เริ่มแล้ว! ประชาคมย่านหลักสี่ ระดมความคิดพัฒนาย่านสีเขียว

ไทยพีบีเอส ร่วมกับ we!park จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “บทบาทภาคเอกชน กับการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ” ระดมไอเดีย แนวคิด ยกระดับหลักสี่เป็นย่านน่าอยู่ ส่งเสริมการสัญจรทางเลือกแก้ปัญหารถติด บำบัดน้ำเสีย ปักหมุดเชื่อมโยงพื้นที่สวน 15 นาที

วันนี้ (2 เม.ย. 66) ไทยพีบีเอส ร่วมกับ we!park จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “บทบาทภาคเอกชน กับการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ” ณ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เพื่อชวนภาคเอกชนร่วมกันสร้างประชาคมหลักสี่สีเขียว พัฒนาย่านหลักสี่ให้เป็นย่านน่าอยู่ มีพื้นที่สีเขียวเชื่อมต่อกันภายในย่าน เป็นสวนที่เข้าถึงได้ในทุกๆ 15 นาที หรือ ในระยะ 800 เมตร ผ่านองค์ความรู้การออกแบบพื้นที่สีเขียวด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม

ผศ.ปาณิทัต รัตนวิจิตร หัวหน้าฝ่ายหลักสูตรฝึกอบรมและการวิจัย โครงการ we!park กล่าวว่า โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ บทบาทภาคเอกชน กับการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ เป็นโครงการที่ต่อยอดมาจากโครงการอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรกรุงเทพมหานคร เพื่อออกแบบสวน 15 นาที โดยเราถอดบทเรียนจากโครงพัฒนาพื้นที่สีเขียวสาธารณะหลายแห่งพบว่ากระบวนการที่ทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียวได้สำเร็จต้องอาศัยการมีส่วนร่วมออกแบบ โดยเราได้นำกระบวนการเหล่านั้นมาส่งต่อถึงคนทั่วไป ซึ่งภาคเอกชน ภาคประชาชนเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนา เนื่องจากมีพื้นที่อยู่ในมือ บางพื้นที่สามารถที่จะให้ กทม. ยืมไปใช้ในระยะเวลาที่กำหนดแล้วได้สิทธิประโยชน์ตอบแทน หรือในบางพื้นที่ก็เป็นพื้นที่สีเขียวอยู่แล้วแต่ไม่มีคนเข้าไปใช้งาน ดังนั้นลักษณะการเปิดพื้นที่ก็จะต้องอาศัยการสร้างกิจกรรมตอบโจทย์การใช้งาน

“การพัฒนาพื้นที่ทำคนเดียวยากที่จะประสบความสำเร็จ เรายังมองถึงการพัฒนาที่ต่อเนื่องกันในหลายพื้นที่ ให้เกิดการเชื่อมโยงของพื้นที่สีเขียว เพื่อให้เกิดการพัฒนาในระดับย่าน อย่างในการอบรมครั้งนี้ เรามุ่งหวังว่าจะทำให้หลักสี่เป็นย่านสีเขียวเพื่อคุณภาพชีวิตของคนในย่าน ถ้าเรามีพื้นที่สีเขียวเปิดให้คนมาใช้ พื้นที่ก็จะดึงดูดคนเหล่านั้นให้เข้ามามากขึ้น เมื่อมีคนมาเห็นเรามากขึ้นในแง่ธุรกิจก็ขายได้มากขึ้น กระตุ้นการออกมาทำกิจกรรม กระตุ้นเศรษฐกิจในเมือง การมีพื้นที่สีเขียวช่วยในเรื่องสุขภาพด้วย งานวิจัยต่างประเทศสามารถพอได้เลยว่าพื้นที่สีเขียวที่เพิ่มขึ้นช่วยลดค่าใช้จ่ายในเรื่องการรักษาพยาบาลได้จริง”

ผศ.ปาณิทัต กล่าวเพิ่มเติมว่า การอบรมในครั้งนี้ เน้นการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม ประกอบกับการให้องค์ความรู้เรื่องการออกแบบและพัฒนาภูมิทัศน์ ก่อนอื่นเป็นการชวนให้ภาคส่วนต่างๆ ได้เห็นโครงข่ายพื้นที่สีเขียวในย่านหลักสี่ว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้าง มีต้นทุนเรื่องพื้นที่สีเขียวอย่างไรบ้าง และมีโอกาสแค่ไหนที่จะพัฒนาให้เป็นพื้นที่สีเขียวสาธารณะ ซึ่งการทำให้เห็นภาพเดียวกันก็จะเป็นโอกาสที่จะสร้างจุดเชื่อมต่อ ประกอบกันในฐานะที่ทุกคนเป็นสมาชิกในย่าน และหากว่าแผนการพัฒนาของเราชัดเจนก็จะนำไปเสนอกับภาครัฐต่อไป ซึ่งหากทำให้มันเกิดขึ้นจริง ๆ ก็จะเกิดการพัฒนาตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

