ค้านรับฟังฯ ผังเมืองรวม กทม. ชี้ ขาดความเท่าเทียม

สภาองค์กรของผู้บริโภค คัดค้านการจัดประชุมรับฟังความเห็นเกี่ยวกับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) หวั่น กระทบความเป็นอยู่ของประชาชนคนชั้นกลาง และผู้มีรายได้น้อย แนะ เชิญผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงเข้าร่วม 

จากกรณีที่สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร ได้กำหนดจัดประชุมรับฟังความเห็นโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ในวันที่ 8, 13 และ 15 มิ.ย. 2566 และได้มีการเชิญหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการเรื่องผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) นั้น 

เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2566 อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ได้หารือร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะหน่วยงานประจำกรุงเทพมหานคร สภาผู้บริโภค และเครือข่ายปกป้องคุณภาพชีวิตคนเมือง (คปช.) ถึงประเด็นการจัดรับฟังความเห็นการวางและจัดทำผังเมืองรวม กทม. และพบว่ามีข้อกังวลในการเลือกกลุ่มเป้าหมายเพื่อรับฟังความคิดเห็น ที่ไม่ครอบคลุมถึงคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนผู้มีส่วนได้เสียในกรุงเทพมหานคร และตัวแทนผู้บริโภคตามกฎหมาย เช่น สภาองค์กรของผู้บริโภค และเครือข่ายผู้บริโภค 50 เขตในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเปิดรับฟังเพียงเฉพาะกลุ่มโดยเฉพาะหน่วยงานและภาคเอกชนเท่านั้น

ดังนั้น สภาผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภคในกรุงเทพมหานคร ขอให้สำนักการวางผังเมืองและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร ทบทวนกระบวนการการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว และขอคัดค้านการจัดประชุมรับฟังความเห็นเกี่ยวกับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) โดยเห็นว่าประเด็นการรับฟังความคิดเห็นเป็นเรื่องอ่อนไหวและส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนในกรุงเทพมหานคร และยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ดังนั้น การกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามผังเมืองควรคำนึงถึงสิทธิความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ ที่รวมไปถึงชนชั้นกลางและผู้มีรายได้น้อย จึงขอให้หน่วยงานเปิดรับฟังความเห็นกับทุกภาคส่วน เหมือนที่ได้จัดเฉพาะให้กับหน่วยงานและภาคเอกชน

“ประเด็นการรับฟังความคิดเห็นเป็นเรื่องอ่อนไหว ส่งผลกระทบและส่งผลต่อคุณภาพชีวิตโดยตรงของคนกรุงเทพฯ ดังนั้นการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามผังเมืองควรคำนึงถึงสิทธิความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ ที่รวมไปถึงคนชั้นกลาง และผู้มีรายได้น้อย จึงขอให้หน่วยงานเปิดรับฟังความเห็นกับทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน รวมถึงภาคประชาชน อย่างสภาผู้บริโภคที่เป็นผู้แทนผู้บริโภคตามกฎหมายและเครือข่ายผู้บริโภค 50 เขต ในกรุงเทพฯ ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานคร เพราะคนกลุ่มนี้ควรมีทั้งสิทธิและเสียงในการรับฟังและแสดงความคิดเห็น” 

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา

ทั้งนี้ ประเด็นความกังวลในการรับฟังความคิดเห็น มีข้อคิดเห็น โดยสรุปดังต่อไปนี้

1) การจัดการรับฟังความคิดเห็นให้มีผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มมีส่วนร่วมในการรับฟังความคิดเห็นเป็นไปอย่างไม่เท่าเทียม เป็นการรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่มภาครัฐและภาคเอกชน เนื่องจากเรื่องที่รับฟังความคิดเห็นดังกล่าวมีผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน ดั้งนั้นประชาชนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตราที่ 77 ‘รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน’

และ 2) การประชาสัมพันธ์และกระบวนการการรับฟังความคิดเห็น มิได้มีการเชิญภาคประชาสังคม หรือภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม รวมไปถึงการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงแก้ไขผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) เป็นการจัดการประชุมอย่างกระชั้นชิด และไม่สอดคล้องกับกำหนดการทำให้เกิดความสับสนในการรับรู้ จึงไม่สามารถทราบได้ว่าจะได้รับการเชิญหรือไม่ และไม่อาจทราบได้ว่าจะมีการจัดประชุมในรูปแบบใด และจะแสดงความคิดเห็นได้อย่างไร

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active