กทม. ชวนผู้ค้า-นักออกแบบเมือง ระดมความเห็น ฟื้น ‘คลองโอ่งอ่าง’

ยอมรับ ที่ผ่านมาการค้าซบเซา ไม่คึกคัก ขาดการประชาสัมพันธ์ ไร้กิจกรรมต่อเนื่อง ‘ศานนท์’ หวังสานความร่วมมือ พัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ ตั้งหมุดหมายสำคัญ เชื่อมต่อทุกมิติพัฒนาย่านเมืองเก่า   

วันนี้ (15 ม.ค.66) กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ ชาวชุมชนริมคลองโอ่งอ่าง จัดประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ “ชุมชนร่วมคิด ร่วมสร้าง ย่านคลองโอ่งอ่าง” เพื่อหาแนวทางพัฒนาย่านคลองโอ่งอ่าง โดยบรรยากาศการพูดคุย เต็มไปด้วยการแสดงความคิดเห็น แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มย่อย คือ กลุ่มเขตสัมพันธวงศ์ 1 กลุ่ม และกลุ่มเขตพระนคร 2 กลุ่ม คือ กลุ่มสะพานเหล็ก และกลุ่มสะพานหัน โดยร่วมแสดงความคิดเห็นมองจุดแข็ง/จุดเด่น/จุดขาย ของย่านคลองโอ่งอ่าง ที่มีมรดกทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ส่งผลให้มีแหล่งอาชีพ และอาหารการกินแบบดั้งเดิมจำนวนมากที่เป็นที่รู้จัก ตลอดจนอาคารเก่าแก่และสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ด้วย

ตัวแทนประชาชนจากเขตสัมพันธวงศ์ บอกว่า คลองโอ่งอ่างเป็นแลนด์มาร์ค ที่รองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก แต่ยังขาดการโปรโมทให้ได้รับรู้ในวงกว้าง อยากให้คนที่มาเที่ยวเยาวราช รู้จักคลองโอ่งอ่างด้วย เพราะหลังจากกิจกรรมวันลอยกระทง กับ เทศกาลอินเดีย พื้นที่นี้ก็แทบไม่มีกิจกรรม หรือเทศกาลอะไรอีก จึงอยากให้ภาครัฐช่วยประชาสัมพันธ์ สำหรับการจัดระเบียบตลาด การขายของซ้ำกันมาก ๆ ทำให้คนสนใจน้อยลง ดังนั้นวิธีการจัดการจะสามารถวางกติกาเองได้หรือไม่ และหากว่า กทม. จะจัดให้มีออแกไนซ์เข้ามาดูแล ก็อยากจะให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจเลือกด้วย

ตัวแทนกลุ่มสัมพันธวงศ์ ยังแสดงความคิดเห็นด้วยว่า ที่ผ่านมาย่านคลองโอ่งอ่างซบเซาลง เพราะกิจกรรมมีน้อย จึงอยากให้ กทม. สนับสนุนจัดกิจกรรมให้มากขึ้น อย่างน้อย 1 ครั้งใน 2 เดือน นอกจากนั้น ยังอยากให้สนับสนุนพื้นที่ส่วนกลางให้กับนักท่องเที่ยว สำหรับการรับประทานอาหาร และห้องสุขา เพราะปัจจุบันยังไม่มีของส่วนกลาง ทำให้เกิดความไม่สะดวก

ตัวแทนประชาชนเขตพระนคร (บริเวณสะพานเหล็ก) บอกว่า จุดขายของสะพานเหล็กคือโมเดล ตุ๊กตา ของเล่น อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ เช่น การจัดสถานที่ใหม่ จัดพื้นที่รองรับดูแลความสะดวกของร้านค้า ให้สามารถหลบแดดหลบฝนได้ ไม่ต้องขนย้ายสินค้า รวมทั้งเรื่องของสุขา อยากเสนอให้ กทม. จัดห้องน้ำเคลื่อนที่ อีกทั้งให้มีกิจกรรมทุกสัปดาห์ เพื่อดึงนักท่องเที่ยว ซึ่งตอนนี้มีร้านค้าเหลือแค่ 37 ร้าน เพราะนักท่องเที่ยวซบเซา

“สะพานเหล็ก เป็นศูนย์กลางการค้า โดยเฉพาะ ของเล่น ตุ๊กตา เครื่องเล่นเกมส์ต่าง ๆ เป็นย่าน Street Art มีครบเกือบหมด แต่ยังรู้สึกว่าไม่ได้เชื่อมกันเท่าไหร่นัก… “