ทั้งนี้ การอบรมเชิงปฏิบัติการได้มีตัวแทนจากภาคเอกชน และหน่วยงานต่าง ๆ ในย่านเข้าร่วมจำนวนมาก กิจกรรมสำคัญวันนี้คือการ ตั้งโจทย์ชวนคิด “โครงข่ายพื้นที่สีเขียวในย่านหลักสี่” โดยได้แบ่งสมาชิกแบบเป็นกลุ่มต่าง ๆ และมีหลักคิดการพัฒนาเบื้องต้น ดังนี้

กลุ่มหลักสี่แลนด์ แนวคิดคือการปรับปรุงเรื่องการเชื่อมพื้นที่สีเขียวริมทางเดิน ปัญหาที่พบคือทางเท้าแคบ สายสื่อสาร ความปลอดภัยแสงสว่างไม่เพียงพอ ขาดเส้นทางจักรยาน และการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล บนเส้นทางเท้าทางข้าม โดยจะเน้นพัฒนาริมคูน้ำวิภาวดีทั้งสองฝั่งของภนนวิภาวดีขาเข้า เสนอแนวคิดทางยกระดับหรือสกายวอล์กเพื่อลดปัญหาการใช้พื้นที่จราจรให้น้อยที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านความปลอดภัย ทำเป็นรูปแบบทางเดินลอยฟ้าเหนือคลองวิภาวดี เชื่อมต่อสะพานข้ามถนนวิภาวดีไปยังฝั่งตรงข้าม และโครงสร้างยื่นล้ำคูน้ำด้านบนเป็นสายวอล์กทางล่างเป็นทางจักรยาน ตลอดแนวปลูกไม้ประดับและจัดให้มีพื้นที่สีเขียว โดยคำนึงถึงความปลอดภัยโดยการเพิ่มจุดป้อมยาม จุดตรวจของ สน.​ และเทศกิจ เป็นระยะตลอดแนว และมีการบำบัดน้ำเสียในคูน้ำด้วยการติดตั้งกังหันน้ำ ขุดลอกตะกอนเลน ปลูกพืชไม้น้ำเพื่อช่วยเพิ่มออกซิเจน

กลุ่มรักสิ (LAKSI) ให้ความสำคัญกับทางเท้า ทางปั่นจักรยาน ส่งเสริมการเดินทางสัญจรทางเลือก แก้ปัญหาการจราจรติดขัด เช่น เส้นทางจักรยานสัญจรที่ปลอดภัยให้บริการประชาชนในย่าน ตัวอย่างเช่น ย่านฮาราจุกุจะมีเส้นทางปั่นจักรยานที่ชัดเจน ในฝั่งคลองเปรมประชากร สามารถทำเส้นทางจักรยานได้เป็นแนวยาวตลอดฝั่ง ส่วนฝั่งตรงข้าม สามารถทำเป็นทางเดินประกอบทางจักรยาน เชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าหลักสี่ และสถานีรถไฟฟ้าทุ่งสองห้อง เชื่อมโยงกันด้วยเส้นทางเท้า ทางจักรยาน มีการปลูกต้นไม้ตลอดเส้นทาง เพื่อเชื่อมต่อยังป้ายรอรถเมล์ มีการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย เช่น จุดแจ้งเหตุฉุกเฉิน ไฟแสงสว่าง

