พื้นที่สาธารณะ ที่ขาดหาย สู่ นโยบาย ‘ย่านสร้างสรรค์’ คนกรุง

กทม.-ภาคีเครือข่ายนักออกแบบเมือง เดินหน้าขับเคลื่อนแนวทาง สร้างพื้นที่สาธารณะเชื่อมโยงคนเมืองให้ถึงกัน ฟื้นเศรษฐกิจย่าน ให้กลับมามีชีวิตชีวา

เมื่อวันที่ (24 ก.พ.66) ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมเสวนาในกิจกรรม The Rhythm of City’s Yard : จับจังหวะพื้นที่สาธารณะ ณ สวนเบญจกิติ เขตคลองเตย ว่าด้วยการพูดคุยถึงเรื่องราวในอดีต มองภาพปัจจุบันและอนาคตว่าพื้นที่สาธารณะในไทยมีจังหวะและเวลาที่เปลี่ยนไปอย่างไร

ศานนท์ ระบุถึงจังหวะ 3 ช่วงเวลาของพื้นที่สาธารณะในชีวิต โดยบอกเล่าเรื่องราวในวัยเด็ก ว่า ได้ย้ายบ้านถึง 5 ครั้ง ทำให้ช่วงชีวิตที่ผ่านมาใช้พื้นที่ที่แตกต่างกันมาโดยตลอด ทั้งชุมชน คอนโด หมู่บ้าน ตึกแถว และโรงแรม ซึ่งตอนอยู่ชุมชนในวัยเด็ก ได้ใช้พื้นที่ในชุมชนทำกิจกรรมต่าง ๆ เมื่ออยู่คอนโด ก็แทบไม่พื้นที่ให้ทำกิจกรรมอะไรจึงใช้ชีวิตและพื้นที่ที่โรงเรียนเป็นหลัก เมื่อย้ายมาอยู่หมู่บ้านจึงเริ่มมีพื้นที่ส่วนกลางให้ใช้เป็นพื้นที่สาธารณะ ส่วนตอนย้ายมาอยู่ตึกแถวเป็นช่วงชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย พื้นที่ที่ใช้ชีวิตจึงเป็นมหาวิทยาลัยเป็นหลัก พอมาทำธุรกิจโรงแรม ก็ใช้ชีวิตในพื้นที่ของโรงแรม และบริเวณโดยรอบย่านพระนคร

รองผู้ว่าฯ กทม. ยังมองว่า ถ้าย้อนกลับไปก่อนเข้ามาทำงาน สิ่งที่คิดว่าขาดหายไปโดยเฉพาะในยุคคนรุ่นใหม่คือความเป็นชุมชน เพราะบ้านเมืองที่อยู่อาศัยเปลี่ยนแปลงไปจากคนรุ่นก่อน เมื่อไม่มีพื้นที่พบปะสังสรรค์กันแบบเรียบง่าย ไม่เป็นทางการ ทำให้ความเข้าอกเข้าใจระหว่างกันลดน้อยลงไป ซึ่ง กทม. พยายามจัดสรรพื้นที่เหล่านี้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ให้คนเชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น อาจจะเป็นสวน ซอย ถนน หรือย่าน ควบคู่ไปกับการทำให้เศรษฐกิจในย่านมีชีวิตชีวา จึงเป็นที่มาของนโยบาย “ย่านสร้างสรรค์” และพยายามผลักดันย่านหรือชุมชนที่มีศักยภาพอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นไป ซึ่งน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดความเป็นชุมชนมากขึ้น ทำให้คนมาใช้พื้นที่สาธารณะมากยิ่งขึ้น

“สำหรับในอนาคต พื้นที่สาธารณะ พื้นที่สีเขียวของ กทม. มีหลายนโยบายที่กำลังทำและผลักดัน อาทิ ส่วน 15 นาที และพื้นที่สีเขียวต่าง ๆ และต้องคัดกรองว่าไม่ใช่แค่สีเขียว แต่ต้องเป็นสีเขียวที่ประชาชนใช้ประโยชน์ได้ ในส่วนของสวนสาธารณะมีจุดที่เปิดโซนให้ใช้เสียงได้เพื่อมาใช้ทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น เล่นดนตรี แต่ประชาชนอาจยังไม่ทราบก็จะทำการประชาสัมพันธ์ให้มากยิ่งขึ้น ส่วนที่เป็นพื้นที่กิจกรรมและพื้นที่สร้างสรรค์ สำนักต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องก็จะทำให้มากยิ่งขึ้น และในการขออนุญาตใช้พื้นที่ต่าง ๆ ของกทม. จะทำให้สะดวกขึ้นเช่นกัน เชื่อว่าอนาคตกรุงเทพมหานครจะมีชีวิตชีวาขึ้นอีกมาก”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active