ไม่ต่างจาก ตัวแทนประชาชนเขตพระนคร (บริเวณสะพานหัน) บอกว่า ย่านนี้เป็นพื้นที่การค้าของคนไทย-จีน, ไทย-อินเดีย เป็นจุดเด่นความหลากหลายผสมผสานกัน ร้านดัง ร้านเด่น ร้านในตำนานอยู่บริเวณสะพานหัน มีต้นทุนทางสังคม จากองค์ประกอบของสถานที่ต่าง ๆ รอบด้าน สิ่งที่จะทำคือการจัดตั้งกลุ่มประชาคม บริหารจัดการพื้นที่ส่วนนี้ วางข้อตกลงร่วมกัน โดยจะเริ่มปฏิบัติช่วงต้นปีนี้ โดยร้านค้าต่าง ๆ อยากให้เจ้าของอาคารมีสิทธิเลือกเช่าพื้นที่ก่อน และการจัดทำผังกิจกรรมในพื้นที่ กิจกรรมหมุนเวียนในเทศกาลแต่ละเดือน และดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ ๆ ผ่านการประชาสัมพันธ์ โดยมีช่องทางโซเชียลมีเดียของชุมชนจัดการเอง

นอกจากนั้นในเวทีประชุม ยังยกตัวอย่างการจัดการของประชาคมผู้ประกอบการเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี หรือ เวเนเซีย ออเทนติกา เฟรนด์พาส ที่เป็นการรวมกลุ่มกันเพื่อความอยู่รอดของผู้ประกอบการ พ่อค้า แม่ขายในท้องถิ่น เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามา ทำให้เกิดปัญหาหลายด้าน ธุรกิจมุ่งเน้นผลกำไร โดยไม่ใส่ใจต่อความยั่งยืน ส่งผลให้คนในท้องถิ่นเดือดร้อนจนต้องย้ายออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

สมาคมดังกล่าวยังได้จัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนโครงการของคน หรือสมาคมท้องถิ่น ที่เกิดจากการปันส่วนกำไรของสมาชิกเข้ามา พัฒนาสู่การสร้างคุณค่า จากการรวมกลุ่มผู้ประกอบการ และช่างฝีมือท้องถิ่น ซึ่งต้องสร้างจากจุดขาย ‘ความแท้’ ของวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่สิ่งสำคัญ คือ การสร้างกลไกการบริหารจัดการย่านการท่องเที่ยว โดยอาจจัดตั้งเป็นกลุ่มธุรกิจ ที่มีกฎ กติการ่วมกัน และนำรายได้บางส่วนมาสนับสนุน หรือพัฒนาการจัดกิจกรรมในพื้นที่ ซึ่งอาจเป็นแนวทางของความยั่งยืนของย่านสร้างสรรค์ในอนาคต 

ทางฝั่งของตัว กทม. วัลลภ เกียรติวรศรีกุล ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ บอกว่า หัวใจสำคัญอยู่ที่ผู้ค้าว่าจะเข้มแข็งมากแค่ไหน มีพลังบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกันอย่างไร อยากให้คลองโอ่งอ่างเป็นพื้นที่ทำการค้า สะท้อนคุณค่าของชุมชน สร้างความสนใจให้กับผู้ที่สัญจรไปมา แต่ปัจจุบันยังต่างคนต่างยืนดู ชุมชนยังไม่เข้มแข็งพอ ถ้าไม่ผลักดันก็จะเป็นอย่างนี้ต่อไป การระดมความคิดเห็นในวันนี้จะเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหา ที่ต้องพยายามดึงอดีตคลองโอ่งอ่างให้กลับมาสวยงาม ดึงดูดให้คนไทยต่างประเทศเข้ามา เป็นแหล่งกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดี

เช่นเดียวกับ สัมฤทธิ์ สุมาลี ผู้อำนวยการเขตพระนคร เชื่อว่า ต้องเอาลูกค้าเป็นหลัก ถ้าขายของเหมือนเดิม การมาเที่ยวต้องสะดวกสบาย ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน คนมาเที่ยวอยากมาพักผ่อน ดูของเก่า ชมประวัติศาสตร์ของพื้นที่ เช่น ย่านสวนหลวงเคยเป็นเซียงกงเดิม วันนี้เสื่อมสลายไปเพราะความเจริญของเมือง ผู้ค้าทั้งสองฝั่งของสัมพันธวงศ์กับพระนคร จะต้องหาแนวทางร่วมกัน เพราะสิ่งที่ยังขาดคือความร่วมแรงร่วมใจ และการส่งเสริมอัตลักษณ์คุณค่าของชุมชน

นักออกแบบเมือง ชูจุดแข็งคลองโอ่งอ่าง สานต่อพื้นที่ธุรกิจสร้างสรรค์

จุฤทธิ์ กังวานภูมิ สถาปนิก กลุ่มปั้นเมือง กล่าวว่า แนวคิดของย่านสร้างสรรค์มีองค์ประกอบเชื่อมโยงอยู่ 3 เรื่องสำคัญ คือ พื้นที่สาธารณะ, วัฒนธรรม และ เศรษฐกิจ โดยใช้วิถีการเดินนำผู้คนเข้ามาและขับเคลื่อนองค์ประกอบในพื้นที่ดังกล่าว ส่วนแนวทางขับเคลื่อนประกอบด้วย การสร้างความเคลื่อนไหว และการมีส่วนร่วม การทำให้พื้นที่มีชีวิตชีวา มีระบบนิเวศน์สร้างสรรค์รองรับ สนับสนุนธุรกิจสร้างสรรค์ สร้างแลนด์มาร์คให้เป็นที่จดจำ