กลุ่มหลักสี่ พบว่าปัญหาหนึ่งคือพื้นที่จอดมอเตอร์ไซค์รับจ้างกีดขวางเส้นทางการเดินทาง รวมไปถึงหาบเร่แผงลอยบนทางเท้าทำให้การจราจรติดขัด จึงต้องการให้มีการแก้ไขปัญหา จัดระเบียบ ส่วนบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าไอทีแสควร์ จะเพิ่มลานกีฬาเพื่อรองรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพราะเดิมมีกลุ่มผู้สูงอายุเข้ามาใช้บริการออกกำลังกายอยู่แล้ว และมีแนวทางเพิ่มพื้นที่สีเขียวตลอดทางตั้งแต่ไอทีสแควร์มาถึงราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ รวมถึงการจัดทำเส้นทางจักรยานที่มีความปลอดภัย ลดจำนวนการใช้รถในส่วนถนนสายรอง สำหรับแยกหลักสี่มีปัญหาเชิงวิสัยทัศน์ แต่หากมีการปรับปรุงส่วนพื้นที่ป้อมตำรวจจะช่วยให้มุมมองของผู้ใช้ถนนชัดเจนขึ้น รวมไปถึงการติดตั้งสัญญาณไฟจราจรที่บางจุดยังขาดและต้องการให้ติดตั้งเพิ่มเติมเพื่อความปลอดภัยมากขึ้น

อดุลย์ พรชุมพล ผู้อำนวยการสำนักบริหาร ไทยพีบีเอส กล่าวว่า ไทยพีบีเอสให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะช่วงเริ่มต้นจากเขตหลักสี่ในฐานองค์กรในย่าน โดยมีแนวทางที่จะขับเคลื่อนเรื่องพื้นที่สีเขียว พื้นที่สวนสาธารณะให้มีการขับเคลื่อนและเกิดผลสัมฤทธิ์ประจักษ์ได้จริง เราจึงชวนภาคเอกชนที่มาความสนใจ ออกแนวความคิดวิเคราะห์ถึงเรื่องของความจำเป็น การได้มีส่วนร่วมออกแบบพื้นที่ที่เป็นประโยชน์ ในการเป็นพื้นที่สีเขียวสาธารณะ ซึ่งเป็นโอกาสของไทยพีบีเอสที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกิด

“การอบรมเชิงปฏิบัติการในวันนี้จะช่วยให้ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมได้มีส่วนร่วมกันในการออกแบบพื้นที่ และกิจกรรม โดยทำงานร่วมกัน ซึ่งไทยพีบีเอสมีแนวทางที่จะปรับปรุงพื้นที่ด้านหน้าอาคาร ด้านหลังป้ายรถเมล์ ในการทำเป็นสวน 15 นาที ให้ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงได้มาใช้บริการ ส่วนพื้นที่ภายในของไทยพีบีเอสได้มีการจัดพื้นที่ภูมิทัศน์ให้สอดรับกับแนวทางสำนักงานสีเขียวให้พนักงานได้มีสภาวะแวดล้อมการทำงานที่ดี ส่งเสริมให้บรรยากาศการทำงาน และคุณภาพชีวิตของพนักงานที่ดีขึ้น”

ฐิติพงศ์ ปานพงศ์ ตัวแทนจากโรงแรมรามาการ์เด้นส์ กล่าวว่า โรงแรมรามาการ์เด้นส์เป็นหนึ่งในพื้นที่ในเขตหลักสี่ซึ่งเราเห็นปัญหาหลายอย่างทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม กายภาพในย่าน ทั้งเรื่องของเสียง เรื่องฝุ่นมลภาวะเป็นพิษ ซึ่งจริงๆ แล้วพื้นที่เขตหลักสี่เรามีศักยภาพเพียงพอให้เป็นย่านสีเขียว โรงแรมเราก็เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวมากอยู่แล้ว ซึ่งถ้าเข้ามาในเขตโรงแรมจะไม่ได้รับผลกระทบตรงนี้เลย แม้ว่าตอนนี้จะเน้นให้บริการลูกค้าด้านใน แต่เราก็อยากปันส่วนนี้ให้กับสาธารณชนด้วย เดี๋ยวต้องติดตามกันต่อว่านโยบายจากกระบวนการมีส่วนร่วมนี้จะมีแนวทางอย่างไรบ้าง ซึ่งเราพร้อมที่จะมีส่วนร่วม เป็นส่วนหนึ่งเพื่อร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในย่าน ในเขตหลักสี่ให้ดีขึ้น

ทั้งนี้ การอบรมเชิงปฏิบัติการบทบาทเอกชนกับการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ ยังคงดำเนินการต่อเนื่องจนถึงวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 โดยในวันพรุ่งนี้จะเข้าสู่กระบวนการมีส่วนร่วมในการออกแบบ การวิเคราะห์พื้นที่ และการวิเคราะห์ความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงแนวทางการออกแบบพื้นที่สาธารณะเพื่อสาธารณชน สุดท้ายคือ กิจกรรม “สรรค์สร้าง หน้าบ้าน สร้างสรรค์ ย่านสีเขียว”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active