UddC จับมือ กทม.ภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมพระโขนง-บางนา กรีน เฟสติวัล ชูผลงานออกแบบ 3 พื้นที่นำร่อง ขยายผลวาระพื้นที่สีเขียวเข้าถึงได้ใน 15 นาที เชื่อมเมืองเดินได้เดินดี
วันนี้ (29 เม.ย.2566) ศูนย์ออกแบบและการพัฒนาเมือง (UddC) ร่วมกับกรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) The Active และเครือข่าย เปิดงานเทศกาลพระโขนง-บางนา : ปลุกย่าน สร้างเมือง ณ เพลินพระโขนง (ทางเข้าสำนักงานขนส่ง กทม. พื้นที่ 3) เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนพื้นที่สีเขียว สู่พื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ของเมือง ย่านพระโขนง-บางนา
ผศ.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) กล่าวว่า ย่านพระโขนง-บางนา เป็น Policy Sand Box หรือกระบะทรายในการทดลองนำร่องนโยบายพื้นที่สีเขียวสาธารณะ เป็นนโยบายนำร่องเรื่องแรกของคณะกรรมการนวัตกรรมเมือง กรุงเทพมหานคร จุดเริ่มต้นของการร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ที่จะพูดถึงว่าทำอย่างไรให้ย่านพระโขนงบางนาที่เติบโตอย่างรวดเร็ว มีความน่าอยู่ เช่น มีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น มีถนนทางเท้า เดินได้เดินดี จะทำได้อย่างไร แน่ชัดแล้วว่า แค่เพียง กทม. ที่ดูแลทั้ง 50 เขตอาจไม่เพียงพอที่จะขับเคลื่อน โดยตลอด 2 ปีที่ผ่านมาเราทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ของสังคม และนำมาสู่การยกระดับเป็นนโยบายนำร่อง จากความมุ่งมั่นของแต่ละฝ่าย ใน 1-2 ปีข้างหน้า น่าจะได้เห็นความชัดเจนจากความทุ่มเทครั้งนี้ คือ สวน 15 นาที เข้ามาเชื่อมโยงพื้นที่นี้ ที่มีต้นทุนเดิมที่ดีอยู่แล้ว
ภายในงานได้นำเสนอแนวทางการออกแบบสวน 15 นาที นำร่อง 3 พื้นที่ คือ 1. พื้นที่วชิรธรรมสาธิต 35 เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ของเอกชน มอบให้กรุงเทพมหานคร พัฒนาเป็นสวนสาธารณะ ในโครงการ Green Bangkok 2030 ตั้งแต่ปี 2018 เป็นระยะเวลา 10 ปี มีแนวทางออกแบบให้เป็นพื้นที่รับน้ำของเมือง และเป็นพื้นที่สวนเชิงเกษตร โดย ชัยรัตย์ สุรจรัส ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สำนักงานออกแบบระฟ้า จำกัด 2. พื้นที่หน้าสำนักงานขนส่ง กทม. พื้นที่ 3 หรือสวนเพลินพระโขนง พื้นที่กรรมสิทธิ์ของกรมธนารักษ์ มอบให้กับสำนักงานเขตพระโขนง ใช้เป็นพื้นที่สาธารณะ มีแนวทางออกแบบให้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ของชุมชน เช่น ลานกีฬา พื้นที่ประชุม พักผ่อน และสวนสีเขียว โดย สมเกียรติ โชควิจิตรกุล กรรมการและผู้ก่อตั้ง บริษัท แลนด์สเคปคอลลาเบอเรชัน จำกัด และพื้นที่ท่าน้ำสรรพาวุธ บางนา พื้นที่กรรมสิทธิ์ของสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร พื้นที่ที่สำนักงานเขตบางนา เลือกให้เป็นสวน 15 นาที พื้นที่อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีแนวทางออกแบบให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจชุมชน สวนสีเขียว ส่งเสริมการท่องเที่ยว โดย ปรีชญา นวราช กรรมการบริษัท พี-เนอ เออเบิ้น อาร์คิเต็ม จำกัด
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หนึ่งในนโยบายผู้ว่าฯ กทม. คือการพัฒนาพื้นที่ อยากให้มีพื้นที่เอนกประสงค์แต่ไม่ใช่การมีแค่พื้นคอนกรีตหรือโครงสร้างดาดแข็ง ควรจะเป็นพื้นที่ที่ทำให้คนอยากทำกิจกรรมหลายอย่างและมาใช้พื้นที่ร่วมกันได้ ดังนั้นจึงต้องมีการรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายเพื่อออกแบบ ขณะเดียวกันพื้นที่นั้นอาจจะมีพื้นที่ใต้ร่มไม้ให้บรรยากาศที่เย็นขึ้น จึงเป็นความพยายามที่จะต้องเลือกพื้นที่ด้วย ว่าพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร มีพื้นที่เหลือที่จะขับเคลื่อนพื้นที่สีเขียวเพิ่มเติมอย่างไรได้บ้าง รวมถึงความยากในการเข้าใช้พื้นที่ เรื่องของกรรมสิทธิ์ที่ดิน การออกแบบจากความต้องการประชาชน ให้ทุกชีวิตที่อยู่ใกล้เคียงได้ประโยชน์ เพื่อความคุ้มค่าของงบประมาณในการจัดการ จึงต้องมีแนวทาง policy sand box