สถาปนิก กลุ่มปั้นเมือง ยอมรับว่า ต้นทุนเชิงพื้นที่ของคลองโอ่งอ่างมีมากอยู่แล้ว เพราะอยู่กลางเมืองสัญจรได้ง่ายโดยระบบขนส่งมวลชน มีความน่าสนใจเชิงอัตลักษณ์ดึงดูดนักท่องเที่ยว เป็นพื้นที่ชุมชน มีกลุ่มคนสร้างสรรค์ในระแวกใกล้เคียง แต่จำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์พื้นที่ ตั้งเป้าหมาย และออกแบบการทำงานร่วมกัน เช่น การพัฒนาเส้นทางการเดินริมคลองรอบกรุง (คลองบางลำพู-คลองโอ่งอ่าง) หรือ green link ออกแบบภูมิทัศน์ทางเดินเท้า มีรถไฟฟ้าใต้ดินคอยเชื่อมถึง 4 สถานี  การเชื่อมโยงไปยังพื้นที่สีเขียว สวนต่าง ๆ ในระแวก อย่างเส้นทางการเดินในร่มไม้ มีพื้นที่สีเขียวรองรับ ได้แก่ สวนสันติชัยปราการ, สวนสาธารณะป้อมมหากาฬ, สวนรมมณีนาถ และ สวนลอยฟ้าเจ้าพระยาด้วย 

“ในอนาคตอีก 5 ปี พื้นที่นี้จะมีคนเดินทางเข้ามาเยอะมากขึ้น แต่ผมคิดว่าถึงวันนั้นแล้วค่อยมาคุยเรื่องนี้อาจจะไม่ทันต้องเริ่มเตรียมพร้อมตั้งแต่ตอนนี้ ออกแบบภูมิทัศน์ทางเดินเท้า ดึงจุดเด่นของชุมชน เชื่อมโยงสถานที่สำคัญ จูงใจให้คนเข้ามาเที่ยวมากขึ้น…”

กทม.ชูโมเดลความร่วมมือ ‘คลองโอ่งอ่าง’ ยกระดับทุกมิติพัฒนาเมือง

ขณะที่ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในแง่มิติของชุมชน คลองโอ่งอ่างเป็นตะเข็บของเขตพระนคร และเขตสัมพันธวงศ์ เชื่อมโยงการค้าขายชาวจีน ชาวอินเดีย น่าจะมาคุยกันว่าอัตลักษณ์ของชุมชนจะเป็นอย่างไร จะเอาอย่างไร ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ และดำรงไว้ซึ่งประวัติศาสตร์พื้นที่ดั้งเดิม ทั้งผู้อยู่อาศัย เจ้าของตึกกรรมสิทธิ์ที่ดิน นักท่องเที่ยว มีส่วนร่วมสร้างคลองโอ่งอ่างไปด้วยกัน

มิติเชื่อมโยงกับย่าน คลองโอ่งอ่างเชื่อมต่อคูเมืองเดิม คลองผดุงกรุงเกษม คลองหลอด สำนักการโยธามีแผนการก่อสร้างพัฒนา เชื่อมโยงพื้นที่ไปด้วยกัน หากสำเร็จความเจริญเหล่านี้ จะถูกกระจายผ่านเส้นทางเชื่อมต่อด้วย นอกจากนี้ พื้นที่ยังเชื่อมโยงกับสำเพ็ง ตลาดน้อย ปากคลองตลาด เยาวราช ซึ่งสามารถทำให้พื้นที่ถูกพัฒนาต่อเนื่องกันได้

ส่วนมิติระดับเมือง การพัฒนาทุกย่านต้องฟื้นฟูสำเร็จ ทั้งความร่วมมือของชุมชน และการดูแลเชิงกายภาพของเมือง ซึ่งคลองโอ่งอ่างเป็นตัวอย่างต้นแบบของพื้นที่อื่นด้วย เป็นโมเดลของความร่วมมือและเป็นที่หมายของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกได้

“เรามีความฝันว่าเดือนกุมภาพันธ์ เราจะกลับมาอีกครั้ง และภาคส่วนต่าง ๆ จะช่วยกันโปรโมท ทางชุมชนก็มีความพร้อมมาก คิดว่ามีสองส่วนที่จะต้องจัดการ ต้องดูว่าผู้ค้าที่ไม่ได้มาขายแล้วจะทำอย่างไร จะมีผู้ค้าใหม่หรือไม่ แบ่งกลุ่มพื้นที่เพื่อคิดเรื่องการบริหารจัดการ ส่วนเรื่องกิจกรรมจะให้ไปคิดกันดูว่า แต่ละเดือนจะเป็นอย่างไร จีน ไทย อินเดีย คิดรูปแบบจัดงานยาวทั้งปี และดูว่าแต่ละงานใครจะนำ โดยวันที่ 18 มกราคมนี้ เราจะมารวมกันอีกครั้ง เพื่อสร้างความชัดเจนมากขึ้นกว่านี้ วันนี้เป็นนิมิตรหมายที่ดี และหลังจากนี้จะต้องจัดกันตลอดเพื่อสร้างหัวใจของการมีส่วนร่วม”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active