืองคนรุ่นใหม่ รวบรวมไว้เพื่อการระดมทุนอีกหนึ่งช่องทางในการสานต่อความเชื่อของทุกคนที่ตั้งใจจะลงมือปฏิบัติแต่ยังขาดการสนับสนุน 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active