“อย่างแรกคือเราเฟ้นหาว่าพื้นที่แบบไหนที่จะเหมาะสม หากเป็นกรรมสิทธิ์ของคนอื่นจะมีข้อตกลงอย่างไรให้ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ไม่นับว่า แต่ละพื้นที่มีลักษณะที่แตกต่างกัน แล้วถ้าจะมีความต้องการใช้พื้นที่หลากหลายมาก ทั้งเพื่อเศรษฐกิจ กีฬา นันทนาการ สันทนาการ สวน ก็ต้องมาพิจารณาด้วยว่าแล้วจะจัดการออกแบบแบบไหน ให้มีคนใช้งานจริง ที่สำคัญคือทำแล้วใครจะดูแล จึงต้องมีแนวทางการบริหารจัดการที่ชัดเจนด้วย ทุกอย่างต้องมีความหลากหลาย ถ้าเราจะมีผู้ค้า มีกิจกรรม จะอยู่และดูแลกันไปอย่างไร และทำให้สามารถใช้ประโยชน์ตามต้องการได้ ให้เป็นการดูแลร่วมกันกับชุมชน หลายอย่าง กทม. ไม่เคยทำ ทิ้งมันมานาน อะไรที่เราสามารถกำหนดให้เปิดพื้นที่ทดลองด้วยวิธีการใหม่ๆ ไม่แน่สวนพระโขนงก็จะเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ ด้วย กทม. พร้อมที่จะปลดล็อกข้อติดขัดต่างๆ เท่าที่อำนาจจะมี แต่ถ้าข้อติดขัดอยู่ที่อยากให้ใครมาช่วย ก็อยากขอพื้นที่ตรงนี้ไว้ เพื่อให้มีส่วนร่วมสร้างพื้นที่นี้ด้วยกัน คนละเล็กละน้อย เพื่อเมืองที่น่าอยู่ของเรา”
วรุณลักษณ์ พลหาญ ผู้อำนวยการ สำนักงานเขตพระโขนง กล่าวว่า ย่านพระโขนง-บางนา เป็นพื้นที่แนวฝั่งชายขอบกรุงเทพฯใต้ เมื่อปี 2540 บางนาแยกพื้นที่ออกจากเขตพระโขนง มาเป็นเขตใหม่ ซึ่งพื้นที่แห่งนี้มีบรรยากาศการพัฒนาโดยข้าราชการเป็นคนนำ และมีภาคีเครือข่ายภาคประชาชนในนามของประชาคมเขตพระโขนง แต่ก็ยังไม่ได้พัฒนามากเท่าที่ควร 25 ปีผ่านไป ตอนนี้มีรถไฟฟ้าเข้ามาถึงแล้ว แต่คำถามหนึ่งคือเราจะเข้าถึง นวัตกรที่มีนวัตกรรม ภาคประชาชน นักธุรกิจ กลุ่มทุน คนรุ่นใหม่ นักพัฒนาในพื้นที่กลุ่มต่างๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาพื้นที่ได้อย่างไร ต่างคนต่างตามหากัน เมื่อมีนโยบาย 9 ด้าน 9 ดีจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กับนโยบายที่เน้นการมีส่วนร่วมพัฒนา ทำให้เราได้ทำงานร่วมกันมากขึ้น UddC ได้มาร่วมพัฒนาย่านเป็นเวลา 2 ปี ชี้ให้เป็นเป้าหมายการพัฒนาย่านให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น แม้ว่าการพัฒนาจะต้องใช้เวลา และอาจจะล่าช้า แต่ก็อยากให้พี่น้องชาวพระโขนง-บางนา มีส่วนร่วมในกระบวนการร่วมคิดร่วมสร้างร่วมชื่นชมกันต่อไป เพราะไม่ใช่การขายฝัน แต่เป็นอนาคตภาพฝันที่จะเป็นจริงของย่านพระโขนง-บางนา
นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากจุดเริ่มต้นจนถึงตอนนี้ต้องบอกว่าเรามากันได้ไกลมาก เริ่มจากการสำรวจข้อมูล การออกแบบ และแรงขับเคลื่อนจากชุมชนเอง ที่สู้กันอย่างยาวนาน และนโยบายของ กทม. ที่หนุนเสริม การมีพื้นที่สีเขียวสาธารณะ เพื่อสุขภาพก็เป็นประโยชน์กับคนแถวนี้ และกระบวนการนี้ก็น่าจะเป็นแนวทางที่ขยายต่อไป สสส. ดีใจได้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการนี้
สำหรับเทศกาล “พระโขนง-บางนา กรีน เฟสติวัล” จัดขึ้นวันที่ 29 – 30 เมษายน 2566 เวลา 08.00 – 20.00 น. ณ สวนเพลินพระโขนง (พื้นที่สํานักงานขนส่งกทม. พื้นที่ 3) ผู้เข้าร่วมงานจะได้พบกับกิจกรรมมากมาย ได้แก่ “ตลาดของดีของดังย่าน” ร่วมเดินชอป กินของอร่อย ของดีของดัง จากชุมชนย่านพระโขนง-บางนา เวิร์คช็อป “ปรุงรสปุ๋ย ลุยปลูกผัก” ร่วมเรียนรู้การเตรียมดินสำหรับการปลูกพืชผักสวนครัวและการทำปุ๋ยชีวภาพจากเศษอาหารภายในบ้าน ฉบับง่ายๆ มือใหม่ก็ทำได้ โดยทีมงานมืออาชีพจากสำนักพัฒนาสังคม กทม. “ดนตรีในสวน” ร่วมผ่อนคลายผ่านเสียงเพลงและการแสดง โดยศิลปินชาวย่านพระโขนง-บางนา