คาดเสร็จปีนี้ โครงการคูน้ำถนนวิภาวดีฯ รองรับน้ำได้เพิ่ม 100 มิลลิเมตร

กรมทางหลวงแจงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างสายพัฒนาคูน้ำริมถนนวิภาวดีรังสิต คืบหน้า 60% เร่งดำเนินการเพื่อพร่องการระบายน้ำ และปรับภูมิทัศน์พร้อมทางจักรยาน 4 กม.

วันนี้ (1 ก.พ. 2566) The Active ติดตามความคืบหน้า โครงการก่อสร้างสายพัฒนาคูน้ำริมถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อบริหารจัดการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณถนนวิภาวดี โดยกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม พบคืบหน้าโดยรวม ร้อยละ 60 คาดแล้วเสร็จจะสามารถรองรับน้ำฝนได้มากถึง 100 มิลลิเมตร และส่งเสริมการสัญจรทางเลือกเชื่อต่อระบบขนส่งมวลชน เช่น การเดิน ขี่จักรยาน

สำหรับโครงการก่อสร้างสายพัฒนาคูน้ำริมถนนวิภาวดีรังสิต มีทั้งหมด 3 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 งบประมาณ 296 ล้านบาท เป็นการวางระบบท่อระบายน้ำ เชื่อมต่อเส้นทางน้ำไหลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ท่อลอดใต้ถนน และขนาดขนาดท่อเดิมเพื่อเพิ่มการระบาย และติดตั้งโรงสูบน้ำเพิ่มเติม 7 แห่ง ได้แก่ โรงสูบน้ำคลองบางซื่อ โรงสูบน้ำสำนักงาน กลต. โรงสูบน้ำห้าแยกลาดพร้าว โรงสูบน้ำบริเวณหน้าบริษัทตรีเพชรอีซูซุ โรงสูบน้ำสถานีดับเพลิงลาดยาว โรงสูบน้ำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โรงสูบน้ำสนามบินดอนเมือง

ระยะที่ 2 งบประมาณ 1,659 ล้านบาท ประกอบด้วย 2 สัญญา ประกอบด้วยการปูคอนกรีตปรับทางระบายน้ำใหม่ให้สามารถกักเก็บน้ำได้มากขึ้นคล้ายแก้มลิง ตั้งแต่บริเวณ ถนนดินแดง-แยกลาดพร้าว และบริเวณแยกลาดพร้าว-แยกหลักสี่ โดยขยายคลองรับน้ำข้างถนน ขุดลึก 16 เมตร กว้าง 2-4 เมตร ทั้งนี้ ได้มีการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณด้านข้าง ให้มีทางวิ่ง-จักรยาน และประดับต้นไม้สวยงาม ระยะทาง 4 กิโลเมตร ตั้งแต่บริเวณโรงเรียนหอวังไปจนถึงสำนักงานปรมณูเพื่อสันติ โดยจะมีการอำนวยความสะดวก ด้วยอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย เช่น กล้องวงจรปิด แสงสว่าง เพื่อให้สามารถขี่จักรยานเชื่อมการเดินทางไปยังรถไฟฟ้าสายสีแดงได้ง่ายมากขึ้น ส่วนการวางระบบท่อระบายน้ำ สถานีสูบน้ำอีกจุดคือ บริเวณสำนักชลประทาน และบริเวณโรงพยาบาลราชวิถีใหม่

ส่วนระยะที่ 3 งบประมาณ 950 ล้านบาท เป็นการเก็บรายละเอียดความเรียบร้อยของพื้นที่ทำงานทั้งหมด

“งานพัฒนาคูน้ำริมถนนวิภาวดี ตอนที่ 2 ระยะที่ 2 บริเวณสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงวัดเสมียนนารี บริเวณการก่อสร้างนี้แล้วเสร็จราว 60% ลักษณะงานที่แล้วเสร็จไปแล้ว คือคูน้ำใหม่เรียบร้อยแล้ว มีการทำทางจักรยาน ซึ่งเป็นไฮไลท์ของงานตอนที่ 2 ช่วงนี้ดำเนินการได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนงานทางเท้ามีการติดตั้งราวกันตกและกระถางต้นไม้ ที่จะยังดำเนินการอยู่คือการเก็บรายละเอียดต่าง ๆ เรื่องไฟฟ้า แสงสว่าง การปลูกต้นไม้ เดิมรองรับน้ำฝนได้ 60 มิลลิเมตร หากแล้วเสร็จจะสามารถรองรับได้ถึง 100 มิลลิเมตร จะสามารถแล้วเสร็จได้ทั้งโครงการ ตามแผนที่เตรียมไว้คือปลายปี 2566”

มงคล นวลเกลี้ยง ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงกรุงเทพ กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active