‘ชัชชาติ’ จ่อแบล็คลิสต์! ผู้รับเหมาชุ่ย ล้อมคอกความปลอดภัยโครงการใหญ่

ขอเวลา 1 เดือน ศึกษากฎหมาย ออกข้อกำหนดเพิ่มใน TOR โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ใน กทม. หวั่นซ้ำรอยทางยกระดับถล่ม สั่งตรวจเข้มทุกไซต์งาน ต้องได้มาตรฐาน ไร้ผลกระทบคนกรุง

เมื่อวันที่ 14 ก.ค.66 ผู้สื่อข่าว Thai PBS รายงานว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. และ ธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผอ.สำนักการโยธา เปิดเผยภายหลังเชิญตัวแทนบริษัท ผู้รับเหมา มาประชุมกำหนดมาตรการความปลอดภัยการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ในพื้นที่ถนนสาธารณะกรุงเทพมหานคร ที่เป็นคู่สัญญากับ สำนักการโยธา มีทั้งงานก่อสร้างถนน, สะพาน, ทางเท้า อาคารต่าง ๆ ซึ่ง กทม.เชิญไปจำนวน 42 ราย แต่ขาด 4 รายที่ไม่ได้มา

ชัชชาติ ระบุแม้ กทม.มองว่า ผู้รับเหมาเป็นเพื่อนร่วมงาน เพราะเป็นหนึ่งในผู้สร้างความเจริญให้กับกรุงเทพมหานคร แต่ถ้างานก่อสร้างเกิดปัญหา หากผู้รับเหมาทำไม่ดี ประชาชนจะด่าผู้ว่าฯ ก่อนเป็นคนแรก

และจากสถานกาณ์ล่าสุดที่เกิดเหตุทางยกระดับ อ่อนนุช – ลาดกระบัง พังถล่ม ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ มูลค่ากว่า 1,600 ล้านบาท ส่งผลให้ประชาชนเกิดความไม่ไว้วางใจ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ ที่ กทม. และ ผู้รับเหมา ต้องร่วมใจกันสร้างความไว้วางใจให้กลับคืนมา โดย กำหนดมาตรการ 7 เรื่องนี้ ได้แก่

  1. ขอให้ทุกทีมกลับไปทบทวนมาตรการความปลอดภัยในโครงการของตัวเอง ทั้ง ผู้ควบคุมงาน, ผู้รับเหมา เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีช่องว่าง หรือจุดโหว่ต่าง ๆ โดยเน้นเรื่องความปลอดภัย ทั้งความปลอดภัยในไซต์งานการก่อสร้าง และความปลอดภัยของผู้สัญจร

  2. เรื่องคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม ทั้งการควบคุมฝุ่น, การควบคุมปูน และวัสดุก่อสร้าง เศษชิ้นส่วน ของตกหล่น โดย กทม. จะใช้ทราฟฟี่ฟองดูว์ เป็นตัวหาข้อบกพร่อง และแยกส่วนงานก่อสร้างขึ้นมาโดยเฉพาะให้ประชาชนแจ้งได้ข้อมูล

  3. ด้านการจัดการจราจร ที่ต้องเร่งคืนพื้นที่ให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด เพราะบางครั้งผู้รับเหมาเร่งแต่งานก่อสร้าง แต่ไม่คืนพื้นที่ให้ประชาชน รวมถึงการนำอุปกรณ์มากอง มาจอดไว้ทับเลนจราจร เอารถมาจอดตามไซด์งาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ ต้องขยับ หรือ ไปจอดที่อื่นที่ไม่กินพื้นที่การสัญจร

  4. ด้านการระบายน้ำ ที่มีผลกระทบจากไซต์งานก่อสร้าง

  5. การใช้รถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกิน หรือมีควันพิษ ตอนนี้ รองผู้ว่าฯ กทม. ได้ติดตั้งระบบตรวจสอบน้ำหนักรถบรรทุกแล้วในหลายเส้นทาง

  6. การจ้างผู้รับเหมาช่วง ตามหลัก กทม.ไม่อนุญาตให้มีการจ้างผู้รับเหมาช่วง แต่ในอนาคตหากจำเป็นต้องใช้ก็ต้องขออนุญาตให้เป็นไปตามสัญญา

  7. จัดทีมผู้บริหารลงไปตรวจสอบทุกไซต์งานก่อสร้าง โดยสั่งการให้ทางผู้บริหารลงพื้นที่ตลอดโดยไม่ต้องบอกให้ลงไปตรวจว่ามาตรการต่าง ๆ ที่ทำไว้ เป็นตามที่ในสัญญาหรือไม่ หากละเลยต้องหยุดการก่อสร้างเพื่อเอาจริงเอาจังต่อเรื่องนี้

“ปัจจุบันกรมบัญชีกลาง ไม่ได้ขึ้นบัญชี แบล็คลิสต์ แต่เรื่องพวกนี้ ต่อไปนี้ ผมเตือนถึงผู้รับเหมาไว้เลย ว่า กทม. เอาจริง เราพยายามหาวิถีทาง เพื่อออกเป็นข้อบัญญัติ หรือระเบียบ ของ กทม. เพื่อให้เรามั่นใจได้ว่า ประชาชนจะมีคุณภาพชีวิต มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูงสุด

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.

ผู้ว่าฯ กทม. ยังระบุถึง สิ่งที่กังวล 3 เรื่อง และในอนาคต อาจจะนำออกมาเป็นเกณฑ์การคัดเลือกผู้รับเหมาด้วย 3 ประเด็น คือ

  1. เรื่องอุบัติเหตุ ว่า ผู้รับเหมาที่เคยก่อสร้างแล้วเกิดอุบัติเหตุ สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินหรือไม่

  2. ความล่าช้าการก่อสร้าง ที่ต้องไม่ดีเลย์เกิน 10%

  3. คุณภาพการก่อสร้างไม่ดี เช่น ปล่อย PM 2.5 หรือทำเศษวัสดุตกหล่น บรรทุกเกินน้ำหนัก ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องกำหนดเพิ่มเติมขณะนี้ อยู่ระหว่างให้ฝ่ายกฎหมายศึกษาว่าจะเพิ่มเข้าไปเป็นข้อกำหนดเพิ่มใน TOR ได้หรือไม่

“อนาคตทางกรุงเทพมหานคร อาจจะมีมาตรการแบล็คลิสต์ ผู้รับเหมาแบบนี้ แต่ทั้งนี้เราทำเกินกว่ากฎหมายไม่ได้ เราเป็นตัวแทนประชาชน เราจึงต้องมั่นใจได้ว่า กทม.ต้องได้ผู้รับเหมาที่มีคุณภาพมาทำงานตรงนี้ เพราะจะได้สร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชน ขอเตือนถึงผู้รับเหมาว่า ในอนาคตอาจจะมีข้อกำหนดนี้ หากคุณกังวลคุณจะต้องทำให้ดีขึ้นตั้งแต่วันนี้ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาโดยฝ่ายกฏหมาย คาดว่าไม่เกิน 1 เดือนน่าจะศึกษาแล้วเสร็จ”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active