7 สำนักงานเขต ประกวดออกแบบสวน 15 นาที เปลี่ยนกรุงเทพฯ เป็นเมืองสีเขียว

สำนักงานเขตจอมทองคว้ารางวัลชนะเลิศ จากกลุ่มเขตกรุงธนเหนือ เตรียมออกแบบก่อสร้างจริง หวังสร้างเมืองสีเขียวเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวกรุงฯ

วันนี้ (27 ม.ค. 2566) กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ กลุ่ม we!park สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมาคมสถาปนิกประเทศไทย จัดงานประกวดโครงการสวน 15 นาทีดีเด่น กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ ได้แก่ เขตบางกอกใหญ่ เขตบางกอกน้อย เขตบางพลัด เขตธนบุรี เขตคลองสาน เขตจอมทอง เขตตลิ่งชัน และเขตทวีวัฒนา ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อการพัฒนาสวน 15 นาที ผ่านการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Park Coaching & Park Clinic) ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีสวนขนาดใหญ่ราว 57 แห่ง ยังไม่รวมถึงสวนเล็ก ๆ ของเขตต่าง ๆ ซึ่งหลังจากมีนโยบายสวน 15 นาทีของผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ตอนนี้เรามีพื้นที่เป้าหมายเพื่อเพิ่มสวนกว่า 110 แห่ง แต่ยังไม่มีศักยภาพมากพอในการออกแบบ และอาจทำให้เกิดความล่าช้า จึงมีการอบรมความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ในเรื่องนี้ กลุ่มเขตแรกที่ดำเนินการคือกลุ่มกรุงธนเหนือ ซึ่งมีการดำเนินการมาแล้วก่อนหน้านี้ และวันนี้นำผลงานมาประกวดกัน หากกรณีวันนี้ผลการทำงานประสบความสำเร็จ กลุ่ม we!park จะได้อบรมให้กับกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งมีสำนักงานเขตอีกกว่า 40 แห่ง หวังว่าโครงการนี้จะเพิ่มพื้นที่สวนให้มากขึ้นในกรุงเทพฯ ตอบสนองความต้องการประชาชนที่อยากให้มีสวนใกล้บ้านมากที่สุดที่จะเข้าถึงได้ใน 15 นาที

พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า สวน 15 นาที อาจะเป็นสวนขนาดเล็กน้อยกว่า 2 ไร่ การออกแบบสวนที่ดีต้องมีการฝึกอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อออกแบบอย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อว่าการส่งเสริมศักยภาพเจ้าหน้าที่เขตเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นกระบวนการที่จะทำให้นโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครประสบความสำเร็จ

ปาณิทัต รัตนวิจิตร หัวหน้าโครงการหลักสูตรอบรมฯ กล่าวว่า กลุ่มเขตกรุงธนเหนือเป็นกลุ่มเราที่ได้รับการอบรมจะดำเนินงานจนถึงเดือนพฤษภาคม โดยตัวแทนเจ้าหน้าที่จากหลายฝ่ายของทั้ง 8 สำนักงานเขต ซึ่งไม่ใช่การอบรมเท่านั้นแต่มีการฝึกออกแบบจริงด้วย ซึ่งประกอบด้วยองค์ความรู้เรื่อง หลักการออกแบบผังพื้นที่สาธารณะสีเขียวขนาดเล็กเบื้องต้น การเลือกพื้นที่ศักยภาพในการทำสวน 15 นาที การบริหารจัดการพื้นที่อย่างยั่งยืน การให้คำปรึกษาเพื่อการพัฒนาโครงการพัฒนาพื้นที่สาธารณสีเขียว

โดยเขตธนบุรีและเขตตลิ่งชัน เสนอแนวคิดสวนใต้ทางด่วน เขตจอมทองเสนอสวนป่าจากที่ดินรกร้าง เขตบางกอกน้อยเลือกพื้นที่นาดเล็กในเขตเมือง (pocket park) เขตบางกอกใหญ่เสนอสวนโมเดิร์นสำหรับกิจกรรมสร้างสรรค์ เขตบางพลัดเสนอพื้นที่สวนมุมถนนจุดเชื่อมต่อขนส่งสาธารณะ และเขตคลองสานเสนอสวนพักคอยริมแม่น้ำเจ้าพระยา

สำหรับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ สำนักงานเขตจอมทอง รองชนะเลิศลำดับ 1 ได้แก่ สำนักงานเขตบางกอกน้อย และรองชนะเลิศลำดับที่ 2 ได้แก่ สำนักงานเขตตลิ่งชัน

“พื้นที่ที่เราจะใช้เป็นสวน 15 นาทีของเขตจอมทอง เป็นพื้นที่ว่างในซอยหมูป่า หลังถนนพระราม 2 ซอย 30 เป็นพื้นที่ว่าง 15 ไร่ที่เราอยากจะนำมาพัฒนา 5 ไร่ ทำเป็นสวนป่า เนื่องจากเขตเรา ได้ขุดล้อมต้นไม้จากรถไฟสายสีม่วง ทำให้มีต้นไม้ใหญ่กว่าร้อยต้นจึงใช้พื้นที่ตรงนี้มาอนุบาลต้นไม้ด้วย”

ตัวแทนสำนักงานเขตจอมทอง

ยศพล บุญสม ผู้ก่อตั้งกลุ่ม we!park ระบุว่า เราพยายามเชื่อมนโยบายระดับต่าง ๆ เพื่อทำให้การออกแบบสวนตอบโจทย์ทั้งระดับสากลและนานาชาติ ทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ทั้งยังความพยายามจะออกแบบสวนให้ตอบโจทย์กับบริบทของเมือง ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีสวนตัวอย่าง ที่พัฒนาจากพื้นที่รกร้างมากมาย เป็นการนำร่องทำให้เห็นว่าเราสามารถทำให้สวนสาธารณะเกิดขึ้นและเข้าถึงได้ใน 15 นาทีจริง จึงได้มีการอบรมเจ้าหน้าที่ของกลุ่มเขตกรุงธนเหนือเพื่อทำให้บรรลุวัตถุประสงค์

“เราอยากให้การเพิ่มปริมาณพื้นที่สาธารณะเพิ่มทั้งปริมาณและคุณภาพ เราจึงอยากให้งานนี้เกิดจากผู้ปฏิงานจริงหรือเจ้าหน้าที่เขต ซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุด และใกล้พื้นที่ที่สุด ซึ่งการมีนักออกแบบทำงานร่วมก็ทำให้เกิดผลงานที่น่าชื่นชมมาก เกิดมิติใหม่ของการทำงาน คิดว่าอยากจะให้ติดตามผลลัพธ์ว่าจะออกมาเป็นรูปธรรมอย่างไร”

ส่วนหลังจากนี้จะมีการอบรมปฏิบัติการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมกับทั้ง 6 กลุ่มเขต (50 สำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร) โดยจะให้มีภาควิชาการเข้ามาร่วมทั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำงานร่วมกับหลายกลุ่มเขต จะเวียนไปจัดกิจกรรมแบบเดียวกันนี้กับทุกกลุ่มเขตภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งเมื่อได้แบบแล้วจะพัฒนาไปสู่การก่อสร้าง โดยจะมีการเปิดระดมทรัพยากรกับอีกครั้งหนึ่ง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active