ห่วงปรับผังเมืองรวม กทม. ลืมมิติคุณภาพชีวิต ตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลง

นักวิชาการ ภาคประชาชน ยอมรับการจัดทำผังเมืองรวม กทม. ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 4 ยังขาดการมีส่วนร่วม ไม่รองรับปัญหาหลายมิติ หวั่นกระทบการจัดการพื้นที่เพื่อปากท้อง ที่อยู่คนจนเมือง พื้นที่สีเขียวเหลือน้อย ไม่ตอบโจทย์จัดการน้ำท่วม

วันนี้ (6 ส.ค.66) สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม (sconte), สภาองค์กรของผู้บริโภค, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, เครือข่ายชุมชนปกป้องคุณภาพชีวิตคนเมือง, สภาองค์กรผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร, มูลนิธิ ศ.อัน นิมมานเหมินท์ จัดงานเสวนาประชาชน ผังเมืองรวม (กทม.) เพื่อคุณภาพชีวิตประชาชน? เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดทำผังเมืองรวม กทม. ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 4 เสนอต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

เน้นพัฒนาพื้นที่ หลงลืมมิติคุณภาพชีวิตคนกรุง

วีรพันธุ์ ชินวัตร อุปนายก สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัจจุบัน กรุงเทพฯ มีตึกสูงจำนวนมาก ขณะที่พื้นที่ธรรมชาติน้อยลงเรื่อย ๆ ทำให้พบปัญหามลพิษในเมืองหลายด้าน เช่น ฝุ่น PM2.5 พื้นที่รองรับน้ำฝนไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมง่าย เพราะรองรับน้ำฝนได้ไม่เกิน 100 มิลลิเมตร ท่ามกลางภาวะสภาพอากาศแปรปรวน ยังมีเรื่องของเศรษฐกิจปากท้อง ที่การจัดการพื้นที่ไม่ส่งเสริมประเด็นเรื่องคนจนเมือง เข้าไม่ถึงการมีที่อยู่อาศัยมั่นคง ทั้งหมดคือความท้าทายที่ผังเมืองจะมีส่วนในการจัดการได้

แต่มีข้อสังเกตว่าการปรับปรุงผังเมือง กลับทำไปเพื่อให้เกิดการสร้างอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น ส่งเสริมการพัฒนาโดยรอบพื้นที่สถานีระบบขนส่งมวลชนทางรางต่าง ๆ โดยเฉพาะจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางสำคัญ เช่น สยาม, บางหว้า, ตลิ่งชัน, ท่าพระ, บางกะปิ มีการกำหนดศูนย์คมนาคมแห่งใหม่ (บางซื่อ) ส่งเสริมย่านพระราม 9 (New CBD) ส่งเสริมพื้นที่พาณิชยกรรมพิเศษด้านนวัตกรรมสร้างสรรค์ (เจริญกรุง) ส่งเสริมศูนย์ชุมชนชานเมือง 8 แห่ง คือ มีนบุรี, ลาดกระบัง, ศรีนครินทร์, บางขุนเทียน, บางมด, ตลิ่งชัน และสะพานใหม่ ดูเหมือนจะเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยไม่รู้ว่าการวางแผนเพื่อคุณภาพชีวิตของผู้คนอยู่ตรงไหน

“การจัดทำผังเมืองฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ตอนนี้ ได้อิงกับผังเมืองที่คิดวางแผนกันเอาไว้ว่าจะเป็นผังเมืองในปี 2580 โดยพัฒนาไว้ตั้งแต่ก่อนโควิดระบาด โดยอ้างอิงตัวเลข สถิติประชากรต่าง ๆ ซึ่งตัวเองเหล่านั้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว การให้มี FOR bonus เพื่อจัดให้มีที่อยู่อาศัยราคาถูก พื้นที่สีเขียว พื้นที่เก็บน้ำ สัดส่วน 20% รวมไปถึงการพัฒนาพื้นที่ขนาดใหญ่ หรือ PUD ฟังแล้วดูดี แต่มาตรการเหล่านี้ เอื้อประโยชน์กับใครบ้าง? หรือแม้แต่การจัดรูปที่ดินก็คงจะจัดได้เฉพาะพื้นที่ชานเมืองเท่านั้น และต้องทำผังเฉพาะแต่ตอนนี้ก็ไม่มีการจัดทำ หากดูจากข้อมูลการจัดรูปที่ดิน พบว่าพื้นที่สีเหลือง หรือพื้นที่อยู่อาศัย มีจำนวนน้อยลงไป เช่นเดียวกับพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม ลดลง 70% พื้นที่อนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทย หายไปทั้งหมด ถามว่าเหมาะไหมอยากจะฝากให้ทุกท่านช่วยกันดู”

วีรพันธุ์ ชินวัตร

วีรพันธุ์ ทิ้งท้ายว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นเรื่องผังเมืองรวมที่รัฐกำลังทำอยู่ ควรให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอความคิดเห็นอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่เข้าไปร่วมลงชื่อตามกระบวนการเท่านั้น ซึ่งภาคประชาชนจะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นคู่ขนานเพื่อรวบรวมความคิดเห็นส่งถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในลำดับต่อไป

เมืองขยายตัวเร็ว ‘น้ำท่วม’ เรื้อรังจัดการยาก

ผศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เวลาที่พูดถึงกรุงเทพฯ ก็จะต้องมีเรื่องน้ำท่วม น้ำขังอยู่ด้วยตลอด ความเป็นกังวลคือการที่จะรับมือเรื่องนี้ เพราะปัจจุบันก็แย่อยู่แล้วยังต้องเผชิญปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศอีก และถ้าในอนาคต หากผังเมืองเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน สิ่งที่เป็นห่วงคืออะไร ปกติแล้วกรุงเทพฯ ​เป็นไข่แดงในการบริหารจัดการน้ำ เป็นพื้นที่ที่ทุกหน่วยงานทุกพื้นที่ปกป้องให้กรุงเทพฯ รอดให้ได้ ซึ่งสิ่งนี้เกิดขึ้นมาตลอด แต่สิ่งที่กรุงเทพฯ เป็นคือจัดการตัวเองไม่ได้เลย

แต่ละเขต มีความหนักเบาในการจัดการน้ำไม่เท่ากัน ต้องวิเคราะห์ความเปราะบางของการเกิดน้ำท่วมตามพื้นที่ หากจะเอาทรัพยากรไปช่วยที่ไหนก็ต้องดูเรื่องระดับความเดือดร้อน เช่น ที่ที่มีคนเยอะ ที่มีการจราจรหนาแน่น พื้นที่ที่มีความอ่อนไหวสูง พื้นที่เปราะบางมาก เช่น ดอนเมือง, สายไหม, บึงกุ่ม, บางซื่อ, วังทองหลาง, วัฒนา, คลองเตย ฯลฯ มีแผนรับมือที่แตกต่างอย่างไร สำหรับทางระบายน้ำของกรุงเทพฯ เป็นท่อรวมกันทั้งท่อระบายน้ำท่วมกับท่อระบายน้ำทั่วไป ก็ทำให้การระบายคล่องตัวน้อย

“ข้อกังวลอีกเรื่องคือ ผังเมืองรวมกรุงเทพฯ (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ต้องปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินอนุรักษ์ชนบท และเกษตรกรรมให้เป็นทางน้ำท่วมหลากในบางส่วนเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัย แต่จะไม่ช่วยเลย เพราะยังพบว่ามีการขยายตัวของชุมชนที่ทำให้การระบายน้ำมีจำกัดเช่นเดิม ทั้งยังไม่มีการระบุถึงความสามารถในการรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย ไม่ได้คิดถึงเรื่องฝนที่สถานการณ์มันเปลี่ยนแล้ว การคาดการณ์เชิงพื้นที่ เชิงปริมาณ รวมถึงน้ำทะเลขึ้นไม่มีเลย และ แม้ว่า กรุงเทพฯ จะมีหน่วยบัญชาการรับมือสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ศาลาว่าการ กทม. ดินแดง แต่ไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูลเชิงนวัตกรรมไปที่ท้องที่เลย ต้องใช้วิธีการติดต่อไปอีกทอดหนึ่ง”

ผศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้า

สอดคล้องกับ ดนัย ทายตะคุ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงมุมมองผังเมืองในมิติการรองรับน้ำ ว่า หากดูภูมิศาสตร์เรื่องน้ำของ กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ราบลุ่ม รองรับน้ำจากภาคเหนือ ภาคกลาง ปิง วัง ยม น่าน ป่าสัก ไหลลงมา เมื่อถึงหน้าน้ำ น้ำก็จะล้นตลิ่ง เรียกว่าระบบนิเวศน้ำหลาก ซึ่งพื้นที่ปลายน้ำมีผลกระทบเกี่ยวข้องกับหลายจังหวัดตั้งแต่ชัยนาทลงมา ถ้าปล่อยเยอะข้างล่างท่วม ถ้ากั้นไว้ข้างบนก็ท่วม แล้วจะจัดการอย่างไร เดิมใช้วิธีคูคลองร่องสวน ก็รองรับได้ แต่พอเปลี่ยนมาเป็นเมืองก็ไม่เหลือที่ให้น้ำระบาย และก็ต้องเผชิญกับปัญหานี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“เราควรจะเข้าไปทำความเข้าใจเครือข่ายของคูคลองต่าง ๆ เพื่อหาวิธีเชื่อมทางน้ำ ให้เกิดการระบายอย่างมีประสิทธิภาพ วันนี้เราพูดถึงสวน 15 นาที แต่ยังไม่ได้พูดถึงคลอง 15 นาที เพื่อให้ทางสัญจรแก่น้ำให้เข้าถึงง่ายด้วย ไม่อย่างนั้นเราพัฒนาเมืองไปอย่างไรก็จะต้องต่อสู้กับธรรมชาติอยู่เรื่อยๆ และมันก็ท้าทายด้วยความเสียหายด้านต่างๆ เพราะวันนี้เราแทบจะไม่กลไกลที่ช่วยเหลือเรื่องนี้ และในผังเมืองก็ไม่ได้ให้ความชัดเจนเรื่องนี้ด้วย”

ดนัย ทายตะคุ

เรียกร้องกระจายอำนาจ จัดการผังเมืองสอดรับความเห็นประชาชน

นอกจากนี้ยังมีความคิดเห็นของนักวิชาการด้านต่าง ๆ อย่าง รศ.สญชัย ลบแย้ม นักวิชาการด้านผังเมืองรวม มองว่า ควรจะกระจายอำนวจในระดับพื้นที่เพื่อสะท้อนมุมมองการจัดการผังได้ด้วยหน่วยงานท้องถิ่น โดยให้ ผู้ว่าฯ กทม. หรือ นายก อบจ. ให้นั่งเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาผังเมือง

เช่นเดียวกับ พงษ์สวัสดิ์ อักษรสวาสดิ์ นักวิชาการด้านกฎหมาย บอกว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายผังเมืองรวมคือเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชากรในพื้นที่นั้น ๆ ถ้าประชาชนไม่มีความสุขแปลว่าขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมมนูญด้วย ข้อกังวลที่มี อย่าให้เขาเขียนออกมาต้องท้วงติงเขาก่อนในตอนรับฟังความคิดเห็น

สำหรับสถานการณ์ผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ฉบับปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการรับฟังความคิดเห็นเพื่อปรับปรุง โดยมีข้อสะท้อนในวงเสวนาว่า ไม่ได้มีการเปิดรับฟังอย่างจริงจัง เป็นเพียงแค่พิธีการเท่านั้น ทั้งนี้ผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 มีกำหนดประกาศใช้ในปี 2568

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active